
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.64 ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนคำสั่ง กระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค.59 ที่เรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงินกว่า 3.57 หมื่นล้านบาท
ศาลปกครองกลางให้เหตุผลว่า ยังรับฟังไม่ได้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีกระทำโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบาย ลำพังนายกฯ คนเดียวไม่มีอำนาจยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวได้ นายกฯ มีอำนาจหน้าที่เพียงกำกับดูแลนโยบายโดยทั่วไประดับมหภาคของโครงการรับจำนำข้าว มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
เมื่อมีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้น ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการใช้มาตรการทางอาญากับผู้ทุจริตหรือผู้กระทำผิด ควบคู่กับการใช้มาตรการทางปกครองตัดสิทธิผู้สวมสิทธิเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว จึงถือได้ว่านายกฯ มิได้เพิกเฉยละเลย แต่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เพื่อป้องกันยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวแล้ว
วันที่ 22 พ.ค.68 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเงินกว่า 3.57 หมื่นล้านบาท หรือไม่?

“เสือออนไลน์” นั่งพิมพ์เรื่องนี้ก่อนวันที่ 22 พ.ค.68 จึงไม่รู้ว่าผลจะออกอย่างไรกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เท่าที่ติดตามโครงการรับจำนำข้าวมาโดยตลอด พอจะทราบว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ใช้เงินไม่มากไปกว่า “โครงการประกันราคา”
หลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ยังมีข้าวสารของโครงการรับจำนำ ถูกเก็บไว้ในคลัง-โกดังทั่วประเทศ จำนวน 18.5 ล้านตัน
แต่จุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรมแปลกๆ เมื่อมีคำพูดที่หลุดออกมาจากปากหัวหน้าคณะรัฐประหาร ในฐานะประธานที่ประชุม กขช. ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อปี 58 ว่าไม่ต้องพิจารณาเรื่องความยุติธรรม (มีบันทึกการประชุมไว้ด้วย)
หลังจากนั้นข้าวสาร 18.5 ล้านตัน ก็ถูกตรวจสอบคุณภาพโดยทหารเกณฑ์ ทำหน้าที่เป็น “เซอร์เวเยอร์” โดยมีการจัดเกรดข้าวในคลัง เป็นข้าวเกรด A-B-C (ไม่เคยมียุคสมัยไหนทำมาก่อน) จากข้าวดีๆ จึงกลายเป็นข้าวเสื่อมสภาพจำนวนมาก เพื่อขายเป็นอาหารสัตว์ และเผาเป็นพลังงาน ราคา กก.ละไม่กี่บาท

ข้าวสาร 18.5 ล้านตัน ถ้าไม่มีอคติและเปิดประมูลขายกันอย่างตรงไปตรงมา ควรจะขายได้เงินไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท (เปรียบเทียบกับข้าวสารอายุ 10 ปี ล็อตสุดท้ายในคลัง จ.สุรินทร์ เปิดประมูลขายเมื่อ มิ.ย.67 ยังแข่งกันเสนอราคา 15-19 บาท/กก.) แล้วนำเงินจากการขายข้าวมาหักลบกับงบประมาณที่ใช้ไป จะคิดเรื่องขาดทุน-กำไรไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทำกันทุกรัฐบาลอยู่แล้ว
แต่การขายถูกๆ เป็นข้าวอาหารสัตว์-เผาทำพลังงาน ได้เงินกลับมาเท่าไหร่ มีใครทราบตัวเลขบ้าง? แล้วตัวเลข 3.57 หมื่นล้านบาท มาจากไหน? ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายคนเดียวด้วยยอดเงินสูงขนาดนี้ ทั้งที่มีข้าราชการ-เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรฯ-กระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายปฏิบัติอีกหลายร้อยคน ส่วนนายกฯ คือฝ่ายบริหารอยู่บนยอดสุดของนโยบาย แต่เมื่อโครงการมีปัญหา ฝ่ายปฏิบัติก็รับผิดชอบกันไปแล้วหลายคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี-อธิบดีในกระทรวงพาณิชย์

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 กลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้าฝากเก็บข้าวสารโครงการรับจำนำข้าว ปี 56/57 กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการไม่ถูกต้องจากการจัดเกรดข้าว การระบายข้าว ตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกลุ่มผู้ประกอบการคลังสินค้าฯจะขอซื้อข้าวในคลังที่ราคาแพงกว่า ก็ไม่ยอมขายให้เขา
หลังวันรัฐประหารยังมีข้าวสารอยู่ในโกดัง 18.5 ล้านตัน โดยปกติก่อนขนข้าวเข้าโกดังจะมีสายตรวจพิเศษ มาตรวจสอบคุณภาพข้าว-จำนวนข้าว ตรวจโกดังเรียบร้อย และปิดโกดัง โดยมีผู้ถือกุญแจโกดัง 3 คน คือ 1. หัวหน้าคลัง 2. เซอร์เวเยอร์ 3. นายอำเภอ (เกษตรอำเภอ) แต่ผู้มีอำนาจบอกว่าคุณภาพข้าวมีปัญหา จึงแจ้งดำเนินคดีทั้งเจ้าของโกดัง หัวหน้าคลัง และเซอร์เวเยอร์ ทั้งคดีอาญา-คดีแพ่ง เป็นเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาพวกเขาเหล่านี้ ส่วนคดีแพ่งก็รอดกันถึง 90% แล้ว (ข้อมูล เม.ย.67)

“คสช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 100 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และทหาร แล้วจัดอบรมแค่ 2 วัน กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวกันไปแล้ว เอาคณะกรรมการเหล่านี้มาตรวจข้าว เก็บตัวอย่างข้าวในโกดัง จากปกติคนตรวจข้าวคือเซอร์เวเยอร์ต้องมีใบรับรองจาก “อคส. - อตก.” แต่นี่เขาอบรมกันแค่ 2 วัน ส่งมาตรวจข้าวแล้ว คุณเอาพลทหารมาตรวจข้าวได้อย่างไร” ผู้ประกอบการคลังสินค้าฯ กล่าวไว้
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เกิดขึ้นในยุครัฐบาล ม.44 โดยเฉพาะคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย ก็เป็นแบบไม่ปกติในสมัยรัฐบาล คสช.
เสือออนไลน์