
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร พูดไว้เมื่อเดือน ก.พ.67 เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ติดลบ ถือเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงมาก กว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ“แบงก์ชาติ” คาดการณ์ไว้ เพราะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่แผ่วลง โดยเมื่อดูส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อ สูงกว่าก่อนจะเกิดวิกฤติโควิด-19
จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ก่อนเกิดโควิด-19 ดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ย 1.7% ขณะที่เงินเฟ้อ 0.6% จะเห็นว่าดอกเบี้ยไม่สูงเท่าปัจจุบัน (ก.พ.67) แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจพอสมควร เห็นจากภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตตามศักยภาพ เพราะดอกเบี้ยที่สูงนั้นกระทบต่อกำลังซื้อ และการลงทุนของเอกชน

“เสือออนไลน์” มองย้อนอดีตที่แบงก์ชาติ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ก.ย.66 ที่ระดับ 2.50% เหมือนเป็นการต้อนรับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่เปิดแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.66
ขณะที่นายเศรษฐาซึ่งประสบความสำเร็จจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนถึงอายุ 60 ปี ได้พยายามเชิญนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มาหารือเรื่องเศรษฐกิจและทิศทางของดอกเบี้ย เพื่อโน้มน้าวให้แบงก์ชาติช่วยลดดอกเบี้ยนโยบายนั่นแหละ! แต่จนแล้วจนรอด ทางแบงก์ชาติก็ไม่ยอมคล้อยตาม

จนกระทั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย.67 ซึ่งตรงกับรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงยอมลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.25% เมื่อวันที่ 16 ต.ค.67 เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี
ต่อมาวันที่ 26 ก.พ.68 กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.25% มาอยู่ที่ 2.00% ต่อปี และล่าสุดวันที่ 30 เม.ย.68 มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75%
การที่แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้สูงกว่า 2.00 % หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง กลายเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทำให้หนี้ครัวเรือนสูง และฉุดกำลังซื้อภายในประเทศ
แต่ “ธนาคารพาณิชย์” ทั้งระบบกลับรวยกันอู้ฟู่! โดยปี 65 กำไรสุทธิรวมกันกว่า 2 แสนล้านบาท ปี 66 กำไรสุทธิรวมกัน 2.32 แสนล้านบาท ปี 67 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ อวดกำไรสุทธิรวม 2.53 แสนล้านบาท
ไตรมาส 1/2568 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มีรายได้ 251,663 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 68,396 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกำไรสุทธิ เมื่อเทียบรายได้ สูงถึง 27%

คำถามตามมา คือ 1. ถ้าแบงก์ชาติ โดย กนง. ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ตามที่หลายฝ่ายพยายามออกมาเรียกร้อง เศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ คงไม่ดำดิ่งถึงเพียงนี้ใช่หรือไม่?
2. ถ้าเอากำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในช่วงปี 65-67 ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ไปอยู่ในมือประชาชน กำลังซื้อภายในประเทศ คงไม่ถดถอยมากนักใช่หรือไม่?
3. แบงก์ชาติบริหารตัวเลขเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และลดดอกเบี้ยนโยบายล่าช้า! จนภาวะเศรษฐกิจไทยดำดิ่ง! ผู้ว่าฯแบงก์ชาติและผู้เกี่ยวข้อง ควรต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่?
เสือออนไลน์