
วงการรับเหมาสุดอึ้ง รัฐ-สกพอ.อุ้มกลุ่มทุนซี.พี. ไฟเขียวแก้สัมปทาน “ไฮสปีดเทรน ซี.พี.”เลื่อนจ่ายค่าต๋งรับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไปร่วม 3 เดือน เพิ่งมาถึงบางอ้อดำเนินการแหกขั้นตอนกฎหมาย ต้องวิ่งพล่านกลับมาประชุมแก้ไขย้อนหลังกันให้วุ่น ด้านมหาดไทย-กปภ.เล่นใหญ่ สุมหัวต่อขยายสัมปทานประปา 20 ปี ไม่สน พ.ร.บ.ร่วมลงทุน
แหล่งข่าวจากวงการรับเหมา เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารสัญญาตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เพื่อพิจารณาเหตุผล และผลกระทบกรณีที่บริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ร้องขอให้รัฐแก้ไขสัญญาโครงการ โดยขอชะลอและเลื่อนจ่ายค่าโอนสิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไป 10 ปี
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ที่ประขุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.64 จะเห็นชอบให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในเครือซี.พี.ผู้รับสัมปทานบริหารโครงการเลื่อนจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ออกไปแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินการยังไม่เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน ที่ประชุม ครม.จึงให้ สกพอ. และการรถไฟฯ กลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง จึงต้องมีการหารือรายละเอียดเพื่อแก้ไขสัญญา และนำเสนอการแก้ไขสัญญาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนและการทำสัญญาใหม่ที่กำหนดไว้ ในส่วนที่ 4 ตั้งแต่มาตรา 46, 47, 48 และมาตรา 49 นั้น กำหนดหลักเกณฑ์กรณีที่ต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หน่วยงานเจ้าของโครงการ (สกพอ.) จะต้องเสนอเหตุผลและความจำเป็น ประเด็นที่ขอแก้ไข ผลกระทบและข้อมูลอื่นๆ ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน นำร่างสัญญาแก้ไขส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และนำเสนอต่อกระทรวงเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบ แต่กรณีการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ดังกล่าวกลับมีการชงเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและ ครม.โดยตรง โดยยังไม่ได้นำเสนอคณะกรรมการกำกับดูแล จึงต้องกลับมาดำเนินการใหม่ยกกระบิ
แหล่งข่าวในวงการรับเหมากล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อขอขยายการจ่ายค่าสิทธิ์รับโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ออกไป 6 ปี จากที่บริษัทร้องขอมาถึง 10 ปีนั้น ยังคงสร้างความกังขาให้กับสังคมเนื่องจากการรถไฟฯ และ สกพอ. อ้างว่า บริษัทเอกชนทำเรื่องร้องขอโดยอ้างผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามประมาณกาล ทั้งที่บริษัทยังไม่ได้เข้ามาเดินรถแต่อย่างใด และหากยึดตามสัญญา หากบริษัทเอกชนไม่ยอมรับโอนรถไฟฟ้าตามกำหนดเดิม การรถไฟฯ สามารถจะริบหลักประกันโครงการได้
“หากในอนาคตบริษัทเอกชนที่เข้าชิงดำสัมปทานโครงการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นฟ้องร้องว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะรัฐมีการแอบแก้ไขสัญญาในภายหลังไม่เป็นธรรมกับบริษัท ก็อาจทำให้โครงการได้รับผลกระทบได้” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ก็ได้มีการอนุมัติ การต่อขยายสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายประปาในเขตพื้นที่ปทุมธานีและรังสิต กับบริษัท ประปาทุมธานี จำกัด ในเครือกลุ่ม ช.การช่าง โดยไม่ได้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์กฎหมายตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ปี 2562 อย่างชัดเจน
เพราะตามกฎหมายในกรณีที่สัญญาสัมปทานโครงการเดิมสิ้นสุดลง หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง และกรณีให้เอกชนร่วมลงทุน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณา และหากกระทรวงเจ้าสังกัดต้องการให้มีการดำเนินโครงการร่วมลงทุนต่อเนื่อง หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการประกวดราคาใหม่เสมือนเป็นการดำเนินโครงการใหม่ หาใช่เรื่องที่กระทรวงมหาดไทย และ กปภ. จะมุบมิบไปดำเนินการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานได้โดยลำพัง