
ถือเป็น “ดีลธุรกิจ” สุดร้อนแห่งปีที่ยังคงคาราคาซัง!
กรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อร่วมจัดตั้ง “บริษัทเทเลคอม-เทค” ที่จะผงาดเป็นธุรกิจชั้นนำในระดับภูมิภาคและทะยานสู่เบอร์ 1 ของตลาดโทรคมนาคมไทย
แม้ 2 ค่ายยักษ์จะยื่นเรื่องต่อ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” มาตั้งแต่ต้นปี 2565 จวบจนกระทั่งวันนี้ที่ผ่านมากว่า 6 เดือนแล้ว กสทช. ก็ยังไม่สามารถจะเคาะโต๊ะได้ ด้วยเผชิญแรงต้านจากนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคประชาชนที่มองว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะนำไปสู่การผูกขาด ลดการแข่งขัน ทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีแนวโน้มที่จะถูกมัดมือชกเอาเปรียบในทุกรูปแบบ
ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือ ซี.พี. และประธานกรรมการ บมจ.ทรูคอร์ป ระบุว่า ตามกฎหมายและประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการปี 2561 นั้น บริษัทสามารถที่จะดำเนินการควบรวมได้โดยไม่ขัดกฎหมาย กสทช.นั้น ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบเท่านั้น “การควบรวมไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ กสทช. จึงไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไข ซึ่งหากไม่เห็นชอบและจะโต้แย้งต้องไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการรายใดอยากจะไปถึงจุดนั้น”
ล่าสุด สำนักงาน กสทช. ระบุว่า เตรียมเสนอรายงานผลการศึกษากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ที่คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และที่ปรึกษาฯ ที่ กสทช. ว่าจ้าง เพื่อนำเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณาในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ท่ามกลางการจับตาของทุกฝ่าย กสทช. จะตัดสินอย่างไรกับเผือกร้อนที่ว่านี้

ทั้งนี้ ท่าทีและจุดยืนเบื้องต้นของ กสทช. แต่ละคนที่มีต่อเรื่องนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ระบุว่า ในการพิจารณากรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC กสทช. จะไม่ทำให้ยืดเยื้อ ส่วนจะมีการเปิดเผยรายงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับกฎหมาย ถ้ากฎหมายอนุญาต ก็น่าจะเปิดเผยได้ “พยายามจะไม่ให้ยืดเยื้อ และน่าจะมีการคำตอบในวันที่ 3 ส.ค. หรือไม่ก็วันที่ 10 ส.ค. โดยจะไม่ให้ยืดเยื้อ” ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าวและว่า ในการพิจารณาการรวมฯ กรรมการ กสทช. ทั้ง 5 คน ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกันทั้งหมด เพราะหากมีความเห็นกัน ก็คงไม่ต้องมานั่งอยู่ตรงนี้
“ถ้าทุกคนใน 5 คนนี้ มีความเห็นเหมือนกันหมด ก็ไม่ต้องมานั่งตรงนี้แล้ว มันต้องมีความหลากหลายในความคิด ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก ต่างคนต่างมีความเห็น เราเคารพซึ่งกันและกัน เราคุยกันด้วยเหตุและผล เพราะฉะนั้น ผมจึงได้พูดแต่ต้นๆ แล้วว่า “ไม่มีธง” เรามีถนนกฎหมาย ถนนผลประโยชน์ของประชาชน และการแข่งขันเสรี ซึ่งเป็นถนนที่ให้เราเดิน”

ด้าน ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. จะสรุปเรื่องราวทั้งหมดให้ กสทช. รับทราบในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ทั้งในส่วนรายงานความเห็นกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุด สรุปความคิดเห็นในการประชุม Focus Group และรายงานผลการศึกษาฯ ที่สำนักงาน กสทช. ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษา หลังวันที่ 3 ส.ค. เราเองก็ต้องใช้เวลาพิจารณา ส่วนจะนานเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสิ่งที่ได้รับมาก่อนจะประมวลข้อมูลทั้งหมด ส่วนความเห็นของกรรมการ กสทช. นั้น แต่ละคนมีความเห็นเป็นของตนเอง (individual) และเราทุกคนอาจไม่ได้เห็นตรงกับประธานฯก็ได้
ศ.ดร.พิรงรอง ได้กล่าวถึงนโยบายเกี่ยวกับการควบรวม (TRUE และ DTAC) ว่า กสทช.ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะเป็นหลักการที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ และทำให้เกิด กสทช. ขณะที่หลักการเหล่านั้น ก็คือ เรื่องประโยชน์สาธารณะ และเรื่องการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการของการปฏิรูปสื่อ “กสทช. ถูกกำกับโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ร.บ.ประกอบการกิจการกระจาย กิจการโทรคมนาคมฯ ทั้งหมดทั้งปวง จึงต้องอยู่ภายใต้เจตนารมณ์นี้ ทั้งเรื่องประโยชน์สาธารณะ และการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม”

ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นอนุกรรมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านเทคนิค กรณีควบรวม TRUE กับ DTAC ซึ่งมีการประชุมกันมาแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้งมีการจัด Focus Group 1 ครั้ง ซึ่งได้นำเสนอความเห็นต่อที่ประชุม กสทช. แล้วเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 ที่ผ่านมา ส่วนที่มีข่าวว่าคณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปความเห็นออกมาแล้วยืนยันว่า อนุกรรมการด้านด้านเทคนิคยังไม่ได้มีการโหวตอะไรเลย
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองตนการให้ความเห็นกรณีการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC คงต้องแล้วแต่กรรมการ กสทช. แต่ละท่านถ้า (มติ) ไม่เป็นเอกฉันท์ ก็ถือเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน “ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดที่จะบอกว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่ เพราะยังไม่ถึงจุดนั้น”

รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรศัพท์มือถือ หรือธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น เป็นธุรกิจพิเศษที่ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า market failure คือไม่สามารถให้ทุกคนเข้ามาแข่งขันในธุรกิจเหล่านี้ได้ ไม่เหมือนกับชายสี่หมี่เกี๋ยว หรือร้านก๋วยเตี๋ยวตามถนนที่ entry (เข้า) ง่าย Exit (ออก) ง่ายที่ไม่ต้องมีการกำกับ เพราะหากธุรกิจมีกำไรเกินไปปกติ ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วก็จะมีคนมากแข่ง แต่หากได้กำไรแบบพอดีๆ การแข่งขันก็จะอยู่ในระดับที่ OK
ดังนั้น เมื่อธุรกิจโทรคมนาคม เป็นธุรกิจที่ทุกคนไม่สามารถเข้ามาทำได้ คนที่จะเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้จะต้องเริ่มจากการประมูลก่อน และเราก็รู้อยู่ว่าธุรกิจนี้จะผูกขาดอยู่กับไม่กี่ราย บางอย่างมี 3 ราย หรือบางอย่างมี 4 รายบ้าง รัฐบาลจึงต้องพยายามเอา ”กำไรส่วนเกิน” กลับมา เพื่อ redistribute ให้กับประชาชนทั่วไป ส่วนจะเอามาได้เท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องพยายามทำให้การประมูลทุกครั้ง มีการแข่งขัน เพราะถ้าเขาไม่แข่ง มันยุ่ง หรือถ้ามีการฮั้วกัน ก็จ่ายรัฐบาลน้อย แล้วเข้ากระเป๋าตัวเองมากขึ้น อันที่สอง การกำกับเรื่องราคา ซึ่งขณะนี้ ตามกฎหมาย กสทช.ก็กำกับดูแลเรื่องราคาอยู่ แต่เราก็ต้องดูว่า ราคาที่เราจะให้เขาอยู่ตรงไหน
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวต่อว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ แม้ว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะเป็นธุรกิจที่มีรัฐให้กำไรกับเอกชนเป็นปกติ (normal profit) แต่เมื่อธุรกิจนี้มีการลงทุนสูงและมีต้นทุน ดังนั้นในการกำกับดูแล เราไม่สามารถทำให้ธุรกิจเหล่านี้มีลักษณะ achieve profit competition (บรรลุการแข่งขันด้านกำไร) ได้ แต่เราทำให้เกิด healthy competition ได้ อยู่ร่วมกันได้ มีผลประโยชน์ร่วมกันได้ และมีการพัฒนาในทางเทคโนโลยีได้ ไม่อย่างนั้น ถ้าแข่งขันกันไปสุด Floor เขาจะไม่มีเงินเหลือไว้พัฒนาเทคโนโลยีต่อไป
“อันนี้เป็นความยากของ กสทช. หรือผู้กำกับดูแล อย่าลืมว่า Digital economy ขณะนี้มันอยู่ที่ 15% ของจีดีพีโลก และประเทศไทยเองก็มีสัดส่วน Digital economy อยู่ที่ 15% ซึ่งใหญ่กว่าภาคเกษตรแล้ว เราจึงต้องดูแลตรงนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับการพัฒนาในการเกิด economic growth ซึ่งจุดยากมันอยู่ตรงนี้ แข่งกันไปตายก็ไม่ไหว แต่ว่าผูกขาดเลยก็ไม่ได้ นี่คือแนวทาง ที่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตอนนี้ผมตอบได้แค่นี้ และผมยังไม่กล้าฟันธงอะไร ขอดูความชัดเจนจากเอกสารของสำนักงาน กสทช. ที่ส่งมาก่อน ถ้าสำนักงานฯสรุปไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็ต้องมีการขอเอกสารเพิ่มเติม”