
เปิดพิรุธ! โครงการเดียวกันแต่ประมูลแตกต่างกันลิบลับ ขณะเดียวกันจับตาการเมืองแทรก แยก STECON รามือจากกลุ่ม BSR
ไขปมปริศนาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มสุดมาราธอน สร้างภาพรับเหมาแห่ซื้อซองประมูล เชื่อสุดท้ายยื่นได้ไม่เกิน 3 ราย หลัง รฟม. ชงสูตรพิสดารผนวกงานโยธาสายสีส้มตะวันตก กับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าเข้าเป็นโครงการเดียวกัน วงการรับเหมาแปลกใจ “นายกฯ ลุงตู่” รู้เต็มอกแต่น้ำท่วมปากเปิดทางทุนการเมืองกินรวบหรือไม่?
จ่อระอุแดดเรียกแขกให้งานเข้าอีกคำรภ..
กับโครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม วงเงิน 1.427 แสนล้านที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปัดฝุ่นขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง หลังจากต้องล้มการประมูลไปเมื่อต้นปี 64 โดยได้เปิดขายซองประมูลไปเมื่อปลาย 27 พ.ค.-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำหนดยื่นข้อเสนอวันที่ 25 ก.ค.ศกนี้ โดยมีบริษัทรับเหมาและผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า ทั้งในและต่างประเทศเข้าซื้อซองประมูลถึง14 รายนั้น
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา เปิดเผยว่า แม้จะมีผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้งไทยและต่างประเทศ เข้าซื้อซองข้อเสนอกันคึกคัก แต่เชื่อแน่ว่า ด้วยข้อกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคที่ รฟม.กำหนดให้บริษัทรับเหมาที่จะยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างงานโยธา 3 ด้าน กับหน่วยงานรัฐบาลไทยในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการวิพากษ์อย่างหนักว่า มีการล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้งหรือไม่ เพราะทั่วทั้งโลกมีกลุ่มทุนรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ด้านอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คือ กลุ่ม ช.การช่าง (CK) และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนท์ (ITD) จึงเชื่อว่า สุดท้ายแล้วจะเหลือผู้เข้ายื่นซองประมูลไม่เกิน 3 ราย
“กลุ่มรับเหมายักษ์อย่าง ITD นั้น เป็นที่รับรู้กันดีว่า แม้จะมีคุณสมบัติครบ สามารถดึงโอปอเรเตอร์ในเมืองไทยเข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้หากต้องการได้โครงการนี้ แต่กลุ่มดังกล่าวก็หันไปดึงโอปอเรเตอร์จากสิงคโปร์และเกาหลีแทน ขณะที่รับเหมายักษ์จากจีนและญี่ปุ่นแค่หวังส้มหล่นจากกลุ่มที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่จะดึงเข้าไปร่วมเป็น sub-contract เท่านั้น แต่สุดท้ายจะเหลือกลุ่มรับเหมาเข้ายื่นข้อเสนอได้ไม่เกิน 3 รายเท่านั้น”

พิลึก! สายเดียวกันแต่ประมูลต่างกัน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ต้องล้มลุกคลุกคลานนั้น เป็นเพราะกระทรวงคมนาคมและ รฟม.มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินโครงการจากที่ควรต้องเปิดประมูลก่อสร้างตามปกติแบบรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก มาเป็นการผนวกเอาสัมปทานเดินรถไฟฟ้า 30 ปีเข้ามาอยู่ภายใต้สัญญาเดียวกัน โดยอ้างสถานะการเงินทำให้ต้องดึงเอกชนเข้ามาก่อสร้างให้ก่อน และรัฐจะทยอยจ่ายคืนในภายหลัง จึงทำให้มีโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม กลายเป็นโครงการสุดพิลึกที่โครงการเดียวกัน แต่มีการประมูลแตกต่างกัน โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออกระยะทาง 22.5 กม.วงเงิน 79,000 ล้านบาท รฟม.แยกเนื้องานออกเป็น 6 สัญญาและเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาก่อสร้างไปเมื่อต้นปี 60 ปัจจุบันคืบหน้าไปกว่า 90-95% แล้ว จะแล้วเสร็จในปี 65-66 นี้
ขณะที่สายสีส้มตะวันตกนั้น รฟม.กลับไม่มีการแยกเนื้องานออกมาประมูล และยังผนวกเอาสัมปทานเดินรถไฟฟ้า 30 ปีเข้าไปรวมด้วย โดยบริษัทรับเหมาเอกชนที่ชนะประมูลสายสีส้มตะวันตกจะได้สัมปทานเดินรถ 30 ปีไปด้วย ก่อนจะมีความพยายามกำหนดเงื่อนไขสุดพิสดารออกมา เพื่อหวังประเคนให้กลุ่มทุนการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองได้ไป ทำให้เกิดปัญหาถูกฟ้องร้องคาราคาซังจนกระทั่งปัจจุบัน
“หาก รฟม. แยกเนื้องานก่อสร้างออกมาประมูล 2-3 สัญญา และแยกสัมปทานเดินรถไฟฟ้าออกมาประมูลเป็นเอกเทศ เชื่อแน่ว่า จะทำให้โครงการเดินหน้าไปได้เร็วกว่านี้ ป่านนี้คงได้บริษัทผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าไปแล้ว คงไม่เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”
จับตาการเมืองบีบ STECON รามือ !
นอกจากการกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคสุดพิสดาร ที่ทำให้ผู้รับเหมาทั่วทั้งโลก แม้แต่เจ้าของเทคโนโลยีขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินที่คิดจะเข้ามาประมูลโครงการนี้ก็ยากจะฝ่าด่านหินของ รฟม.เข้าประมูลได้แล้ว
แหล่งข่าวในวงการรับเหมา ยังเปิดเผยว่า ผู้มากบารมีรายหนึ่งที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง “ผลประโยชน์ก้อนโต” และอยู่เบื้องหลังการจัดฮั้วประมูลในครั้งนี้ โดยดอดเจรจากับบริษัทรับเหมาที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของยักษ์รับเหมาที่จะเข้ามาเป็น “คู่เทียบ” ในการประมูล และกลุ่มรับเหมา เครือข่ายของนักการเมืองใหญ่ที่แต่เดิมเคยร่วมประมูลอยู่ในกลุ่ม BSR ที่มี บมจ.บีทีเอส (BTS) เป็นแกนนำให้รามือ เปิดทางให้กับการประมูลครั้งนี้
“หากเป็นการประมูลปกติ เชื่อแน่ว่า กลุ่มรับเหมาที่เคยประมูลร่วมกับกลุ่ม BSR และเคยผ่านเกณฑ์คุณสมบัติด้านเทคนิคมาก่อน อย่างบริษัท STECON นั้น หากถูกพิจารณาปรับตกคุณสมบัติด้านเทคนิค ก็เชื่อแน่ว่า คงจะร้องแรกแหกกระเชอ หรือถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลแบบที่ บมจ.บีทีเอส เคยดำเนินการไปแน่ แต่ในการประมูลระลอกใหม่นี้ ขอให้จับตาดูท่าทีของกลุ่มรับเหมานี้ว่าจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือสมยอมไปกับ รฟม.”

ลับ ลวง พราง สายสีม่วงใต้
ส่วนข้ออ้างของ รฟม.ที่ว่า การประมูลสายสีส้มตะวันตก ยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ วงเงิน 1.1 แสนล้าน (งานโยธา 82,000 ล้านบาท) ก่อนหน้า ซึ่งมีข้อกำหนดด้านเทคนิคที่ผู้รับเหมาต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ที่เป็น Local content เช่นเดียวกับโครงการนี้ แต่ไม่เห็นมีปัญหา โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในข้อเท็จจริง แม้ รฟม. จะกำหนดเงื่อนไขด้านเทคนิคที่เป็น Local content แต่ก็ยินยอมให้ใช้ผลงานที่ผ่านการตรวจรับเรียบร้อยแล้วได้ ทั้งยังกำหนดเกณฑ์การพิจารณาด้านเทคนิคแต่ละด้านไว้เพียงไม่ต่ำกว่า 80% และมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 85% เท่านั้นผิดกับโครงการนี้ แต่กระนั้นก็ทำให้มีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพียง 3-4 รายเท่านั้นจากเนื้องานโครงการที่มีการซอยเนื้องานออกมาประมูลถึง 6 สัญญา จึงทำให้โครงการดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์อย่างหนักว่า มีการฮั้วประมูล เพราะผลประมูลที่ได้นั้นต่ำกว่าราคากลางไปเพียง 106 ล้านบาทเท่านั้น จากมูลค่างานโยธาที่สูงกว่า 82,000 ล้านบาทหรือ 0.08% เท่านั้น
ชณะที่โครงการสายสีส้มส่วนตะวันตกยังเพิ่มดีกรีข้อกำหนดด้านเทคนิคสูงขึ้นไปอีก โดยกำหนดให้ผู้รับเหมาที่จะเข้าร่วมประมูล ต้องมีประสบการณ์ก่อสร้างงานโยธากับรัฐบาลไทยในรอบ 20 ปีมานี้ถึง 3 ด้าน และยังเพิ่มเกณฑ์การพิจารณาคะแนนด้านเทคนิคสูงขึ้นไปอีก โดยกำหนดให้ต้องผ่านแต่ละหัวข้อ 85% และต้องมีคะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 90% ซึ่งทั่วทั้งโลกนั้นมีกลุ่มรับเหมายักษ์เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ดังกล่าวคือกลุ่ม ช.การช่าง(CK) และบมจ.อิตาเลียนไทยฯ(ITD)
ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหาร รฟม. ได้ออกมายืนยันว่า การกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคแต่ละด้านนั้น มีผู้รับเหมาทั้งไทย-เทศ ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวนับสิบราย แต่เมื่อพิจารณาย้อนไปดูการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ที่ รฟม. เพิ่งดำเนินการไปไม่ถึง 3 เดือนนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า
แม้จะกำหนดคุณสมบัติด้านเทคนิคเอาไว้ต่ำกว่าสายสีส้มตะวันตก และเปิดกว้างมากกว่า โดยยินยอมให้ใช้งานก่อสร้างที่มีการตรวจรับเรียบร้อยแล้วได้ (แม้ยังไม่เปิดให้บริการ) แต่กระนั้นทั่วทั้งโลกก็มีผู้รับเหมาไทยเพียง 3-4 รายเท่านั้นที่มี่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ประมูล เมื่อ รฟม.ปรับเพิ่มดีกรีด้านเทคนิคสายสีส้มตะวันตกขึ้นไปอีก ก็ยิ่งจะทำให้มีกลุ่มทุนรับเหมาที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เหลือน้อยลงไปอีก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกลุ่มผู้รับเหมาจากต่างประเทศเข้ามาร่วมประมูลได้
“คำชี้แจงของฝ่ายบริหาร รฟม. ต่อผู้คนในสังคม และคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ACT) จึงย้อนแย้งในตัวเองอย่างชัดเจน เรื่องอัปยศเหล่านี้ ใช่ว่านายกฯ ลุงตู่ จะไม่ล่วงรู้ เพียงแต่ไม่สามารถจะทำอะไรได้ เพราะเกรงใจพรรคการเมืองใหญ่ที่ค้ำเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ จึงได้แต่ “น้ำท่วมปาก” เปิดทางให้กลุ่มทุนการเมืองกินรวบโครงการนี้”