
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้โครงการยังสงบนิ่งไม่ไหวติง ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่คืบเดียว ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
.....
วันก่อนเหลือบไปเห็น "แม่ลูกจันทร์" พี่ใหญ่ชายคาสื่อหัวเขียว ออกหน้าเป็นตัวแทนหมู่บ้านสะท้อนความรู้สึกของประชาชนคนไทยที่มีต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 1 ในโครงการ Flagship ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในเขตเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหวังจะเป็นมหานครอุตสาหกรรมไฮเทคใหญ่ที่สุดของประเทศ
แต่ไม่รู้หน่วยงานรับผิดชอบและรัฐบาลไปทำกันอีท่าไหน ผ่านมาวันนี้กว่า 5 ปีไปแล้ว นับตั้งแต่กลุ่ม ซีพี. ในนาม "บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด" ผู้ชนะประมูลสัมปทานโครงการนี้ มีการเซ็นสัญญากับรัฐบาลอดีตนายกฯ ลุงตู่ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี และใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีเช่นกัน

แต่จนถึงขณะนี้โครงการยังสงบนิ่งไม่ไหวติง ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่คืบเดียว ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างน่าเสียดาย
ก่อนจะย้อนรอยไปถึงโครงการนี้ ซึ่งในช่วงต้นที่รัฐบาล "แพทองธาร ชินวัตร" เข้ามา ก็ประกาศจะผลักดันโครงการนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่หลังจากนั้น ข่าวคราวความคืบหน้าโครงการก็ค่อยๆ เงียบลงๆ ๆ จนถึงขั้น "เงียบฉี่" ไม่หือไม่อืออะไรเลยมาหลายเดือนแล้ว
พร้อมกับวิเคราะห์ถึงสาหตุสำคัญที่ทำให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เท้งเต้งมากว่า 5 ปี เป็นเพราะบริษัทเอเชีย เอรา วัน ของกลุ่มซีพี ขัดข้องทางเทคนิค ไม่พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุน

หากต้องการให้โครงการเดินหน้าต่อไป รัฐบาลต้องยอมแก้ไขสัญญาตามข้อเสนอของบริษัท คือ.. “รัฐต้องจ่ายเงินลงขันตั้งแต่ปีแรกเมื่อเริ่มก่อสร้าง ทั้งยังต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระค่าสิทธิ์บริหารรถไฟฟ้า "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" จากที่บริษัทต้องงวดเดียว 10,000 ล้านบาทเศษ มาเป็นแบ่งจ่าย 7 งวดในเวลา 10 ปี ซึ่งต่างจากสัญญาเดิมที่รัฐบาลจะจ่ายเงินลงขันในปีที่ 5 หลังเปิดบริการไปแล้ว”
ก่อนที่พี่ใหญ่ชายคาหัวเขียว จะกระชุ่นไปยัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ควรรีบชี้แจงประชาชนให้หายข้องใจ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ หรือจะจอดป้ายกลางทาง?

ถ้าจะเดินหน้าต่อไปจะเริ่มก่อสร้างเมื่อใดและจะเสร็จเมื่อใด? หรือหากเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะติดไฟแดงตรงไหน ก็ควรรีบชี้แจงให้แจ่มแจ้งลงไป
เพราะความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนในอีอีซี และโดยเฉพาะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ถนนทุกสายยัง "หาวเรอ" ต้องรอลุ้นกันอีกเฮือกใหญ่ว่า รัฐบาลจะเอายังไงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ว่านี้ จะลุยไฟยอมแก้ไขสัญญาสัมปทานตามที่บริษัทยื่นเงื่อนไขมา แล้วไปวัดดวงกันในอนาคตว่าจะจบลงด้วย "ค่าโง่" นับแสนล้านตามมาหรือไม่ หรือจะเลิกสัญญา-ล้างไพ่เปิดประมูลใหม่ให้สิ้นเรื่องราวนั้น
ในส่วนของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินตะวันออก มูลค่า 290,000 ล้าน ที่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ที่ประกอบด้วยพันธมิตรสายการบิน Bangkok Airways , บริษัท บีทีเอส โฮลดิ้ง ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ และบริษัท ซิโนไทยเอ็นจิเนียร์ริ่ง จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศจะลงนามในสัญญาเดินหน้าโครงการในวันที่ 18 มิถุนายน 2568 นี้

โดยไม่รอคำตอบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่เป็นเงื่อนไขหลักหนึ่งในการลงทุนโครงการนี้ จะเริ่มลงมือก่อสร้างหรือไม่ แม้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นปัจจัยสำคัญของโครงการ เพราะหากปราศจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อการเดินทาง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาะเมืองการบินตะวันออกก็เป็นอันจบเห่ล้มทั้งยืนได้ทันที
แต่เมื่อรัฐบาลและบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานยังคงไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนใดๆ ในการดำเนินโครงการได้ ทาง UTA และกองทัพเรือ จึงตัดสินใจที่จะเดินหน้าโครงการโดยไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่อย่างใด
ตาม "ไทมไลน์" ที่บริษัทและกองทัพเรือเจ้าของพื้นที่ก่อสร้างและเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกพื้นที่กว่า 6,500 ไร่นั้น กำหนดเริ่มก่อสร้างเฟส 1 ก่อน ประกอบด้วย

- Airport Terminal มีอาคารผู้โดยสารกว่า 157,000 ตร.ม. รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 15.9 ล้านคนต่อปี มี 2 ทางวิ่ง ยาว 3,500 ม.รับเครื่องบินได้ทุกขนาด มี 60 หลุมจอด
- Air Cargo & Logistics ศูนย์รับขนส่งและกระจายสินค้ากว่าล้านตันต่อปี
-Airport City ประกอบด้วยศูนย์การค้าระดับโลก, MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub, สนามแข่งฟอร์มูลาวัน และ Entertainment Complex

ทั้งนี้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกนั้นแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 เฟส มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ของบริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2572
โดยที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่าบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานจะยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขสัญญาเพื่อปรับลดขนาดโครงการ หรืออ้างเหตุขอแก้ไขสัญญาอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 หรือเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจ