
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการพิจารณาออกใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank ของกระทรวงการคลัง ที่มอบหมายให้คณะทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้พิจารณา ล่าสุดมีรายงานว่า ธปท.ได้พิจารณากลุ่มทุนการเงินที่คาดว่าจะได้รับการพิจารณาให้จัดตั้ง Virtual Bank แล้วทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย 1. ธนาคารกรุงไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร Gulf, AIS และโออาร์ (OR) ในกลุ่ม พีทีที กรุ๊ป 2. กลุ่มบริษัทเอสซีบี เอกซ์ ร่วมกับ Kakao Bank จากเกาหลี และ WeBank และ 3. บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ของกลุ่มซีพี
ขณะที่กลุ่มซีกรุ๊ป (Sea Group) จากสิงคโปร์ เจ้าของแพลตฟอร์ม Shopee ที่ร่วมกับบริษัทวีจีไอ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ไปรษณีย์ไทย และธนาคารกรุงเทพ ไม่ได้รับการพิจารณา
โดย ธปท. ได้ส่งรายชื่อทั้ง 3 รายให้กระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือ การนำเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อออกใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายในกลางปี 2568 ก่อนนำเสนอ ครม.เห็นชอบ โดยกลุ่มที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี นับจากวันที่รัฐมนตรีคลังให้ความเห็นชอบ
สำหรับจุดแข็งของแต่ละกลุ่ม แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่ม “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์” นั้น มีจุดแข็งโดยที่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เป็นทั้งธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่มีทั้งฐานลูกค้าทั้งผ่านเป๋าตัง ที่มีฐานลูกค้าเกือบ 50 ล้านคน และเชี่ยวชาญด้านการเงินมาก
ส่วน เอไอเอส (AIS) ผู้ให้บริการการสื่อสารใหญ่ที่สุดในประเทศมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ มีความพร้อมด้านบริการดิจิทัลและฐานลูกค้าประมาณ 50 ล้านราย ประกอบด้วย ฐานลูกค้ามือถือกว่า 45.6 ล้านราย กลุ่มใช้บริการเน็ตบ้านอีก 4.5 ล้านราย
ขณะที่ “โออาร์” ของกลุ่ม PTT มีจุดแข็งด้านสถานีบริการน้ำมัน มากกว่า 2,000 แห่ง และส่วนของร้านค้าธุรกิจนอนออยลอย่างร้านกาแฟอเมซอน ที่มีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ มีฐานสมาขิก Blueplus 8 ล้านคน ส่วนกัลฟ์ มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน และธุรกิจพลังงาน รวมไปถึงบริการดาต้าเซ็นเตอร์
ส่วนกลุ่ม SCBX มีจุดแข็งไม่น้อยในการให้บริการ Virtual Bank โดย SCBX เป็นบริษัทแม่ของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่เป็นสถาบันการเงินอันดับต้นของไทยมาพร้อมฐานลูกค้า และทรัพยากรที่แข็งแกร่งมาก โดยมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจธนาคาร และการเงินในประเทศมานาน และได้ปรับองค์กรมาต่อเนื่องสู่โลกดิจิทัล ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในการตอบสนองความต้องการลูกค้าบนยุคดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่ KaKao Bank ธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ นอกจากเชี่ยวชาญธุรกิจ Virtual Bank แล้ว ยังมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น รวมทั้งการให้บริการของ KAKAO Bank ประสบความสำเร็จมากในวงการธนาคารเกาหลีใต้มาแล้ว เป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้เช่นปัจจุบัน
WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเช่นกันถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จมากจนมีบัญชีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน 362 ล้านบัญชี และคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินทั้งหมดของ WeBank คือ กลุ่มชนชั้นแรงงานกว่า 75% ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม Unserved และUnderserved โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น