การเปิดรับข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงินลงทุนรวม 1.427 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการพิจารณาคักดเลือก ตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ (พีพีพี) ปี 2562 เปิดให้บริษัทเอกชนที่สนใจเข้ายื่นข้อเสนอในวันนี้ (27 ก.ค.) นั้น เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ หลังสิ้นสุดกำหนดการยื่นข้อเสนอปรากฏว่ามีกลุ่มเอกชนโผล่เข้ายื่นซองข้อเสนอเพียง 2 รายเท่านั้น โดยช่วงเช้าวันนี้ (27 ก.ค.65) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นข้อเสนอเป็นรายแรก โดยคาดว่า จะร่วมกับ กลุ่ม ช.การช่าง CK ที่ถือเป็นยักษ์รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ขณะที่ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลอปเมนต์ (ITD) และอินชอน ทรานซิส คอร์ปอเรชั่น เข้ายื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มที่ 2 ในนาม ITD Group โดย นายประคิน อรุโณทอง รองประธานบริหารสายงานธุรกิจก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ITD กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูล โดยมีบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟฟ้าเป็นพาร์ทเนอร์ และยืนยันความพร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการนี้ ส่วนกรณีที่ รฟม. มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือก และกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า การยกเลิกการประมูลในครั้งก่อนเป็นไปโดยมิชอบนั้น นายประคิณ ระบุว่า ไม่ขอออกความเห็นเกี่ยวกับปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการพิจารณา และกรณีที่คดีพิพาทที่ศาลปกครองมีคำตัดสิน เพราะไม่ต้องการก้าวล่วง โดยยืนยันการตัดสินใจเข้าประมูลครั้งนี้เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการพิจารณา ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ที่มี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นแกนนำนั้น มีรายงานว่า ได้ส่งหนังสือถึงประธาน รฟม. และคณะกรรมกการคัดเลือก เพื่อขอให้ชะลอการเปิดรับข้อเสนอไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้เข้าร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อขอให้สอบสวนกรณีการประมูลในครั้งนี้ ที่มีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาที่แตกต่างไปจากมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้าศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะกรรมการ และประกาศยกเลิกประมูลในครั้งก่อน ซึ่งเท่ากับต้องกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิม ขณะที่เกณฑ์ประมูลใหม่ของ รฟม. นั้น เห็นว่า กีดกัน ทำให้ผู้รับเหมาและเอกชนโดยทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ส่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนบางราย ทำให้บริษัทและอีกหลายบริษัทขาดคุณสมบัติ ซึ่งบริษัทได้ยื่นเรื่องร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เข้ามาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว บริษัทจึงขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าร่วมประกวดราคาโครงการนี้หากผลสอบสวนของดีเอสไอ และศาลมีความชัดเจนสำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาข้อเสนอ และดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป โดยเบื้องต้น รฟม. มีการกำหนดเปิดซองข้อเสนอเอกชนในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และตั้งเป้าลงนามสัญญาร่วมลงทุนภายในปี 2565