
หวั่นประปาปทุม-รังสิต ยืนบนเส้นด้าย! แฉกลุ่มทุนการเมืองเดินหมากดองเค็มแนวทางดำเนินโครงการเอง หวังจับตัวประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นตัวประกัน บีบให้ต้องขยายสัมปทานรายเก่า แนะสหภาพ รสก.กปภ. ฟ้อง มท.-ฝ่ายบริหารยกชุดละเลยผลศึกษาแนวทางบริหารโครงการตาม กม.
แหล่งข่าวจากการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยความคืบหน้า โครงการจัดหาและให้บริการประปาในพื้นที่ปทุมธานี-รังสิต ที่ก่อนหน้านี้เกิดกรณีอื้อฉาวขึ้น เมื่อกระทรวงมหาดไทยและฝ่ายบริหาร กปภ. มีความพยายามจะขยายสัญญาสัมปทานกับ บริษัทประปาปทุมธานี ในเครือ TTW ออกไปอีก 20 ปี ทั้งที่บอร์ด กปภ.เดิม เคยมีนโยบายชัดเจนที่จะดำเนินโครงการเอง หลังสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในปี 2566

แฉละเลยผลศึกษาแนวทางดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการเอาไว้ชัดเจนในมาตรา 49 ที่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาร่วมลงทุนจะสิ้นสุดลง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน
ในกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด กำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้เสมือนเป็นโครงการร่วมลงทุนใหม่
แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กปภ. ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ได้เห็นชอบแนวทางในการดำเนินการผลิตและจ่ายน้ำประปาในเขตพื้นที่ปทุมธานี-รังสิตเอง ไปแล้ว ตามมติบอร์ด กปภ.เมื่อ 24 เม.ย.62 โดยมีการตั้งคณะทำงานศึกษาและเตรียมการดำเนินกิจการของภาครัฐไว้แล้ว แต่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยน รัฐมนตรีผู้กำกับดูแล กปภ. กลับมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวทางการดำเนินโครงการนี้ใหม่ โดยกระทรวงมหาดไทยให้ กปภ. พิจารณารับข้อเสนอแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานโครงการนี้ออกไปอีก 20 ปีแทน โดยอ้างสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และบริษัทเอกชนคู่สัญญายังปรับลดอัตราค่าน้ำลงหน่วยละ 2 บาทด้วย ท่ามกลางความงุนงงของฝ่ายบริหารและพนักงาน กปภ. ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ก่อนที่สหภาพ รสก.กปภ. จะลุกฮือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ และฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนมติบอร์ด กปภ. และกลับไปดำเนินการตามแนวทางที่บอร์ด กปภ. อนุมัติไว้แล้วก่อนหน้านี้

ดองเค็มแนวทางทำเอง-บีบขยายสัมปทาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เรื่องแดงขึ้นมา กระทรวงมหาดไทยและบอร์ด กปภ. ได้สั่งให้ฝ่ายบริหารระงับการดำเนินการต่างๆ เอาไว้ก่อน โดยอ้างรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐ ในขณะที่หลายภาคส่วนมองว่า เป็นการเดินเกมของฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังที่ต้องการดึงเรื่องนี้ออกไปจนกว่าจะเลยกำหนดเส้นตาย ที่ต้องพิจารณาว่ารัฐสมควรดำเนินโครงการเอง หรือเปิดประมูลสัมปทานใหม่ ซึ่งจะทำให้ กปภ. ไม่สามารถดำเนินการในแนวทางอื่นๆ ได้ นอกจากต้องพิจารณาขยายสัญญาสัมปทานให้แก่บริษัทเดิมเท่านั้น
“เป็นการวางแผนจับเอาประชาชนผู้ใช้น้ำเป็นตัวประกัน เพราะหาก กปภ. จะดำเนินการเอง ก็ต้องเตรียมการวางระบบ จัดหาบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1-2 ปี หรือหากจะเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการใหม่ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปีเช่นกัน แต่ระยะเวลาที่เหลืออยู่เพียง 1 ปีเศษ ทำให้ กปภ. ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องต่อสัญญาสัมปทานกับเอกชนรายเดิม หาไม่แล้วประชาชนผู้ใช้น้ำจะไม่มีน้ำประปาใช้”

เตือน มท.-กปภ. อาจเจอ ม.157 ยกชุด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา บอร์ด กปภ. และกระทรวงมหาดไทย ต้นสังกัด ไม่ได้ปฏิบัติตาม ม.49 ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯปี 2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานต้องจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการต่อเนื่องภายหลังจากสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดลง โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดอย่างน้อย 5 ปี
“แม้ที่ผ่านมาบอร์ด กปภ. จะมีมติให้ดำเนินโครงการเอง แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดทำแนวทางในการดำเนินโครงการต่อเนื่องที่ว่านี้ ซึ่งจะต้องเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานดำเนินการเองและให้สัมปทานเอกชนร่วมลงทุนแบบเดิม อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายบริหาร กปภ. และกระทรวงมหาดไทยต้นสังกัดละเลยในเรื่องนี้ แต่มุ่งที่จะประเคนโครงการไปให้ผู้รับสัมปทานเดิมเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องที่สหภาพรัฐวิสาหกิจ กปภ. และเครือข่ายภาคประชาชน ต้องลงมาตรวจสอบเรื่องนี้และดำเนินคดีกับฝ่ายบริหาร บอร์ดและ รมต.มหาดไทย ผู้กำกับดูแลโดยตรง ที่ละเลยการดำเนินการในเรื่องนี้ จนทำให้องค์กรเสียประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อประโยน์สาธารณะ”

เปิด Time Line สัมปทานผลิตและจำหน่ายประปา กปภ.-ประปาทุมธานี
31 ส.ค.38 กปภ.ทำสัญญาให้สิทธิ บ.ประปาทุมธานี ในเครือ TTW ดำเนินการผลิตและจำหน่ายประปาในเขตปทุมธานี-รังสิต รูปแบบสัมปทาน “สร้าง- บริหาร- โอน” (BOOT) ปริมาณไม่เกิน 288,000 ลบ.เมตร/วัน สัญญาสัมปทาน 25 ปี สิ้นสุด 14 ต.ค.2566
3 ก.ย.58 มีการแก้ไขสัญญาปรับเพิ่มปริมาณจัดหาน้ำจากเดิม 288,000 ลบ.เมตร/วัน เป็นไม่น้อยกว่า 358,000 ลบ.เมตร/วัน ปัจจุบันขยายกำลังการผลิตและจำหน่าย 400,000 ลบ.เมตร/วัน ราคาเฉลี่ย 12.50 บาท/ลบ.เมตร
24 เม.ย.62 บอร์ด กปภ. ที่มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด มท. เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการดำเนินกิจการประปาเองภายหลังสิ้นสุดสัญญาปี 2566 พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาและเตรียมการดำเนินกิจการของภาครัฐ
19 ก.ย.62 ปธ.กปภ.มีข้อสังการไปยังผู้ว่า กปภ. ยืนยันว่า รมต.มหาดไทย ได้เห็นชอบแนวทางให้ กปภ. ดำเนินกิจการประปาเอง ภายหลังสิ้นสุดสัญญา เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางการเงินมากที่สุด
23 มี.ค.64 ครม.เห็นชอบการปรับปรุงบอร์ด กปภ. มี นายธนาคม จงจิระ อธิบดรีกรมการปกครอง เป็นประธาน
มิ.ย.64 TTW ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยขอขยายสัญญาผลิตและจำหน่ายประปาปทุม-รังสิต จากที่สิ้นสุดปี 2566 ออกไปอีก 20 ปี โดยบริษัทจะปรับลดอัตราค่าน้ำลงเป็นหน่วยละ 2 บาท พร้อมขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 แสน ลบ.เมตร/วัน
28 ก.ย.64 บอร์ด กปภ.เห็นชอบแนวทางการขยายสัญญาสัมปทานประปา 20 ปี และมีมติให้คณะทำงานเตรียมการศึกษาการดำเนินโครงการรัฐ ทบทวนรายงานศึกษา และมติ กปภ.เดิม
30 ก.ย.64 มีการเผยแพร่เอกสารร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายประปาออกไปอีก 20 ปี ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงาน กปภ. และบอร์ด กปภ.แล้ว โดยกำหนดอัตราค่ารับซื้อน้ำขั้นต่ำไว้ที่ 10.15 บาท/ลบ.เมตร และปรับเพิ่มขึ้นทุกวันที่ 1 ม.ค.ของปี ตามอัตราเงินเฟ้อ
7 ต.ค.64 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาภูมิภาค (สร.กปภ.) ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และ สตง.
7 ต.ค.64 สร.กปภ. ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
12 ต.ค.64 สร.กปภ. ฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ กปภ.ยุติกระบวนการแก้ไขสัญญาสัมปทาน และกลับไปดำเนินการตามมติ กปภ.เมื่อ 24 เม.ย.62 พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
20 ต.ค.64 สร.กปภ. ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนฯ