
"ทรู" มาตามนัดร่อนหนังสือค้าน "นพ.ประวิทย์" ร่วมถกปมถูกร้อง ด้านสภาผู้บริโภคออกโรงหนุน "พิรงรอง-หมอลี่" ทำหน้าที่ต่อให้ถึงที่สุุด ชี้หากตัวแทนผู้บริโภคถูกกีดกันการทำหน้าที่กระทบประโยชน์สาธารณะ เปิดทางกลุ่มทุนชุบมือเปิบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ซึ่งมี ศ.พิเศษ จรัล ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานได้ประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการทำหน้าของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ว่าจะสามารถเข้าร่วมพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูคอร์ปอเรชั่นได้หรือไม่ หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาประพฤติมิชอบตามที่บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการกล่อง "ทรูไอดี" ยื่นฟ้องกล่าวหาว่า กสทช.พิรงรอง กลั่นแกล้งให้บริษัทได้รับความเสียหาย จากการสั่งการให้สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ 127 รายให้ปฏิบัติตามกฎเหล็ก "มัสต์แครี่" อย่างเข้มงวด และระบุถึงบริการของทรูไอดีว่า ยังไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.

ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ด กสทช. ช่วงที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีวาระเกี่ยวกับบริษัทในเครือทรูให้ที่ประชุมพิจารณา ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. มักจะทักท้วงว่า กสทช.พิรงรอง ไม่ควรร่วมประชุมและพิจารณาเพราะเป็นคู่กรณี แม้บริษัททรูฯ จะไม่ได้ทำหนังสือคัดค้านมาโดยตรงก็ตาม ที่ประชุม กสทช.จึงมีมติให้นำประเด็นดังกล่าวหารือในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช.อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน
แม้ว่าก่อนหน้านี้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายจะเห็นพ้องว่า บริษัททรูจะคัดค้านการทำหน้าที่ของ กสทช.พิรงรอง ได้ ต้องร้องคัดค้านเป็นรายกรณีไป และเห็นว่าบริษัทที่จะร้องคัดค้านได้ต้องเป็นคู่กรณี คือ บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป โดยตรงเท่านั้น บริษัทในเครือทรูคอร์ปอื่นๆ อย่างทรูมูฟ เอช และทรู คอร์ปอเรชั่น ไม่ถือเป็นคู่กรณี เพราะเป็นคนละนิติบุคคล แต่ กสทช.เสียงข้างน้อยเห็นว่า จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กล่าวคือ การจะพิจารณาว่า กสทช. พิรงรอง มีความไม่เป็นกลางอย่างร้ายแรงหรือไม่ ต้องให้ กสทช.พิรงรอง ชี้แจงตนเอง และออกจากห้องประชุม และให้กรรมการที่เหลือลงมติลับหากมีเสียง 2 ใน 3 เห็นว่าไม่มีสภาพดังกล่าว จึงจะสามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อได้ แต่หากเสียงไม่ถึงก็ไม่สามารถเข้าร่วมพิจารณาลงมติได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัททรูได้ยื่นหนังสือถึงประธานอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. เพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช. และเป็น 1 ในอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสมช.ด้วย โดยระบุว่ามีพฤติกรรมไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะการแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมกิจการระหว่าง "ทรู – ดีแทค" ก่อนหน้านี้ แต่ที่ประชุมอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเห็นว่าการจะคัดค้านการทำหน้าที่ของอนุกก.ที่ปรึกษาด้านกฎหมายนั้น ผู้ที่ร้องคัดค้านต้องเป็นคู่กรณีโดยตรงเท่านั้น และเห็นว่า คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ทำหน้าที่เพียงกลั่นกรองและให้คำปรึกษาทางกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจทางปกครองใดๆ จึงไม่วรจะมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่
#สภาผู้บริโภคออกโรงปกป้อง "พิรงรอง-หมอลี่"
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้บริโภค ออกแถลงการณ์สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. และ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาเสียงของผู้บริโภคในการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. และเห็นว่า การคัดค้าน นพ.ประวิทย์ ไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากการควบรวมทรู–ดีแทคเกิดขึ้นแล้วในปี 2565 และทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับผลกำไรอย่างมาก ในขณะที่ผู้บริโภคกลับต้องเผชิญกับราคาและบริการที่ด้อยทางเลือก
สภาผู้บริโภค ยังแสดงความกังวลต่อแนวโน้มที่ กสทช. อาจลดเงื่อนไขมาตรการพิเศษที่เคยกำหนดไว้ภายหลังการควบรวม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค หากไม่มีเสียงที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในการประชุม ทั้งนี้การกีดกัน นพ.ประวิทย์ จากที่ประชุมเป็นการลดทอนเสียงด้านคุ้มครองผู้บริโภค
ขณะเดียวกันการกีดกัน กสทช. พิรงรองเท่ากับตัดขาดเสียงในกระบวนการพิจารณาวาระสำคัญ พร้อมระบุว่า ทั้งสองบุคคลมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และการทำหน้าที่ของทั้งสองเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 60
