
เรื่องที่ดินอัลไพน์ เพื่อจะเล่นงานคนๆ เดียว คือ “ทักษิณ” แต่สรุปตอนจบรัฐอาจจะต้องควักเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกบ้านจำนวนมาก ครั้นจะไปไล่เช็คบิลย้อนหลังกับใคร คดีคง “หมดอายุความ” แล้ว!
…
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 20 ม.ค.68 พูดชัดเจนตรงประเด็นเกี่ยวกับปัญหาที่ดินอัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ว่า “ทุกอย่างให้ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาอะไร ครอบครัวเขาซื้อต่อมาเป็นมือสอง อยากให้จบๆ เสียที เพราะน่ารำคาญ”
ที่ดิน 2 แปลง รวมกว่า 900 ไร่ ตั้งอยู่ใน อ.คลองหลวง ที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกให้วัดธรรมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อนางเนื่อมเสียชีวิต มูลนิธิมหามกุฏฯ จึงเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่...
หลายปีต่อมามีการขายที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ระหว่างมูลนิธิมหามกุฏฯ กับ “กลุ่มเสนาะ-ชูชีพ” ในราคาประมาณ 130 ล้านบาท และมีการโอนเงินก้อนนี้เข้าวัด
ดังนั้น “กลุ่มเสนาะ-ชูชีพ” จึงเป็น “มือหนึ่ง” ที่ซื้อที่ดินมาจากมูลนิธิมหามกุฏฯ แล้วนำมาเป็นพัฒนาเป็นบ้านจัดสรร-สนามกอล์ฟอัลไพน์ จนกระทั่งปี 40 จึงขายกิจการต่อให้ “ครอบครัวชินวัตร” ในราคาประมาณ 400-500 ล้านบาท ตรงตามที่นายทักษิณพูดว่าเขาซื้อต่อมาเป็น “มือสอง”

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.68 มีข่าวนายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯและนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินอัลไพน์แล้ว และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไป คือ..
1. กรมที่ดินจะต้องดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน พร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ
2. กรมที่ดินแจ้ง จ.ปทุมธานี เพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและขายโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อมา รวมทั้งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงแยกที่ออกสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทุกรายการ ในโฉนดที่ดินแปลงแยกนั้นด้วย
3. เมื่อสำนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี สาขาคลองหลวง เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน และขายรวมสองโฉนดแล้ว จะมีผลให้โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อมเจ้ามรดก มูลนิธิมหามกุฏฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก สามารถจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยดำเนินการขอได้มาซึ่งที่ดิน ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
4. เมื่อที่ดินตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหาร วัดสามารถนำที่ดินดังกล่าว ให้ผู้ครอบครองคนปัจจุบันเช่า หรือออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อโอนสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองคนปัจจุบัน หรือโอนที่ดินโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ข้อ 6

ส่วนคนที่ซื้อบ้านในโครงการและครอบครัวชินวัตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดิน สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ ซึ่งมีการประเมินค่าเสียหายไว้ที่ประมาณ 7.7 พันล้านบาท (ค่าสินไหมแทน)
นิติกรรมระหว่างมูลนิธิมหามกุฏฯ กับ “กลุ่มเสนาะ-ชูชีพ” ทำกันที่ “สำนักงานที่ดิน”
โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเป็นคนกลางในการจดทะเบียน-ทำนิติกรรมโอน-เก็บค่าธรรมเนียมภาษีโอนที่ดิน รวมทั้งนิติกรรมระหว่าง “กลุ่มเสนาะ-ชูชีพ” กับครอบครัวชินวัตร ก็ทำกันที่ “สำนักงานที่ดิน” โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเป็นคนกลางในการจดทะเบียน-ทำนิติกรรมโอน-เก็บค่าธรรมเนียมภาษีโอนที่ดิน
งานนี้กรมที่ดินจึง “งานเข้า” แบบเต็มๆ และถ้าจะไปไล่บี้หาคนรับผิดชอบก็ต้องไปเริ่มในจุดแรก ระหว่างมูลนิธิมหามกุฏฯ กับ “กลุ่มเสนาะ-ชูชีพ” และเจ้าหน้าที่ที่ดิน หรืออาจจะยาวไปถึงรัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยโน้น ไม่ใช่มาวนเวียน ป้วนเปี้ยนอยู่กับ “มือสอง”
ที่ผ่านมาวนเวียนๆ เรื่องที่ดินอัลไพน์ เพื่อจะเล่นงานคนๆ เดียว คือ “ทักษิณ”
แต่สรุปตอนจบรัฐอาจจะต้องควักเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับลูกบ้านจำนวนมาก ครั้นจะไปไล่เช็คบิลย้อนหลังกับใคร คดีคง “หมดอายุความ” แล้ว!
งานนี้จึงเข้าตำรา “ลงทุนเผาบ้าน เพื่อจะจับหนูตัวเดียว” แถมจับหนูไม่ได้ แต่บ้านวอดวายเสียหายหมดทั้งหลัง!!
เสือออนไลน์