
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทย ร่วมกับหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่าย จัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ภายใต้หัวข้อ “Connect the dots : Enhancing Thailand Competitiveness” โดยวาระเร่งด่วนที่ตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐและเอกชน คือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว ด้วยการนำเอา Digital Transformation มาใช้ดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ใช่แค่ทางเลือก หรือทางรอด แต่คือทางหลักสู่ความสำเร็จของ SME ไทย ท่ามกลางปัญหาวิกฤติซ้อนวิกฤติ โดยในปีนี้ มีภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศเข้าร่วม กว่า 1,200 คน
ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่รวดเร็วเท่าที่ควร โดยนอกจากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ยังมีสถานการณ์ที่ส่งผลซ้ำซ้อนอีก 4 ด้าน ได้แก่ 1) วิกฤตด้านพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3) วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs และ 4) วิกฤตโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการลดลงของอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ที่ลดลงถึง 5 อันดับจากปี 2564 ดังนั้น ทางออกที่จะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งได้ คือ การหาแนวทางเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในแต่ละมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างเครือข่ายทุกภาคส่วน

การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้ หอการค้าจังหวัดได้นำเสนอโครงการที่สำคัญเร่งด่วน (Flagship Projects) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคหลายโครงการ ทั้งในด้านการเกษตร การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยได้รวบรวมแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในสมุดปกขาว เพื่อมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยยังได้สรุปแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประกอบด้วย
1. Connect เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยหอการค้าไทยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนราย เป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งของ SME ไทยตลอดจนขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการระดมความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศตลอดทั้งปี
2. Competitive ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐ ขับเคลื่อน FTAAP และเร่งขยาย FTA กับนานาชาติ ต่อยอดความเชื่อมั่นจากการเป็นเจ้าภาพ APEC ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลกได้อย่างทันที
พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยมีแผนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ที่ประกอบด้วย จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยหอการค้าไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ BOI ยกระดับ Ease of Investment พร้อมร่วมมือกับ กพร. ปรับปรุง Ease of Doing Business ปรับปรุงขั้นตอนการติดต่อราชการให้รวดเร็ว ลดการเซ็นเอกสาร สนับสนุนให้เกิด e-Government อย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข และปรับปรุงกฎระเบียบ ให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ผนึกกำลังกับ กกร. และ TMA สร้าง Pilot Project โดยใช้สถาบันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมขับเคลื่อนและติดตามอย่างใกล้ชิด
ส่วนภาคการท่องเที่ยว หอการค้าฯ ร่วมกับ ททท. ดำเนินแนวทาง Trade & Travel ยกระดับการสร้าง Soft Power ในแต่ละจังหวัด พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วย Happy Model
3. Sustainable สร้างอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดัน Bangkok Goals (เป้าหมายกรุงเทพฯ) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน ระยะ 5 ปี เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ นอกจากนั้น จะใช้กลไกสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันทางวิชาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกับหอการค้าทุกจังหวัด ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
“สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ซึ่งถือเป็นปีที่สำคัญของหอการค้าไทย ก่อตั้งครบ 90 ปีนั้น จะนำแนวทาง Connect Competitive และ Sustainable เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเปราะบาง แต่เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ โดยหอการค้าไทยคาดว่า GDP ไทยจะเติบโตได้ 3.5-4 % และภาคการส่งออกจะเติบโตได้ 3-5 % ภายใต้ความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของพวกเราทุกคน” นายสนั่น กล่าว
การจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ หอการค้าไทยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยวางแผนการจัดงานอย่างยั่งยืนตามแนวทางของ สสปน. โดยมีการคำนวณ Footprint ที่เลี่ยงได้จากการจัดงานใน 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การเดินทาง ส่วนตกแต่ง การใช้พลังงานไฟฟ้า และเอกสารแจกในงาน โดยสามารถ “เลี่ยง” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,599.54 กิโลกรัมคาร์บอน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 643 ต้น