
งานไม่ใหญ่แน่นะวิ ! ควันหลงจากมติรับทราบดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” เพราะ กสทช. ไม่มีอำนาจยับยั้งเป็นเหตุ โลกโซเชียลแห่ขุดภูมิหลัง ”ต่อพงศ์ เสลานนท์” 1 ใน 2 กสทช. ที่ร่วมลงมติเห็นชอบที่แท้อดีต “กุนซือใหญ่เครือ ซีพี.” เป็น 1 ใน 7 คณะที่ปรึกษาความยั่งยืนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ก่อนกระโดดค้ำถ่อเป็น กสทช. ด้านสภาผู้บริโภค ชี้มติ กสทช. ผิดกฎหมาย ย้อนแย้งคำพิพากษา
ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง กับมติ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ของ 2 กสทช. ที่เห็นชอบดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ด้วยข้ออ้าง ไม่ถือว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ ปี 2549 ที่ กสทช. อาจสั่งห้ามการควบรวมธุรกิจได้ จึงทำได้เพียงการ “รับทราบ” การควบรวมธุรกิจ และกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อรองรับผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ท่านั้น
ที่แท้อดีตกุนซือรถไฟความเร็วสูงของ ซีพี.
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลได้ร่วมกันตรวจสอบภูมิหลังของ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็น 1 ใน 2 กสทช. ที่ร่วมลงมติเห็นชอบกับดีลควบรวมอื้อฉาวในครั้งนี้ และพบข้อมูลสุดอึ้งที่ชวนให้สงสัยว่าการลงมติของ กสทช. รายดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ กสทช. เนื่องจากนายต่อพงศ์นั้นเคยเป็นกุนซือใหญ่ของเครือ ซีพี. มาก่อน โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 7 ของ “คณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน” โครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จากบริษัทเอเซียเอราวัน จำกัดในเครือ ซีพี. ผู้รับสัมปทานโครงการดังกล่าวเมื่อปลายปี 2563

โดยในการแถลงข่าวเปิดตัว “คณะที่ปรึกษาความยั่งยืน” โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 63 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ ซีพี. และประธานกรรมการบริหารบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน (บริษัท เอเชียเอราวัน จำกัด ในปัจจุบัน) ระบุว่า ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (ขณะนั้น) 2. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง 3. ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4. ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. ผศ.ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6. นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี และ 7. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก่อนที่นายต่อพงศ์จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเวลาต่อมา
ชี้ผลประโยชน์ขัดแย้ง-Conflict of Interest
ด้วยเหตุนี้ การทำหน้าที่ กสทช. ของนายต่อพงศ์ ที่แม้จะอ้างว่า ได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งกุนซือความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ก่อนสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. แล้วก็ตาม แต่เมื่อต้องพิจารณาประเด็นการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ซึ่งเป็นธุรกิจหลักหนึ่งของกลุ่ม ซีพี. ที่ถือได้ว่า เป็นกิจการที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง Conflict of Interest ต่อการทำหน้าที่ของตนเอง เพราะถือเป็นกิจการที่มีส่วนได้-ส่วนเสีย โดยสำนึกในการทำหน้าที่แล้ว กสทช. ที่รู้ว่าเป็นประเด็นมีเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ขัดแย้งเช่นนี้ ก็ต้องงดออกเสียง หรือหลีกเลี่ยงการร่วมลงมติตั้งแต่แรก
แต่นายต่อพงศ์ กลับไม่นำพาต่อจริยธรรมข้อนี้ ยังคงดึงดันร่วมลงมติและยังยืนยันว่า การควบรวมธุรกิจทรูและดีแทคไม่ถือเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน จึงไม้เข้าข่ายตามประกาศ กทช.ฉบับปี 2549 ทำให้ กสทช. ไม่สามารถจะเข้าไปกำกับดูแล หรือสั่งระงับการควบรวมธุรกิจได้ ทำได้เพียงการรับทราบมติควบรวมธุรกิจ และกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะผู้มีอำนาจเหนือตลาดเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะเท่านั้น จนทำให้สังคมพากันตั้งข้อกังขาว่า เป็นการให้ความเห็นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง มี Conflict of Interest ชัดเจน จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชนประกาศจะยื่นฟ้อง กสทชต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนมติอัปยศดังกล่าว รวมทั้งจ่อดำเนินคดีอาญาต่อ กสทช. ด้วย
สภาผู้บริโภคชี้มติควบรวมผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และอดีตกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ส่งหนังสือด่วนถึง กสทช. เพื่อชี้ให้เห็นว่า มติ กสทช. ที่รับทราบรายงานการควบรวมที่ออกไปก่อนหน้านั้น อาจเป็นมติที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมของ กสทช. และมติดังกล่าวยังขัดกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ประกอบถ้อยคำให้การที่ กสทช. ให้ไว้ในการพิจารณาคดีที่ศาลปกครองว่า กสทช. เป็น “ผู้มีอำนาจอนุญาต หรือไม่อนุญาต” ในการพิจารณาการควบรวมบริษัทก่อนหน้านี้ หาก กสทช. ไม่รับฟังการทักท้วงครั้งนี้ อาจถือว่าเป็นเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย

ทั้งนี้ การที่ประธาน กสทช. อ้างว่า การพิจารณาลงมติว่า การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ พ.ศ.2549 หรือไม่นั้น ซึ่งผลการลงคะแนนที่ออกมา 2:2:1 แล้วสรุปว่า เป็นคะแนนเสียงที่เท่ากันแล้ว ให้ประธานออกเสียงชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบประโยชน์สาธารณะ จึงต้องใช้มติพิเศษที่ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด
และกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน มีมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ผลการลงมติที่ออกมา จึงต้องถือว่า คะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งมาตั้งแต่แรก ตามข้อบังคับที่ 41(2) คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ดังนั้น การที่ประธาน กสทช. มีการออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาด อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555”
ขัดแย้งคำพิพากษาศาลปกครอง
นอกจากนี้ การที่ กสทช. ไม่ถือว่าการควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ก่อนลงมติว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณา ทำได้เพียงการ “รับทราบ” มติควบรวมธุรกิจนั้น คำวินิจฉัยของศาลปกครองเรื่องอำนาจของ กสทช. ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต มติของ กสทช. อาจทำให้ กสทช. ต้องเจอปัญหาข้อกฎหมาย
เนื่องจากการลงมติรับทราบดังกล่าวนี้อาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยอ้างถึงคดีหมายเลขดำที่ 775/2565 ของศาลปกครองกลาง กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้มีการยอมรับต่อศาลว่า สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามมิให้มีการรวมธุรกิจ โดยมีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ให้มีการถือครองธุรกิจในประเภทเดียวกัน รวมถึงมีคำสั่งให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ อันอาจเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันได้ และศาลปกครองกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งรับรองอำนาจดังกล่าวของ กสทช. ด้วย
ก้าวไกลพร้อมเป็นหัวหอกฟ้องเอาผิด

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ทางพรรคก้าวไกลและเครือข่ายผู้บริโภคจะเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนมติอัปยศของ กสทช.ในครั้งนี้ รวมทั้งจะขอให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามการควบรวมจนกว่าจะมีคำพิพากษา โดยมี 4 ประเด็นหลักที่จะยื่นให้ศาลพิจารณา นั่นคือ 1. มติ กสทช.ที่อ้างว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณา ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ยืนยันว่า กสทช.นั้น มีอำนาจเต็มที่ในการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ และมีอำนาจตาม พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พ.ร.บ.กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งศาลปกครองเองก็เคยมีคำพิพากษาและยืนยันไปก่อนหน้านี้แล้วว่า กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แม้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายที่จะพิจารณา
2. กระบวนการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการลงมติในการประชุมนัดพิเศษที่ต้องพิจารณาประเด็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นนี้ จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมาก 3 ใน 5 เสียง ไม่ใช่การอ้างระเบียบการประชุมปกติแล้วอาศัย กสทช.เพียง 2 คนแต่ให้ประธาน กสทช. ในฐานะประธานที่ประชุมลงมติซ้ำเป็น 3 เสียง แล้วอ้างว่า เป็นมติเสียงข้างมาก ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง จึงถือเป็นการลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. กรณีที่ปรึกษาอิสระ คือ บล.ฟินันซ่า จำกัด ซึ่ง กสทช. ดำเนินการว่าจ้างให้เข้ามาศึกษาและจัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาดีลควบรวม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของที่ปรึกษาอิสระรายนี้ถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มทรูที่ยื่นขอควบรวมธุรกิจ จึงเป็นการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระที่ขาดคุณสมบัติยังผลให้รายงานที่ กสทช. ได้รับนั้นขาดความสมบูรณ์ และมีความโน้มเอียงมาตั้งแต่ต้น และ 4. ภูมิหลังของนายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. ที่ร่วมลงมติเห็นชอบในการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ที่เคยเป็น 1 ใน 7 คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของบริษัท เอซียเอราวัน จำกัด ในเครือ ซีพี. ถือเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียและมีผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างชัดเจน