วงเสวนา สรุปบทเรียนควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน แฉภาคธุรกิจฉวยโอกาสโฆษณาเหล้าเบียร์โจ๋งครึ่ม ทั้งที่ร่าง กม.แก้ไขยังอยู่ในมือวุฒิสภา ยังต้องปฏิบัติตาม กม.ควบคุมเครื่องดื่ม ปี 51 อยู่

เมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 68 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และเครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดประชุมเสวนา เรื่อง “สรุปบทเรียนและก้าวต่อไปของกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกาสิโน” โดยมี นายจิระ ห้องสำเริง สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า แม้ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา โดยคาดว่าจะกลับเข้ามาพิจารณาในวาระ 2-3 ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งแนวโน้มอาจไม่มีการแก้ไขเนื้อหาไปจากร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ
เช่น กำหนดให้มีผู้แทนผู้ผลิต นำเข้า ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากมีวาระพิจารณาที่มีส่วนได้เสียต้องออกจากที่ประชุม ซึ่งจุดนี้ในกฎหมายเดิมไม่มี

ส่วนคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด มีการเพิ่มผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชน และให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นรองประธานคณะกรรมการระดับจังหวัดด้วย นอกจากนี้ยังมีการผ่อนปรนให้ขายและดื่มได้ในสถานที่ราชการได้ กรณีจัดกิจกรรมพิเศษโดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งคราว มีการยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบันที่ 253 เรื่องกำหนดเวลาขายสองช่วง เวลา คือ 11.00-14.00 และ 17.00-24.00 น. แต่แม้จะยกเลิกประกาศฉบับนี้ไปแล้ว แต่ประกาศสำนักนายกฯ ที่กำหนดเวลาขายไว้สองช่วงเวลายังคงมีอยู่ "เรื่องนี้เป็นการเข้าใจผิดคิดว่ายกเลิกแล้ว แต่จริงๆ ยังมีกฎหมายควบคุมอยู่"
ส่วนการห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และคนเมา มีการตรวจบัตร ตรวจอาการคนเมา และเพิ่มความรับผิดของผู้ขายหากรู้ว่าเป็นเด็กหรือคนเมาแล้วยังขายให้จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย หรือทรัพย์สินผู้อื่น ผู้ขายต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย โดยเพิ่มโทษปรับทางแพ่งจากปรับ 20,000 เป็น 100,000 บาท

ส่วนการขายโดยเครื่องขายอัตโนมัตินั้น แม้จะไม่สามารถห้ามได้แต่ก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายห้ามด้วย เช่น ห้ามตั้งใกล้สถานศึกษา วัดวาอาราม มีเครื่องมือกลไกการตรวจอายุผู้ซื้อ ช่วงเวลาขาย สถานที่ตั้ง และดูอาการเมาของผู้ซื้อด้วย
ส่วนในเรื่องการโฆษณา แม้กรณีบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้หากไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่หากมีการถ่ายรูปคู่ผลิตภัณฑ์ถี่ๆ ในโอกาสต่างๆ อย่างจงใจก็ถือว่าเข้าข่าย ส่วนการโฆษณาทำได้แค่ให้ความรู้ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ใช่โฆษณาอะไรก็ได้

ส่วนเรื่องตราเสมือนที่เคยใช้กันเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย เช่น ผลิตน้ำดื่ม โซดา ออกมาโฆษณาแฝง มีการห้ามการโฆษณาหากจะโฆษณาต้องทำแบบแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น
"ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า มีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านเหล้าผับบาร์ ฉวยโอกาสช่วงที่ร่างกฎหมายใหม่ยังไม่ได้ออกประกาศใช้ เพราะมีกฎหมายลูก และประกาศที่เกี่ยวข้องถึง 38 ฉบับ แต่กลับมีการดอดทำการโฆษณาโจ๋งครึ่มราวกับกฎหมายใหม่ใช้บังคับแล้ว ซี่งเราได้รวบรวมข้อมูลเตรียมไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอย้ำว่ากฎหมายฉบับเดิมยังบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้จริงจัง"

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน (มรพ.) กล่าวความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรหรือกาสิโน ว่า สิ่งที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต้องเรียนรู้และตระหนักก็คือ กลุ่มคนที่ออกมาค้านจำนวนไม่น้อยเป็นพลังเงียบที่มีอยู่จริง ซึ่งมีประมาณ 8 กลุ่ม คือ
1. กลุ่ม คปท. ศปปส. กองทัพธรรม ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการขับไล่รัฐบาล
2. เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันและ 100 องค์กร ซึ่งมีมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะรวมอยู่ด้วย มีจุดยืนคือให้มีมาตรการและกลไกที่ชัดเจนในการควบคุม แก้ปัญหาปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม
3. กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ
4. คณาจารย์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย เช่น 99 นักวิชาการที่เคยคัดค้านเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว
5. องค์กรด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เช่น สภาการศึกษาคาทอลิคแห่งประเทศไทย สภาคริสตจักรในประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนใต้ กับเครือข่ายสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ
6. ภาคธุรกิจ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวบางจังหวัด
7. เครือข่ายแรงงาน สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย
และ 8.กลุ่มด้านนิติบัญญัติ อดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คน ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ที่สำคัญหลายพรรคการเมืองแสดงจุดยืนชัดเจน เช่น พรรคไทยสร้างไทย พลังประชารัฐ ประชาชาติ ที่น่าสนใจคือ วุฒิสภาจำนวนมากเริ่มมีท่าทีคัดค้านมากขึ้น

เลขาธิการ มรพ. กล่าวต่อว่า เหตุผลผู้ที่คัดค้านเพราะเห็นผลกระทบ 3 ด้าน คือ ด้านสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจสีเทา และความปลอดภัยในสังคม ผลกระทบทางสุขภาพจากการเสพติดพนัน ความเครียด ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
ด้านเศรษฐกิจเห็นว่า ไม่มีความไม่จำเป็นต้องมีกาสิโนเพราะประเทศไทยมีสิ่งดีๆ อยู่มากมาย ความไม่คุ้มค่าของการลงทุน เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงกว้างขึ้น
ด้านการเมือง เช่น ไม่ได้อยู่ในนโยบายที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ร่างกฎหมายขาดความรัดกุม ความไม่เชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามสื่อสารให้ข้อมูลมาตลอด ทั้งบทเรียนจากต่างประเทศ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีกาสิโน

อย่างไรก็ตาม พบว่าข้อมูลข่าวสารยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ประชาชนในต่างจังหวัดยังรับรู้เรื่องนี้มากนัก คนที่ออกมาคัดค้านก็เป็นคนรุ่นเก่าเป็นหลัก ส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ยังออกมาไม่มากนัก
"สิ่งที่จะทำต่อไปของภาคประชาชน คือ เรียกร้องให้ทำประชามติ ขณะนี้มีรายชื่อสนับสนุนแล้วประมาณ 55,000 รายชื่อ การเปิดพื้นที่สานเสวนารับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ การสานพลังทุกกลุ่มที่ออกมาคัดค้านในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาช่องทางในการฟ้องร้องตามกฎหมาย หากรัฐบาลดึงดันที่จะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ต่อ"


