
ย้อนรอยดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ “ทรู-ดีแทค" หลังกลุ่มทุนยักษ์ซีพี พลิกตำราควบรวมตามรอยค้าปลีก ค้าส่ง ด้าน กสทช.รักษาการ เด้งรับเร่งรัดกระบวนการพิจารณา สุดอึ้ง! จ้างที่ปรึกษาอิสระทำความเห็นแค่ 1 เดือน หวังปิดเกมควบรวมก่อน กสทช.ชุดใหม่รับหน้าที่ สุดท้ายต้องปิดเกม หลังโปรดเกล้าฯ กสทช.ชุดใหม่ เข้ามารับไม้ต่อ วงในเชื่อเกมพลิกแน่!
กำลังเดินมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้ง สำหรับ “ดีล” ควบรวมกิจการโทรคมนาคม “ทรูและดีแทค” ที่เป็นประเด็นสุดฮอต เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมตลอดข่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา หลังสองผู้บริหารทรูและดีแทค ประกาศความร่วมมือในการควบรวมกิจการที่จะนำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.64
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของนักวิชาการจากทุกภาคส่วนและภาคประชาชน ที่เห็นว่า ดีลควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศอย่างรุนแรง จนถึงขนาดที่อาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศรวม 87 คน ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตรวจสอบการควบรวมกิจการ “ทรู -ดีแทค” อย่างเข้มข้น
โดยระบุว่า หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ จะเหลือผู้ให้บริการในตลาดเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย ถือเป็นระดับการกระจุกตัวที่เข้มข้นที่สุดที่เชื่อว่า น่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวมทั้งปัจจุบันและใอนาคตอย่างรุนแรง
ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษาและตรวจสอบ กรณีการควบรวมกิจการทารคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค และกรณีควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อนหน้าว่า เป็นการดำเนินการที่ขัดบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อสภาพการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 90 วัน แต่ก็ไม่สามารถจะทัดทานเส้นทางการควบรวมกิจการทรูและดีแทคที่ว่านี้ได้ สองบริษัทสื่อสารยังคงเดินหน้าเจรจาควบรวมกิจการ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานแต่อย่างใด ทั้งยังได้เร่งรัดกระบวนการควบรวมกิจการ โดยได้ยื่นเรื่องขออนุมัติควบรวมกิจการตามประกาศ กสทช.นับแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา

กสทช.กับการลดทอนอำนาจตนเอง!
แม้ดีลควบรวมกิจการทรูและดีแทคดังกล่าว จะถูกนักวิชาการจากทุกภาคส่วน รวมทั้งกระแสสังคมรุมคัดค้านอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะกรณีเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลได้เข้ามาตรวจสอบกรณีควบรวมกิจการในครั้งนี้อย่างเข้มข้น แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กลับออกตัว โดยยืนยันว่า ไม่สามารถก้าวล่วงลงไปพิจารณากรณีดังกล่าวได้ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
แต่เมื่อสแกนลงไปพิจารณากฎหมายและเครื่องไม้เครื่องมือขององค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. โดยตรง ที่แม้จะถอดรูปแบบมาจากกฎหมายแข่งขันทางการค้า และมีกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมนับสิบฉบับ แต่กลับพบว่า กสทช.กลับออกตัวว่า ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณายับยั้งกรณีควบรวมกิจการโทรคมนาคมทรู-ดีแทคได้ นอกจากการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เท่านั้น โดยอ้างว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมปี 2561 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประกาศที่ กสทช.แก้ไข และยกเลิกประกาศ กสทช.เดิม ปี 2553 นั้น ได้จำกัดอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ให้เหลืออยู่เพียง “รับทราบ” การควบรวมกิจการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. แจ้งมาเท่านั้น ไม่สามารถจะทัดทานหรือสั่งห้ามได้ แม้การควบรวมกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดและจำกัดการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็ตาม
ผลพวงจากประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่เป็นการปรับปรุงประกาศเดิมของตนเองให้มีความรัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น แต่กลับตัดแขนขาของตนเองลงไปนั้น ทำให้กระแสสังคม และนักวิชาการจากทุกภาคส่วนจึงต่างออกโรงเรียกร้องให้ “กสทช.ชุดใหม่” ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และที่ประชุมวุฒิสภาได้โหวตให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี 2564 ได้เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลและพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้อย่างเป็นรูปธรรม

สุดอึ้ง! จ้างที่ปรึกษาอิสระแค่ 1 เดือนปิดดีล
น่าแปลก! แม้ที่ประชุมวุฒิสภา จะลงมติให้ความเห็นชอบ กสทช.ชุดใหม่ ตามที่สำนักงานเลขาธิการ วุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหาฯ ได้นำเสนอรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการสรรหาให้เป็น กสทช.ชุดใหม่ ไปตั้งแต่ปลายปี 64 ไปแล้ว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 5 ใน 7 รายชื่อ กสทช.ชุดใหม่เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที
ก่อนที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเชิญว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ มาประชุมเพื่อคัดเลือกกันเองเป็นประธาน กสทช. และได้แจ้งรายชื่อว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ มายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งนั่นหมายความว่า กสทช.รักษาการ ที่เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการแก้ไขประกาศ กสทช.ที่ว่าด้วยการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการควบรวมกิจการ ไม่ควรจะไปพิจารณาเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศได้อีก แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาโม่แป้งเอง
แต่กลับปรากฏว่า ระหว่างรอ กสทช.ชุดใหม่ กลับมีเรื่องพิสดารเกิดขึ้นเมื่อมี “มือที่มองไม่เห็น หรือ Invisible Hand” ล้วงลูกเข้ามาสอดแทรกกระบวนการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ที่ว่านี้ โดยยังคงส่งสัญญานไปยัง กสทช.ชุดเดิม ที่ได้เก็บข้าวของออกจากสำนักงาน กสทช.ไปแล้ว ให้กลับมาทำหน้าที่อยู่ต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ กสทช.ชุดใหม่ ลงมา โดยที่ประชุม กสทช.ชุดรักษาการ ได้จัดประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 โดยรักษาการประธาน กสทช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้ทำหน้าที่ต่อไปเนื่องจากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯกรรมการ กสทช.ชุดใหม่
ก่อนที่ในอีกสัปดาห์ต่อมา (9 ก.พ.65) ที่ประชุม กสทช.จะพิจารณากรณีการยื่นขอควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และมีมติแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาอิสระ” ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำรายงานความเห็นต่อการควบรวมภายใน 30 วัน ตามประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
17 มี.ค.65 ที่ปรึกษาอิสระที่ กสทช. ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาจัดทำความเห็นประกอบได้จัดส่งรายงานความเห็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทคต่อสำนักงาน กสทช. แต่อนุกรรมการ กสทช.เห็นว่า รายงานของที่ปรึกษายังขาดความสมบูรณ์และครอบคลุม จึงสั่งให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม พร้อมว่าจ้าง จุฬาฯจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์กรณีการควบรวมทรู-ดีแทคอีกฉบับเพื่อประกอบความเห็น จึงทำให้เส้นทางปิดดีลควบรวมที่วางเกมกันเอาไว้ก่อนหน้าเดินมาถึง ”จุดพลิกผัน”ที่ไม่อาจจะเร่งรัดปิดดีลควบรวมได้ทัน
ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศสำนักนายกฯเรื่องการแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า กสทช.ชุดใหม่จะมีการดึงเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณากันใหม่ยกกระบิ และน่าจะสั่งให้มีการศึกษาข้อกฎหมายกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในเรื่องนี้กันใหม่
“น่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.จัดจ้างที่ปรึกษาอิสระขึ้นดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำความเห็นประกอบการขออนุมัติควบรวมกิจการในครั้งนี้ และใช้เวลาดำเนินการศึกษา จัดทำความเห็นเพียง 1 เดือนเท่านั้นก็ส่งรายงานต่อสำนักงานกสทช.แล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่มีผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศในภาพรวม แต่ที่ปรึกษาอิสระกลับสามารถเร่งรัดดำเนินการศึกษาและนำเสนอรายงานได้ภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น ก่อนที่อนุกรรมการ กสทช.จะตีกลับให้ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม ทำให้เห็นถึงความรีบเร่งกระบวนการควบรวมกิจการดังกล่าวที่หวังจะปาดหน้าเค้ก เร่งรัดกระบวนการควบรวมกิจการให้แล้วเสร็จก่อนที่ กสทช.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.ใหม่ลงมา กระบวนการควบรวมที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้คงจะต้องถูกดึงกลับมาพิจารณากันใหม่ และสำนักงาน กสทช.คงจะมีการรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.ชุดใหม่อีกครั้ง เพื่อขอรับนโยบายใสนเรื่องนี้ แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่า กสทช.ชุดใหม่คงจะไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุนการเมืองที่หวังจะยืมมือเพื่อให้ไฟเขียวการควบรวมกิจการไปได้ง่าย ๆ ได้ แต่เชื่อว่าหากจะอนุมัติควบรวมจริงจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขก่อนการควบรวมที่เข้มงวดตามมาแน่ เพื่อจะไม่ผิดพลาดเช่นกรณีที่บอร์ด กขค. อนุมัติการควบรวมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งไปก่อนหน้านี้!
