
“ไอซ์-รักชนก ศรีนอก”.. ส.ส.พรรคประชาชน และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและติดตามการใช้งบประมาณ ได้โพสต์ข้อความผ่าน FB ว่า...
ต่อจาก ตึกร้าง 2600 ล้าน ของ กสทช. ดิฉันก็ได้รับข้อมูลมาอีกเป็นตั้ง คิดนานมากว่าจะเล่ายังไงดี เพราะเรื่องนี้มันเล่ายาก เลยขอเล่ามันดิบ ๆ ไปเลยละกัน
ความเละเทะใน กสทช. อำนาจและความอิสระที่กฎหมายให้ไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับกลายเป็นผู้มีตำแหน่งแห่งที่ในองค์กร ลุแก่อำนาจและจับมือฮั้วกันขายตัวรับใช้กลุ่มทุน บี้คนทำงานให้ตายคามือ โดยไม่เห็นหัวประชาชนไม่สนประโยชน์ของประเทศชาติ

ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า สำนักงาน กสทช. ไม่มี “เลขาธิการ” ตัวจริงมาเป็นเวลาจะ 5 ปีแล้ว ถ้าเทียบความสำคัญ อำนาจ และมูลค่า ให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ถ้าบริษัทหมื่นล้านไม่มี CEO ตัวจริงบริหารงาน จะมีปัญหาไหม ?
ตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ใหญ่ขนาดไหน ก็เอาเป็นว่าต้องดูแลบุคลากร 2000 คนในสำนักงาน ดูแลผลประโยชน์หลายหมื่นล้านของประเทศชาติ ภายใต้การกำกับของบอร์ด กสทช. แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยกลับไม่มีเลขาธิการ กสทช. ตัวจริง คนที่อยู่ในตำแหน่งเป็นเพียงรักษาการ แต่รักษาการกันอีท่าไหนไม่รู้ เป็นมาแล้ว 4 ปี 10 เดือน ระยะเวลายาวนานเกือบเท่าวาระของเลขาธิการ กสทช. ไปแล้ว เรื่องนี้มีปัญหามากในเชิงความรับผิดรับชอบ เพราะรักษาการมีอำนาจเต็มเทียบเท่าตัวจริง แต่กลับไม่ต้องรับผิดรับชอบใด ๆ อย่างเลขาธิการตัวจริง เช่น แจงบัญชีทรัพย์สินกับ ปปช. แต่ไม่ต้องเปิดเผยและบอร์ด กสทช. ไม่สามารถประเมินงานเพื่อปลดออกจากตำแหน่งได้ นี่คือช่องว่างทางกฏหมายที่คนพวกนี้เล็งเห็นและช่วงใช้

รักษาการเลขา กสทช. คนปัจจุบัน คือ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ซึ่งตำแหน่งของเค้าจริง ๆ คือ รองเลขา กสทช. ตามกฎหมายคนที่จะประเมินงานของรองเลขา คือ เลขาธิการ ดังนั้นเมื่อรองเลขานั่งทับตำแหน่งเลขาไว้ ก็เสมือนว่าเค้าเป็นผู้บังคับบัญชาตัวเองซึ่งมันมีความลักลั่น ตามกฎหมายหากเป็นเลขาธิการแล้วทำงานไม่ได้เรื่อง บอร์ดสามารถเสนอบรรจุวาระพิจารณาโดยใช้เสียง 2 ใน 3 ให้พ้นออกจากตำแหน่งได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ คนที่มีอำนาจตัดสินใจบรรจุวาระใดหรือไม่บรรจุวาระใดเข้าพิจารณาในบอร์ดคือประธาน กสทช. แต่เพียงผู้เดียว หากประธานไม่บรรจุวาระ ชาตินี้ยันชาติหน้าก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องนี้กันล่ะ
ความน่ากลัวของโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวนี้คือ สมมตินะคะสมมติ สมมติว่าประธาน กสทช. กับ เลขา กสทช. เป็นพวกเดียวกัน ฮั้วกัน รู้เห็นกันหมดทุกอย่าง องค์กรนี้ก็จะเสมือนว่ากลายเป็นสมบัติส่วนตัวของสองคนนั้นไปเลยโดยปริยาย เพราะประธานใหญ่สุดในบอร์ด และเลขาธิการมีอำนาจสูงสุดในสำนักงาน อันนี้แค่สมมติเฉย ๆ นะคะ
ประเด็นมันอยู่ตรงนี้
1) ก่อนหน้านี้เคยมีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. และประธาน กสทช. เสนอชื่อนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เพียงคนเดียว ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 วันที่ 17 มกราคม 2567 บอร์ด กสทช. มีมติไม่เห็นชอบ หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการการสรรหาคนใหม่หรือบรรจุวาระในการแต่งตั้งเลขาจริงๆ จังๆ อีกเลย ซึ่งมันแปลก เพราะรักษาการคนนี้ก็อยู่มานานแล้ว และเมื่อเสนอชื่อแล้วไม่ผ่าน ทำไมถึงไม่พยายามหาคนใหม่?

2) **ตามสัญญาจ้างแล้ว นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2568 แปลว่า ตามกฎหมายเมื่อถึงเวลา นายไตรรัตน์จะต้องออกจากตำแหน่ง ซึ่งการจะต่อสัญญาจ้างตำแหน่งรองเลขานั้น เลขาตัวจริงต้องเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น หรือ ถ้าจะจ้างใครเป็นพนักงานประจำ ก็ต้องให้เลขาตัวจริงเป็นผู้พิจารณาอีกเช่นกัน
3) ดิฉันได้ทราบข้อเท็จจริงจากเอกสารว่า มีรองเลขาท่านหนึ่งได้ออก “คำสั่งที่อาจจะมิชอบด้วยกฎหมาย” ให้นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำหรือก็คือจะเกษียณก็ตอนอายุ 60ปี เพื่อที่เมื่อถึงเวลาจะได้ไม่หลุดจากตำแหน่งรักษาการเลขา แต่รองเลขาท่านนั้นไม่ได้มีอำนาจที่จะแต่งตั้งได้ ต่อมาเหมือนรองเลขาท่านนั้นเพิ่งรู้สึกตัว จึงออกหนังสือ ด่วนที่สุด “ลับ” ที่ สทช. 2400/47 วันที่ 9 ตุลาคม 2567 เรื่อง ขอให้ติดตามยกเลิกคำสั่ง กสทช ที่ 1019/2567 (เลขหนังสือคำสั่งแต่งตั้งที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ถ้าไม่เชื่อก็เอาหนังสือเลขนี้ออกมาเปิด เอาง่ายๆว่าออกคำสั่งแต่งตั้งแต่พอนั่งๆ คิดไปคิดมามีปัญหาเรื่องกฎหมายไหมวะ งั้นกูยกเลิกดีกว่าเว้ย
4) จากข้อ 2) หากยึดว่านายไตรรัตน์ สิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ 30 เมษายน 2568 แล้วต่อจากนี้การประชุมบอร์ด หรือ ประชุมอะไรก็แล้วแต่ที่จะเกิดขึ้นใน กสทช. ต่อจากนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จะนั่งอยู่ตรงนั้นด้วยตำแหน่งอะไร? อาศัยอำนาจของกฎหมายใด? ใครจะตอบดิฉันได้บ้างไหม ตึกใหม่ทุ่มเงินทำห้องแถลงข่าวหลายสิบล้าน แปลว่า กสทช. น่าจะให้ความสำคัญกับการตอบคำถามมาก ๆ ดังนั้นประธาน กสทช. ช่วยตอบหน่อยได้ไหม?
5) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล คือใคร?
ถ้าทุกท่านจำได้ไห้ ตอนต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้องในคดีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการฯ และรักษาการเลขาธิการ กสทช. ยื่นฟ้อง กสทช. 4 คน ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นายศุภัช ศุภชลาศัย, นางพิรงรอง รามสูต และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการ กสทช. เสียงข้างมาก และ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการฯ เนื่องจากร่วมกันมีมติให้ปลดนายไตรรัตน์ พ้นจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. พร้อมสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ในกรณีการใช้งบอุดหนุนบอลโลก 600 ล้านบาท ที่ กกท.ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงกับสำนักงาน กสทช.

ต้องย้ำข้อเท็จจริงว่า บอร์ด 4 คนที่โดนฟ้องนี้ เค้าทำงานตามขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานตำแหน่งงาน เพราะเป็นอำนาจของบอร์ดในการโหวตลงคะแนนวาระต่าง ๆ แต่เพราะเหตุใด ทำไมถึงต้องต้องฟ้องคนที่เค้าแค่ทำตามหน้าที่ ดิฉันว่ามันก็แปลกดี
6) ประธาน กสทช. เป็นอะไร? ทำไมถึงรักใคร่ถูกคอกับรักษาการเลขาท่านนี้ซะเหลือเกิน ถึงขนาดว่าออกแรงทำทุกทางพยายามให้ นายไตรรัตน์ ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อ ไม่สรรหาคนใหม่ ไม่บรรจุวาระในการหาเลขาจริง ๆ สักที มันเป็นอะไรกันหนอสองคนนี้?
7) มาถึงตรงนี้ทุกท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับกู? เรียนประชาชนทุกท่าน เงินที่ท่านจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่าทีวีดาวเทียม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม การที่ผู้ให้บริการจะคิดเงินรายเดือนเท่าไหร่ ให้บริการดีไหม เอาเปรียบผู้บริโภคหรือป่าว ควบคุมให้ค่ายมือถือเห็นหัวประชาชน หรือ เรื่องใหญ่ ๆ อย่างการจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การกำจัดเบอร์ม้า การกำจัด SMS พนัน SMS หลอกลวง การล้างบางเสาสัญญานเน็ตเถื่อนที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้หลอกเงินพวกเรา สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ กสทช. ทั้งสิ้น แล้วที่ท่านคิดว่าการที่ กสทช. จัดการอะไรไม่ได้ดีเลยสักอย่าง แต่กลับยอมให้กลุ่มทุนจูงจมูกตลอด มันเป็นเพราะอะไรล่ะ? นี่แหละคำตอบ!
พรุ่งนี้จะมาเขียนภาคต่อเรื่องคุณสมบัติประธาน กสทช. ที่มีปัญหาพอๆกัน ก่อนพบกับตอนต่อไป ลองอ่านข่าวนี้ไปพลางๆ นะคะ