
“ชัชชาติ” เผยแนวคิดโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายคืนให้รัฐ-คมนาคมแก้ภาระขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาท เปิดทางให้รัฐสานต่อนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แต่ยังกั๊กสายสีทองและขอค่าลงทุนระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดคืน วงในเผยเนื้อแท้แค่อยากให้รัฐอุดหนุนผลขาดทุน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม. มีแนวคิดที่จะเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่า รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ควรมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) ที่จะทำให้การบริหารจัดการ การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ การบริหารจัดการต้นทุน จะมีผลต่อการลงทุนโครงการสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า - ตลิ่งชัน ที่จะขยายไปถึงถนนราชพฤกษ์ ซึ่งมีที่อาศัยจำนวนมากในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ หากโอนสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคม กทม. จะต้องคำนวณภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีด้วย เช่น ค่างานระบบ E&M ของส่วนต่อขยาย ที่ กทม. จ่ายไป รวมถึงสัมปทานหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน “ที่ผ่านมา กทม. ต้องนำงบประมาณไปใช้สำหรับเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างมาก ดังนั้นหากสามารถโอนให้กระทรวงคมนาคมดูแล จะทำให้สามารถนำงบประมาณ ไปใช้ในภารกิจอื่นของ กทม. มากขึ้น เช่น บริหารจัดการรถเมล์ที่เข้าถึงพื้นที่ กทม. ได้ทั่วถึงกว่าเป็นต้น” นายชัชชาติ กล่าว
#รับ กทม. แบกหนี้เดินรถเองไม่ไหว
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การที่ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว จะมีผลดีต่อประชาชนในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นหนึ่งเดียว ส่วน กทม. เอง ปัจจุบันต้องแบกภาระต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ที่มีผลขาดทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี เนื่องจากมีต้นทุนการเดินรถอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท/ปี แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 15 บาทตลอดสาย ทำให้มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เท่านั้น จึงต้องของบประมาณมาอุดหนุนส่วนที่ขาดทุนมาโดยตลอด
ดังนั้น หากมีการคืนเฉพาะส่วนต่อขยายไปให้รัฐบาล จะทำให้ กทม. มีเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท/ปี ไปทำอย่างภารกิจอื่นๆ ของ กทม. ได้ นอกจากนี้ กทม.มีแนวคิดที่จะขอแก้ระเบียบกฎหมายในการของนำกิจการรถเมล์มาดูแลแทน จะทำให้การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนใน กทม.ดีขึ้น

#หนุนนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
นายวิศณุ กล่าวว่า หากมีการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปให้รัฐบาลบริหารเอง น่าจะทำให้นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลเกิดได้ง่ายขึ้น แต่ในส่วนของเส้นทางหลัก ยังอยู่ในสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุลงในปี 2572 หรืออีก 4 ปีจากนี้ ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารโครงการหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (PPP) เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดซึ่งแนวทางในการยกโครงการคืนไปให้รัฐบาลดูแลต่อ ก็ถือเป็นแนวทางเลือกหนึ่งของการศึกษาด้วย
“การโอนสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคมนั้น ควรรอให้สัมปทานหลักสายสีเขียวหมดสัมปทานในปี 2572 ก่อนหรือไม่นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้สัมปทานหมด สามารถดำเนินการได้เลย ส่วนที่ กทม. ดำเนินการจ้างศึกษาความเป็นไปได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารโครงการก่อนสิ้นสุดสัมปทาน 5 ปี โดย กทม. อยู่ในช่วงพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น กทม. รับผิดชอบเดินรถเอง เปิดประมูลใหม่ หรือยกให้รัฐบาล คาดว่าจะสรุปได้ไม่เกิน 1 ปีหลังจากนี้”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กทม. ได้ว่าจ้างบริษัท เอเชียนเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด (AEC) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และ Pricewaterhouse Coopers (PwC) ดำเนินการศึกษาแนวทางการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลังสิ้นสุดสัมปทานปี 72 ระยะเวลาการศึกษา 270 วัน (1 พ.ค.68 - 25 ม.ค. 69) วงเงิน 27 ล้านบาท
#เนื้อแท้หวังให้รัฐอุดหนุนภาระขาดทุน
รายงานข่าวระบุว่า แนวคิดในการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาล เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยเฉพาหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ซึ่งมีต้นทุนการเดินรถอยู่ที่ 48 บาท/เที่ยว-คน แต่ปัจจุบันจัดเก็บค่าโดยสารจริงแค่ 15 บาท/เที่ยว-คน ขณะที่การปรับค่าโดยสารขึ้นค่อนข้างทำได้ยาก เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน หากไม่ปรับแล้วรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนผลขาดทุน ปีละ 6,000 ล้านบาท ก็เป็นอีกแนวทางที่ กทม. คาดหวัง
“หากไม่มีการช่วยอุดหนุนผลขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาท ของส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ก็อาจจะคืนสัมปทานทั้งหมดไปให้รัฐดูแลเอง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วย เพราะถ้ารัฐจะเอาโครงการรถไฟฟ้าไปทั้งหมด กทม. ก็ขอคิดค่าใช้จ่ายที่ กทม. เสียไปก่อนหน้านี้คืนกลับมา ทั้งค่าติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) งานก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งเป็นตัวเลขหลายหมื่นล้านบาทอยู่”

ปัจจุบัน กทม. มีภาระโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้แก่
1. ค่าจ้างเดินรถ ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 มีผลขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาท
2. ค่าจ้างติดตั้งงานระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (E&M) ส่วนต่อขยาย 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และพหลฯ-คูคต) จำนวน 23,000 ล้านบาท
3. ค่างานก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และ
4. ภาระหนี้จากการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ) จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 56,112 ล้านบาท ซึ่ง กทม. ยังไม่ได้จ่ายคืนเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยปีละ 500 ล้านบาท