
ประเด็นที่ประชาชนคนกรุงและสังคมยังคงกังขาอย่างหนักมาก!*
1. ทำไมต้องขยายสัมปทาน BTS ตั้ง 30 ปี หลังสิ้นสุดสัญญาปี 72*
2. ทำไมต้องรีบต่อสัญญากันวันนี้ ทั้งที่เหลือเวลาอีกตั้ง 6-7 ปี*
3. เหตุใดไม่รอให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดเสียก่อน แล้วเปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาเดินรถ
4. เหตุใด กทม.เปิดให้ประชาชนใช้ฟรี ทั้งที่ต้องจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย
5. หากมีปัญหามากนัก เหตุใดไม่ทบทวนมติ ครม.ปี 61โอนโครงข่ายสายสีเขียวสวนต่อขยายคืน รฟม.
ก่อนตอบข้อกังขาเหล่านี้ อย่ากใหทุกฝ่ายลองย้อนไปทำความเข้าใจกับสัญญาสัมปทาน BTS ให้ดีเสียก่อน
สัมปทานรถไฟฟ้า BTS เดิมที่เป็นสายหลักนั้น ให้บริการอยู่ 2 สาย คือ สายสุขุมวิท จากสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม จากสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมือง CBD ที่ถือเป็น "ไข่แดง" โครงข่ายรถไฟฟ้า โดยมีสัญญาสัมปทาน30ปีจนถึงปี 72 (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA)
ก่อนที่ กทม. จะขยายเส้นทางเพิ่มเพิ่มอีก 3 ระยะ คือ สายสีลมจากสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ และวงเวียนใหญ่-บางหว้า และสายสุขุมวิทจากอ่อนนุช-แบริ่ง โดยให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและว่าจ้าง BTS เดินรถ (ส่วนโครงข่ายรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยายอีก 2 สายทาง คือ สายเหนือจากพหลโยธิน-คูคต 19 กม. และสายสุขุมวิทสถานีแบริ่ง-การเคหะ 13 กม.นั้น กทม.รับโอนโครงข่ายมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตามมติ ครม.26 พย.2561)
ว่ากันตามหลักการ หากรัฐ-กทม. ยึดถือสัญญาสัมปทานเดิมเป็นหลัก ก็ต้องไม่ไปแตะต้องสัญญาหลักนี้ตั้งแต่แรก (ไม่งั้นอาจนำไปสู่การแก้ไขสัมปทาน-หรือถูกฟ้องหัวกลายเป็นค่าโง่เอาได้) รอให้สัมปทานสิ้นสุดในปี 72 และทรัพย์สินตกเป็นของรัฐแล้ว
ถึงเวลานั้น รัฐ-กทม.จะเอาโครงการไปทำอะไรต่อก็ได้หมด อย่างนี้จบ! ถึงเวลานั้น กทม. จะดำเนินการเอง จ้างเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ (O&M) และประมูลหาเอกชนเข้ามารับสัมปทานใหม่หรือต่อสัมปทานรายเดิม ก็ทำได้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าการดำเนินการอย่างนี้จบไหม??? คำตอบคือ จบแต่พัง! รังแต่จะเกิดปัญหาขึ้นมาทันที! ...

ทำไมนะหรือ?
สำหรับ BTS นั้น หากยึดตาสัญญาสัมปทานเดิม เดินรถแค่โครงข่ายหลักตามสัญญา บริษัทเป็นเสือนอนกินเลย เพราะโครงข่ายหลัก BTS นั้นคือ “ไข่แดง” ที่ให้บริการในย่านธุรกิจ CBD ผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 5-7 แสนคน ใครมาใช้บริการต้องจ่ายค่าโดยสาร (แรกเข้า) ทันที 15 บาท + สถานีละ 3 บาท
แต่ปัญหาที่จะเกิดตามมา ก็คือ โครงข่ายส่วนต่อขยายที่ กทม. ไปลงทุนสร้างขึ้นมาในภายหลัง (อ่อนนุช-แบริ่ง และตากสิน-วงเวียนใหญ่) กับส่วนต่อขยาย 2 สายทางที่ ครม. ให้ รฟม.โอนมาให้ กทม. ให้บริการตามติ ครม. 26 พ.ย. 61 จะทำอย่างไร ใครจะเป็นผู้ให้บริการเดินรถ (อย่าลืมว่า เราไปยุ่งกับสัมปทานเก่า BTS ไม่ได้ เพราะจะนำมาสู่การแก้ไขสัญญาให้ยุ่งขิง)
ดังนั้น ตามโมเดลกำปั้นทุบกินนี้ รัฐ (กทม./ รฟม.ก็ตาม) ต้องไปหารูปแบบบริหารเดินรถกันเอง จะเดินรถเอง หรือจ้างเอกชน หรือจะประมูลหารายใหม่เข้ามาทำได้หมด แต่อย่าไปแตะโครงข่ายเดิมของ BTS เขาเป็นพอ (ไม่เช่นนั้นจะนำมาสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานให้ยุ่งยากอีก)
กทม./รฟม.มีสิทธิ์แค่ขนส่งผู้โดยสารมา Drop ที่สถานีเชื่อมต่อโครงข่ายเดิมของ BTS เท่านั้น จะข้ามโครงข่ายเข้าไปใช้บริการแบบต่อเนื่องไม่ได้ เพราะจะไปกระทบสัญญาหลักเขาทันที
ผู้โดยสารที่จะเข้าไปใช้โครงข่ายหลักเดิม BTS เพื่อต่อเข้าไปใจกลางเมือง จะต้องจ่ายค่าโดยสารเสมือนใช้บริการโครงข่ายใหม่ คือ ต้องจ่ายค่าแรกเข้า 15 บาท+ค่าโดยสารสถานีละ 3 บาท
ตรงนี้แหล่ะที่จะทำให้เกิดปัญหา? เพราะหากยึดตารูปแบบนี้ ค่าโดยสารที่ประชาชนต้องจ่ายจะเป็อย่างไร? ตอบได้เลยว่า....อ่วมแน่ บอกได้แค่นั้น!
เพราะผู้ใช้บริการจะไม่สามารถเดินทางต่อเนื่องแบบ Through Operation ได้แน่ จะต้องลงจากขบวนเก่าไปต่อขบวนใหม่เท่านั้นและต้องจ่ายค่าโดยสารแบบนับ 1 กันใหม่
เหตุนี้ถึงบอกว่า กทม./รฟม. จะบริหารเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 สายทางนี้กันยังไง ถึงจะไม่โดนด่าเปิง จะเดินทางข้ามโครงข่ายหลักเดิมของ BTS ได้อย่างไร ถึงจะไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้ากันใหม่อีก!
เพราะต่อให้รัฐกำหนดค่าแรกเข้าตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ 12 บาท+สถานีละ 2 บาท เมื่อเดินทางมาถึงสถานี BTS เดิมก็ต้องเปลี่ยนไปต่อรถไฟฟ้า BTS ใหม่เสียค่าแรกเข้าใหม่ จะไปต่อเลยไม่ได้ เพราะจะไปยุ่งกับสัญญาหลักเดิม BTS เขาไม่ได้ ต้องลงไปต่อขบวนใหม่ จ่ายค่าโดยสารค่าแรกเข้ากันใหม่ คือ 15 บาท + สถานีละ 3 บาทเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ถึงยังไงก็ต้องไปแตะสัญญาหลักก่อนปี 72 อยู่ดี เพื่อที่จะให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง ข้ามจากโครงข่ายหลักเดิมไปโครงข่ายส่วนต่อขยายใหม่ได้ เดินทางต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
และด้วยเหตุนี้ กทม. และบริษัทกรุงเทพธนาคม จึงต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญากับ BTS มาตั้งแต่แรก เพื่อว่าจ้าง BTS เข้ามาเดินรถส่วนต่อขยายที่ กทม. สร้างเพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้
เว้นเสียแต่รัฐ-กทม. จะยืน "กระต่ายขาเดียว" ยอมให้ถูกก่นด่าเพื่อจะยืนยันว่า ไม่ต้องการไปยุ่งกับสัญญาหลักเดิมเขา ยอมโดนด่ากันไปสัก 6-7 ปีจากนี้ แล้วรอประมูลกันใหม่ (ที่ BTS ก็ยังคงมีความได้เปรียบ เพราะเป็นเจ้าของโครงข่าย) ถึงเวลาน้ัน ค่อยมาเจรจากันเรื่องการเดินทางข้ามโครงข่าย เก็บค่าโดยสารแรกเข้าที่ต้องไม่จ่ายซ้ำซ้อน
เอาอย่างนี้ไหม? คนกรุงเทพรับได้ไหม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กระทรวงคมนาคมรับได้ไหม?*
ถ้ารับได้ก็จบ!
แต่ถ้ารับไม่ได้ก็จะนำไปสู่คำถามที่ทุกฝ่ายกำลังตั้งข้อกังขาเอากับ "มท.-กทม." กันอยู่นี้ว่า ทำไมต้องไปเจรจาแก้ไขสัญญา ทำไมไม่รอจนถึงปี 72 ทำไมไม่ประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาเดินรถ ฯลฯ และโดยเฉพาะทำไมต้องขยายสัญญาสัมปทานกันไปถึง 30 ปี ให้ขยายสัมปทานไปแค่ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ไม่ได้หรือไง และรออีก 6-7 ปี ค่อยมาตัดสินใจไม่ได้หรือ???...

แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า โครงข่าย BTS เดิมนั้น เขาให้บริการในย่านใจกลางเมือง CBD เป็น “ไข่แดง" มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 5-7 แสนคน ลอยตัวอยู่แล้ว การจะให้เขารับเอาโครงข่ายส่วนต่อขยาย โดยต้องรับมูลหนี้ที่ติดมากับโครงข่ายไปพร้อมด้วย ต้องลงทุนวางระบบรถไฟฟ้าจัดหารถไฟฟ้าเพิ่มเติม แถมโครงข่ายที่ได้มา ยังมีปริมาณผู้โดยสารแค่หยุมหยิม แทบจะต้องตีรถเปล่า และอาจต้องใช้เวลา 10-15 ปีจากนี้ กว่าจะ Built ผู้โดยสารขึ้นมาได้
เสร็จแล้วกลับจะมาถูก “หักดิบ” บอกให้ยึดสัญญาสัมปทานเดิมที่ต้องสิ้นสุดปี 72 หรือหากจะขยายสัมปทานออกไปก็เอาสัก 10-15 ปีก็แล้วกัน จะมีนักลงทุนหน้าไหนเอาด้วย เพราะเขาบริหารโครงข่ายหลักตามสัญญามีกำรี้กำไร มีรายได้เป็นกอบเป็นกำอยู่ดีๆ พอรัฐโยนโครงข่ายส่วนต่อขยายมาให้ โดยที่ต้องจ่ายเงินซื้อโครงข่ายเหล่านี้แล้ว ยังต้องเจียดกำรี้กำไรที่มีไปจุนเจือแบกรับโครงข่ายที่ได้รับมา เพื่อรอวันเวลาให้มีปริมารผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่ยืนอยู่ได้ ซึ่งต้องกินเวลามากกว่า 10-15 ปีขึ้นไป
แต่แทนที่จะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์กลับคืน ก็กลับจะมาถูก “หักดิบ” ให้สัญญาสัมปทานต้องสิ้นสุดลงตามเดิมซะงั้นในปี เจอแบบนี้ถ้าเป็นเรา เราจะยอมไหม ? นั่นแหล่ะจึงเป็นที่มาของการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานไปถึง 30 ปี โดยที่รัฐและ กทม. ยังต้องได้รับค่าต๋งสัมปทานที่เป็นส่วนแบ่งรายได้อีก 2 แสนล้านบาทกลับมาด้วย
เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับพรรคการเมือง นักการเมือง และเครือข่ายอะไรต่อมิอะไร ที่กำลังจัดเวทีคู่ขนานตีปี๊บคัดค้านการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูกันอยู่นี้ จงพึงสังวรไว้ หากในอนาคตอันใกล้นี้ บมจ.บีทีเอส (BTS) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว และรับจ้างเดินรถไฟฟ้า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (แต่ไม่ได้เงินค่าจ้าง) ซึ่งตอนนี้เริ่มสำลักหนี้กว่า 35,000 ล้าน ที่ทวงจาก กทม. ไม่ได้สักที เพราะยื่นโนตี๊สทวงหนี้ไปก็แล้ว ทวงหนี้ออกสื่อไปก็แล้ว และพึ่งกระบวนการทางศาลไปก็แล้ว จนมูลหนี้ที่แบกรับเริ่มกระทบสภาพคล่องของบริษัท
หาก BTS ไม่สามารถจะแบกรับภาระหนี้ได้อีกต่อไป จนต้องประกาศหยุดให้บริการเดินรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย 5 สายทาง ที่รับจ้าง กทม. อยู่ (แต่ไม่ได้รับค่าจ้าง) ขึ้นมา โดยยังคงให้บริการเดินรถไฟฟ้าในส่วนของสัมปทานหลักอยู่ต่อไป ซึ่งเขามีสิทธิ์ดำเนินการได้เต็มที่ในฐานะผู้รับจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างนั้น
ถึงเวลานั้น ก็ไม่รู้ผู้ที่มีส่วนในการสังฆกรรม BTS จะร่วมรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ประเทศและประชาชนคนกรุงได้รับ