
ประเด็นที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมหารือกับรัฐบาลถึงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีเขียวส่วนต่อขยาย , สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) และสายสีเงิน (บางนา-บางโฉลง-สุวรรณภูมิ) วงเงินลงทุนรวมกว่า 92,314 ล้านบาท
โดย กทม. มีแนวคิดที่จะโอนรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายสีเทาและสายสีเงิน ไปให้รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมลงทุนเอง เพราะเป็นโครงข่ายที่คาบเกี่ยวกับปริมณฑล มีจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ(รฟม.)อยู่แล้ว หาก กทม.เป็นผู้ลงทุนเองก็จะเกิดปัญหาเรื่องจุดตัดและค่าแรกเข้าที่ซ้ำซ้อนกับระบบอื่น ๆ ทั้งยังเกินศักยภาพที่ กทม.จะลงทุนเอง จึงมีแนวความคิดที่จะลงทุนเองเฉพาะ สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิงชัน ที่มีระยะทางเพียง 7 กม.วงเงินลงทุนราว 14,804 ล้านบาท ส่วนอีก 2 สายทางนั้นจะโยกไปให้รัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้ลงทุนเอง

ทั้งนี้ ในรายละเอียดการลงทุนมูลค่ากว่า 92,314 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทาง 7.2 กม. มูลค่าลงทุน 14,804 ล้านบาท 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-พระราม 9 วงเงินลงทุน 29,130 ล้านบาท และ 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 48,380 ล้านบาท
กทม. คงคิดสารตะดีแล้ว หากจะเดินหน้าลงทุนรถไฟฟ้า 2 สายทางเอง ก็คงหนีไม่พ้นจะเจริญรอยตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก เพราะแม้จะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น เป็นหน่วยงานรัฐ แต่กลับไม่ได้รับการยกเว้นหรือได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าแบบเดียวกับที่ รฟม.ลงทุน หากจะลงทุนเองจะกี่บาทกี่สตางค์ก็ต้องกู้เงินมาลงทุนเองและใช้หนี้เองหมด

ลำพังเฉพาะเงินลงทุนในโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งที่ กทม. ดำเนินการเอง และที่รับโอนโครงข่ายมาจาก รฟม. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กทม. ก็มีภาระที่ต้องแบกรับไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ยังไม่รู้จะหาเม็ดเงินจากไหนมาชดเชยอยู่เลย จึงตัดสินใจจะโอนรถไฟฟ้า 2 สายทางดังกล่าวไปให้รัฐบาลส่วนกลางเป็นลงทุนเองให้สิ้นเรื่องสิ้นราว
จะว่าไป ข้อดีของการโอนโครงข่ายรถไฟฟ้าไปให้รัฐบาล และ รฟม. ลงทุนเองก็มีข้อดี อย่างที่ผู้ว่า กทม. บอกนั่นแหล่ะ เพราะเงินลงทุนในโครงข่ายรถไฟฟ้าของ รฟม. เหล่านี้ล้วนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่มีภาระต้องหาเงินมาชดใช้คืน รฟม. จะเดินรถเอง หรือให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถอย่างไร ก็ลงทุนเฉพาะส่วนของระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถเท่านั้น จึงทำให้ต้นทุนการเดินรถ และค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีโอกาสถูกลงได้ ทั้งยังทำให้การเดินทางข้ามโครงข่ายไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนได้อีก

แต่ก็มีข้อเสียที่มีโอกาสสูงที่โครงการเหล่านี้จะถูกการเมืองแทรกแซง หรือล้วงลูกเข้ามาแสวงผลประโยชน์เอาได้ทุกเมื่อ อย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. เปิดประมูลกันมากว่า 3 -4 ปีแล้ว จนป่านนี้ก็ยังไม่ขยับไปไหน ยังคงค้างคาราคาซัง เพราะมีขบวนการที่หวังอุ้มสมประเคนโครงการไปให้กลุ่มทุนการเมือง “ กากี่นั้ง” ชุบมือเปิบ แบบ “ วัดครึ่ง กรรมการครึ่ง” นั่นแหล่ะ
อย่างไรก็ตาม ที่จริงหนทางในอันที่จะแสวงหาแหล่งเงินมาลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีเทา และสีเงิน วงเงินรวม 77,510 ล้านบาทเศษรวมทั้งส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม.เพิ่มเติมวงเงิน 14,300 ล้านบาทนั้น ไม่ได้ยุ่งยากเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่า รฟม.จะลงทุนเอง หรือรัฐบาลลงทุน หรือแม้แต่จะให้ กทม.เป็นผู้ลงทุนก็สามารถจัดหาแหล่งเงินเข้ามาลงทุนได้อยู่แล้ว
ก็ใช้เม็ดเงินที่เหลือจาก “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” 1.427 แสนล้านนั่นแหล่ะ เพราะโครงการดังกล่าว รัฐบาลได้อนุมัติกรอบ วงเงินอุดหนุนการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้แล้วตามมติ ครม.จำนวน 91,000 ล้านบาท (บวกเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดก็ประมาณ 96,000 ล้านบาท)
แต่จากประสบการณ์การประมูลรถไฟฟ้า สายสีชมพู และสายสีเหลืองของรฟม.นั้น สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดว่าวงเงินอุดหนุนการก่อสร้างของภาครัฐข้างต้นนั้นไม่จำเป็นแต่อย่างใด เอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนและรับสัมปทานโครงการพร้อมที่จะลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าเกือบทั้ง 100% ก็ว่าได้

หากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะย้อนกลับไปพิจารณาการประมูล “รถไฟฟ้าสายสีชมพู และ สายสีเหลือง” 2 โครงการของ รฟม. ในอดีตที่ประมูลกันไปเมื่อปี 2561 โดยมีผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 2 รายใหญ่ของเมืองไทย คือ BTS-BEM เข้าร่วมขับเคี่ยวกันมานั้น จะพบข้อมูลอันชวนตกตะลึง!
เพราะรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น BTS เสนอขอรับการอุดหนุนการก่อสร้างจากภาครัฐสุทธิ (NPV) เพียง 19,823.23 ล้าน ขณะที่ BEM เสนอสูงกว่า 144,481 ล้าน (แตกต่างกันกว่า 124,657 ล้านบาท) ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กลุ่ม BTS ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐสุทธิ 22,087.06 ล้าน ขณะที่ BEM ขออุดหนุนจากรัฐสูงถึง 157,721.81 ล้าน (สูงกว่า 135,734.35ล้าน) ทำให้สองสายทางนั้น กลุ่ม BTS เสนอขอเงินอุดหนุนจากภาครัฐต่ำกว่าการอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ และต่ำกว่าที่กลุ่ม BEM เสนอเอาไว้ถึง 260,291.75 ล้านบาท
เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีเส้นทางการประมูลตามรอย รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองทุกกระเบียดนิ้ว (แตกต่างก็แค่ในการประมูลครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 2) รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ไปเพิ่มเงื่อนไขด้านเทคนิคของผู้รับเหมาที่จะเข้าประมูลแตกต่างไปจากเดิม จนทำให้กลุ่ม BTS ที่เคยเข้าร่วมประมูลในครั้งแรกไม่สามารถจะเข้าร่วมประมูลได้)
จึงทำให้ ผลประกวดราคาที่ รฟม. ตีฆ้องร้องป่าวว่า กลุ่ม BEM เป็นผู้ชนะการประมูลเพราะเสนอราคาต่ำสุด โดยขอรับการอุดหนุนค่าก่อสร้างจากภาครัฐสุทธิ 78,288.87 ล้านบาทนั้น กลายเป็น “เงื่อนงำ” ตัวเลขปริศนาที่สร้างข้อกังขาให้กับสังคมในวงกว้าง เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับข้อเสนอทางการเงินของกลุ่ม BTS ที่เสนอเอาไว้ในการประมูลครั้งแรก คือ 9,635 ล้านบาทนั้น มีส่วนต่างราคาที่สูงกว่า 68,000 ล้านบาท
นั่นจึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้รัฐบาลในชุดก่อนหน้าไม่สามารถจะ “ปดดีล” การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ลงไปได้ ยังคงคาราคาซังมาจนกระทั่งวันนี้

ดังนั้น หากกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลสั่งทบทวนผลการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และดำเนินการจัดการประมูลใหม่ โดยเปิดทางให้ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในเมืองไทยได้เข้าร่วมประมูลอย่างเป็นธรรม ไม่พยายามตั้งแง่สร้างเงื่อนไขสุดพิสดารพันลึกอย่างที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการไปก่อนหน้า ทุกฝ่ายต่างฟันธงว่า กลุ่ม BTS ที่คงเหลืออดกับโครงการนี้ชนิด “แน่นอก” มาแต่ไหนแต่ไร คง “ทุบ” ข้อเสนอด้านการเงินและวงเงินขอการอุดหนุนจากภาครัฐชนิดอาจเสนอขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาล 0 บาทเลยก็เป็นได้
ซึ่งนั่นคือพร้อมที่จะลงทุนโครงการนี้เองทั้งหมด โดยไม่ต้องขอรับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐนั่นเอง ซึ่งนั่นจะทำให้ รฟม. และรัฐบาลมีเม็ดเงินกว่า 90,000 ล้าน ที่สามารถจะโยกไปลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเงินและสายสีเทา รวมถึงสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้โดยไม่ต้องไปแสวงหาแหล่งเงินจากที่ไหนอีก!!!
ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” จะกล้า “ทุบ” และหักดิบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนการเมืองที่นัยว่าเป็น 1 ใน “เจ้าสัว” ที่ไปร่วมรับประทานอาหาร และหารือกับนายกฯ มาหยกๆ แล้วนั่นเอง!!!