
สัญญาณทรูล่ม ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อย แต่คือสัญญาณเตือนสำคัญที่บอกเราว่า ไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงหนักมากจากระบบโทรคมนาคมที่เหลือผู้ให้บริการน้อยราย
เหตุการณ์นี้ไม่ได้กระทบแค่ผู้บริโภคทั่วไป แต่ยังรวมถึงบริการสำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น การติดต่อสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน บริการสาธารณสุข การเรียนออนไลน์ ธุรกิจออนไลน์ และบริการต่าง ๆ ที่ต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต แล้วถ้าหากระบบล่มพร้อมกันหมด เราจะทำอย่างไร?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้บริโภคชี้ไทยเหลือแค่ 2 ค่ายใหญ่ สุ่มเสี่ยงหากล่มพร้อมกัน เร่ง กสทช. ออกมาตรการเยียวยาอัตโนมัติ – ทบทวนโครงสร้างตลาดโทรคมนาคม
“ทรูล่ม” สะท้อนจุดเสี่ยงความมั่นคงไซเบอร์
ทรูล่มทั่วประเทศ กระทบผู้ใช้จำนวนมาก สภาผู้บริโภคชี้ไทยเหลือแค่ 2 ค่ายใหญ่ สุ่มเสี่ยงหากทั้งพร้อมกัน เร่ง กสทช. ออกมาตรการเยียวยาอัตโนมัติกรณีสัญญาณมือถือล่ม – ทบทวนโครงสร้างตลาดโทรคมนาคม

กรณีระบบอินเทอร์เน็ตของทรูล่มทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้ใช้งานจำนวนมากไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือใช้งานบริการต่าง ๆ ได้ ทั้งมือถือ อินเทอร์เน็ตบ้าน และแอปพลิเคชันที่ต้องอาศัยการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายทรู ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อทางธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศ การนัดหมาย การติดต่อในภาวะฉุกเฉิน การโอนเงิน การเรียนออนไลน์ การทำงานทางไกล และระบบจองบริการต่าง ๆ
จุฑา สังขชาติ อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์ทรูล่มส่งผลกระทบในวงกว้างเนื่องจากทรูมีผู้ใช้บริการมากกว่า 62.93 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 57.79% ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าความเสียหายของประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่ใช้บริการทรูนั้น อาจประเมินมูลค่าไม่ได้ โดยเมื่อสืบค้นข้อมูลเหตุการณ์อินเทอร์เน็ตล่มในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้หลายครั้ง เช่น 30 พฤษภาคม 2567 อินเทอร์เน็ตทรูล่มนานกว่า 5 ชั่วโมง 27 เมษายน 2568 อินเทอร์เน็ตบ้าน AIS Fibre ล่มนานหลายชั่วโมง 10 พฤษภาคม 2567 สัญญาณมือถือของ AIS ขัดข้องในหลายพื้นที่ เป็นต้น

“เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง บางครั้งก็ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย ผู้บริโภคก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันไม่ควรเป็นภาระของประชาชนที่จะต้องตามทวงสิทธิของตัวเอง” จุฑา กล่าว และย้ำว่า ความถี่ของเหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมหลักเหลือเพียง 2 ราย กำลังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ สิทธิของผู้บริโภค และระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยเฉพาะภายหลังการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
เป็นที่ประจักษ์จากเหตุการณ์นี้ว่า ความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศกำลังสั่นคลอน ในภาวะผูกขาดเมื่อหนึ่งในสองผู้ให้บริการมีปัญหาการส่งสัญญาณ ในขณะที่มีกระแสข่าวค่ายมือถือ AIS เสนอซื้อลูกค้าของ NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐที่มีสัดส่วนในตลาดโทรคมนาคมเพียง 1.26% (ประมาณ 1.4 ล้านเลขหมาย) อาจเป็นเหตุให้ NT ถอยออกไปจากการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม ซึ่งทำให้ภาครัฐไม่มีส่วนแบ่งในคลื่นสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตที่อยู่ในมือเอกชนเพียงแค่สองราย จนอาจกลายเป็นผลกระทบด้านลบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ
ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ายังผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยังเห็น NT เป็นทางเลือกที่ 3 และต้องการยืนหยัดใช้บริการของ NT จึงเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุน NT ให้ดำรงอยู่ในตลาดโทรคมนาคม และพัฒนาให้เป็นคู่แข่งที่สามในตลาด ที่จะสามารถเป็นกลไกถ่วงดุลและให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภค

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยื่นนายกฯ ทบทวน แผนประมูลคลื่นความถี่ ห่วงลดการแข่งขัน
หยุด กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ ก่อนรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา สเปนเผชิญวิกฤตโทรคมนาคมครั้งใหญ่จากการล่มของเครือข่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย ได้แก่ Movistar, Orange, Vodafone, O2 และ Digimobil ส่งผลกระทบต่อระบบโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และบริการฉุกเฉินทั่วประเทศ สะท้อนว่าขนาดประเทศที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายราย ยังสามารถเผชิญผลกระทบรุนแรงจากการล่มของระบบได้ ดังนั้น ประเทศไทยที่มีผู้ให้บริการรายหลักเพียงสองราย จึงมีความเสี่ยงสูงมากหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นกับผู้ให้บริการทั้งสองรายพร้อมกัน
“ทรูถือเป็นเครือข่ายหลักที่มีระบบเชื่อมโยงกับธุรกิจและบริการออนไลน์จำนวนมาก สัญญาณล่มครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้บริโภค ในฐานะบุคคลทั่วไปที่ไม่สามารถใช้บริการพื้นฐานได้ และในฐานะผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ หลายคนบ่นว่าสั่งข้าวไม่ได้ ติดต่อใครก็ไม่ได้ ระบบเรียนออนไลน์สะดุด และไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ จากทรูหรือ กสทช. ว่าเกิดอะไรขึ้น กว่าจะรู้ว่ามีปัญหาอะไร ก็ผ่านไปนานมากแล้ว” อนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค ระบุ

อนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาผู้บริโภค เรียกร้องให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างโปร่งใสและออกมาตรการชดเชยแบบอัตโนมัติให้ผู้บริโภคทุกคนที่ได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องร้องเรียนเป็นรายบุคคล เช่น ลดค่าบริการรายเดือน ขยายเวลาใช้งาน หรือเพิ่มสิทธิใช้งานพิเศษตามระยะเวลาที่ใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการส่งเสริมระบบอินเทอร์เน็ตกลางของภาครัฐ เพื่อใช้เป็นเครือข่ายสำรองในกรณีฉุกเฉิน ลดการพึ่งพาโครงข่ายของเอกชนเพียงไม่กี่รายที่อาจมีปัญหาได้ในเวลาเดียวกัน
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังเสนอให้การประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ มีการกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับการชดเชยและคุ้มครองผู้บริโภค เป็นข้อผูกพันของผู้ได้รับใบอนุญาตด้วย เพื่อให้การถือครองคลื่น ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศ ไม่กลายเป็นเพียงสิทธิในการทำกำไรของเอกชนโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเปิดให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้สามารถร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภค ที่เบอร์ 1502 หรือ เว็บไซต์สภาผู้บริโภค หรือร้องเรียนผ่านหน่วยงานประจำจังหวัดทั้ง 20 แห่งของสภาผู้บริโภค ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคเพื่อรวบรวมข้อมูลและดำเนินการในเชิงนโยบายหรือกฎหมาย หากไม่มีการดำเนินการเยียวยาอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการ