
บทพิสูจน์จากพฤติกรรม! อนุมัติกรมธรรม์และไฟเขียว “ข้อความ” ตามพันธะสัญญาประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” แต่จบไม่ลง?
เพราะยอดจ่ายเงินเคลมสูงนับร้อยล้านบาท งานนี้...พิสูจน์บทบาทของ คปภ. ว่าจะเป็น “เสือจริง” หรือ “เสือกระดาษ” อีกไม่นานได้เห็นกัน..
การจะออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ใหม่ๆ สักฉบับ ไม่เพียงทีมงานของบริษัทประกันภัย จะต้อง “ดีไซน์” ผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ออกมาในแบบที่แตกต่างและตอบโจทย์ของลูกค้าผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น
หากแต่กรมธรรม์ฉบับใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นมา จะต้องส่งให้ “เรคกูเรเตอร์” อย่าง... สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) พิจารณาตรวจสอบในแง่มุมต่างๆ ทั้งประเด็นความเป็นไปได้และประเด็นข้อกฎหมายที่จะบังคับใช้ตามมา
ทำนอง...ไม่มีใครเอาเปรียบใคร? บริษัทประกันภัยสามารถดูแลผู้เอาประกันภัยได้จริง ครอบคลุมและทั่วถึงตามที่เงื่อนไขในกรมธรรม์ระบุไว้ รวมถึงจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้จริง หากเกิดเคสท์ตามเงื่อนไขแห่งสัญญา
สำหรับ กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 “เจอจ่ายจบ” ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นผู้เอาประกันภัยเอง และบรรดาญาติๆ ของผู้เอาประกันภัยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดฯ นั่นเพราะ..
การติดเชื้อโควิดฯ เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นแล้ว บางรายติดเชื้อโควิดฯ จนรักษาหายแล้ว ขณะที่บางรายโชคร้าย...เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิดฯ แต่ส่วนใหญ่ที่ทำเรื่องเพื่อขอเคลมเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย กลับถูกยื้อเรื่อง...ไม่จ่ายเงินชดเชยกันเสียที จนต้องรวมกลุ่มไปประท้วงถึงหน้าบริษัทประกันภัย
แล้วก็พากันมาร้องเรียนกับ สำนักงาน คปภ.อีกทอดนึง!

หลายคำสั่ง หลากกฎระเบียบที่ สำนักงาน คปภ. มีออกมาในช่วง 1-2 เดือนนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะยืนเคียงข้างประชาชน ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย จากเหตุ...ไม่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” เสียที
แต่หากลงลึกถึงพฤติกรรมของ สำนักงาน คปภ. ภายใต้การนำของ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. แล้ว เชื่อว่าสังคมไทย คงเกิดอาการ “ชักไม่แน่ใจ” เสียแล้วว่า...
ตัว นายสุทธิพล และสำนักงาน คปภ. เลือกอยู่ข้างใดกันแน่? โดยเฉพาะกับคำพูดเมื่อไม่นานมานี้ของ นายสุทธิพล ที่ “ออกตัว” แทนบริษัทประกันภัย ที่ว่า...
ส่วนตัวไม่คิดว่าบริษัทประกันภัยฯ จะไม่จ่ายค่าเคลมโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” แต่เหตุที่ต้องล่าช้า อาจเพราะบริษัทประกันภัยจะต้องพิจารณาและตรวจสอบเอกสารที่มีผู้ยื่นเรื่องขอเคลมฯ สูงมากถึงวันละกว่า 1,000 เคสท์ อย่างถ้วนถี่
แค่ประโยคนี้ประโยคเดียว...ทำให้สังคมเกิดคำถามขึ้นทันที คปภ. ทั้งผู้บริหารระดับสูงและสำนักงานฯ อยู่ข้างประชาชนจริงหรือ?

ครั้งหนึ่ง “สำนักข่าวเนตรทิพย์” เคยตั้งคำถามและยังไม่ได้รับคำตอบ! จากสำนักงาน คปภ. นั่นคือ...
ต้นเหตุของเรื่องที่มาจากการอนุมัติให้มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดฯ แบบ “เจอจ่ายจบ” นั้น ทำไมสำนักงาน คปภ.จึงออกมาในแบบหละหลวมสุดๆ?
หละหลวมขนาดที่เปิดช่องให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกสัญญาที่ทำเอาไว้และมีผลบังคับใช้ตามพันธะแห่งสัญญากรมธรรม์ประกันภัยได้
จนต้องสารพัดออกคำสั่ง...เพื่อยุติปัญหานี้ตามมา
แล้วก็ไม่ใช่คำสั่งหรือออกแค่มาตรการใดมาตรการหนึ่ง แต่ปรากฏในภายหลังว่า...ยังมีการออกคำสั่งและมาตรการ ทั้งที่เร่งด่วนและไม่เร่งด่วน ตามมาอีกมากมาย
นั่นเป็นเพราะ ความผิดพลาดของสำนักงาน คปภ. เองใช่หรือไม่? ที่ปล่อยให้มีการสร้างข้อความใดๆ ก็ตาม ปรากฏอยู่ในสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ แบบ “เจอจ่ายจบ”
ลองย้อนไปดูบางข้อความที่ “สำนักข่าวเนตรทิพย์” เคยนำเอามาลงให้ดูกันเสียหน่อย...เป็นข้อความที่ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย เคยนำร่องบอกเลิกสัญญา อ้างว่า...จะต้องบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” ตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ข้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1
รายละเอียดที่ถูกอ้างถึงคือ...
2.4 การสิ้นสุดความคุ้มครองสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยทั้งฉบับ
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะสิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
2.4.1 ณ วันที่กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับดังที่ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และ/หรือ หนังสือรับรองการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยในปีเอาประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยมีอายุครบ 99 ปี บริบูรณ์
2.4.2 เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกัน ตามเงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด 2.3
2.4.3 เมื่อผู้เอาประกันภัยหรือบริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด 2.5
2.4.4 เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต
2.4.5 เมื่อบริษัทได้จ่ายค่าทดแทนตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และ/หรือ หนังสือรับรองการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ครบถ้วนแล้ว
2.5 การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
2.5.1 บริษัทสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนี้ โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกัน ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ โดยบริษัทจะคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับแล้วออกตามส่วน
ถ้าสำนักงาน คปภ.ไม่ยอมรับว่า...ข้อความข้างต้นที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” คือความผิดพลาดของตัวเอง จนต้องมีการออกคำสั่งและมาตรการอื่นๆ ตามมา เพื่อหยุดยั้งปัญหาจากสาเหตุที่บริษัทประกันภัย...ไม่จ่าย หรือยื้อการจ่ายฯ แม้กระทั่ง จะเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้ ล่ะก็
แสดงว่าข้อความข้างต้นทั้งหมดถูกต้อง!
แต่ที่ไม่สามารถบังคับให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนฯ กระทั่ง ปรากฏข่าวการร้องเรียนจากผู้เอาประกันภัยและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุติดเชื้อโควิดฯ มันคือ...อาการ “ไร้น้ำยา” กระนั้นหรือ?
“ไร้น้ำยา” ก็ไม่ต่างจากสภาพการเป็น “เสือกระดาษ” หรือไม่?

ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 กันยายน 2564 สำนักงาน คปภ. เพิ่งจะออก 4 มาตรการเร่งด่วน! เพื่อแก้ไขปัญหานี้ มาตรการที่ว่านี้ ประกอบด้วย....
1. เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีบริษัทกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท
โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ในวันอังคารที่ 14 ก.ย.นี้ และหากพบว่าบริษัทประกันภัยแห่งใด จงใจฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ
2. ให้บริษัทฯ เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณี เพื่อให้สามารถยุติเรื่องร้องเรียนโดยเร็ว
3. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงหน่วยงานรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 โดยเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย และให้นำระบบออนไลน์มาใช้ในการบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและการติดตามความคืบหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่บริษัทฯ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้เอาประกันภัย
และ 4. ให้บริษัทฯ เร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน

สัปดาห์หน้า คือ วันที่ 14 ก.ย.นี้ ทางคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับฯ ของสำนักงาน คปภ.จะแสดงพลังและโชว์ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่บริษัทประกันภัย “ยื้อจ่าย” เงินเคลมประกันภัยโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” ว่า...
ที่สุดแล้วพวกเขาจะแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน ซึ่งเป็น “ผู้เอาประกันภัย” ได้หรือไม่?
จากตัวเลขที่ สำนักงาน คปภ. ระบุไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 (หลังจากนั้น แทบไม่มีการซื้อขายประกันภัยในลักษณะนี้อีกเลย) พบว่า มีซื้อกรมธรรม์โควิดฯ รวมๆ เกือบ 11 ล้านฉบับ และมียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนราว 171 ล้านบาท
เพราะวงเงินมากขนาดนี้หรืออย่างไร? บริษัทประกันภัยทั้งหลายที่ขายประกันโควิดฯ “เจอจ่ายจบ” จึงยื้อที่จะจ่ายเงินฯให้กับ “ผู้เอาประกันภัย”
เสือจริงหรือเสือกระดาษ? อีกไม่นานได้รู้กันแน่!