
ระอุแดดขึ้นมาเป็นทอล์ก ออฟ ทาวน์ ทันที..
กับคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการบุกรุกป่าเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่ใน จ.ราชบุรี

โดยศาลฎีกา มีคำพิพากษาว่า น.ส.ปารีณา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ 25 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ศาลฎีกาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี
เป็นคำพิพากษาที่ถือเป็นการ “ประหารชีวิต” ทางการเมือง ที่กำลังสร้างบรรทัดฐานให้ทุกฝ่ายลุกขึ้นมาตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของข้าราชการและนักการเมืองน้อยใหญ่ที่อยู่ในข่ายครอบครองที่ดิน สปก. และมีคดีรุกที่ป่าสงวนในลักษณะเดียวกันอีกนับ 10 ราย โดยเฉพาะกรณีการถือครองที่ดิน “เขากระโดง” กว่า 5,000 ไร่ ที่มีนักการเมืองผู้มากบารมีแห่งจังหวัดบุรีรัมย์เข้าไปเกี่ยวโยงโดยตรง
เพราะแม้จะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาพิพากษาที่ดินเจ้าปัญหามาเป็น 10 ปี ว่าที่ดินอื้อฉาวผืนนี้เป็นที่ดินหวงห้าม ห้ามออกโฉนดเพราะเป็นที่ดินเวนคืนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่จนถึงวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฯ และกรมที่ดิน กลับยังคง “ซื้อเวลา” เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว และต่าง “โยนกลอง” กันไปมา สร้างความกังขาให้แก่ผู้คนทั้งประเทศเกิดอะไรขึ้นกับที่ดินเจ้าปัญหาผืนนี้

ย้อนรอยเผือกร้อนที่ดิน “เขากระโดง”
14 ก.ย.2554 ประธานกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือที่ ปช.0018/1085 ถึงผู้ว่าการรถไฟฯ เรื่อง ให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ (ตามหนังสือที่ส่งมาด้วย1) ของโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 (นายชัย ชิดซอบ ผู้ขอออกโฉนด) และโฉนดเลขที่ 8564 (นางกรุณา ชิดชอบ) ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีมติว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนด จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้ายกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมาลกภูหมายที่ดินมาตรา 61 ตาม พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 99
13 มี.ค.2557 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มีคำพิพากษาในคดีที่ราษฎรจำนวน 35 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟฯ และกรมที่ดิน เพื่อขอออกโฉนดที่ดินครอบครองที่ซื้อต่อมาจากนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ โดยศาลได้มีคำสั่งยกฟ้อง และระบุว่า ที่ดินพิพาทเป็นของการรถไฟฯ ให้โจทก์ทั้ง 35 ราย รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และย้ายบริวารออกจากที่ดิน กับให้ส่งมอบที่ดินคืนให้การรถไฟฯ
6 ก.พ.2560 ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืน (ฎีกาที่ 842-876/2560) คดีที่ราษฎร 35 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องการรถไฟฯ และกรมที่ดิน เพื่อขอรังวัดออกโฉนดที่ดินที่ซื้อต่อมาจากนายชัย ชิดชอบ โดยศาลมีคำพิพากษาว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินการรถไฟที่สงวนหวงห้ามเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3 (2) (11) และได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 6 (12) ตาม พ.ร.บ.จัดวางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464
ห้วงเวลาเดียวกันนั้น มีการตรวสอบที่ดินบริเวณเขากระโดงที่ถูกบุกรุกครอบครอง รวมทั้งมีการออกเอกสารการครอบครองไปแล้วกว่า 850 แปลง เนื้อที่ดินกว่า 5,083 ไร่
23 ก.พ.2560 นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ มีคำสั่งให้ฝ่ายกฎหมายการรถไฟฯ ดำเนินการฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ (โฉนดจำนวน 2 แปลง และ น.ส.3 จำนวน 1 แปลง) ของราษฎร 4 ราย กระทำละเมิดต่อการรถไฟฯ ได้รับความเสียหายไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้
6 ส.ค.2562 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ มีคำพิพากษาในคดีที่การรถไฟฯ ฟ้องราษฎร 4 ราย กระทำละเมิดต่อการรถไฟฯ ได้รับความเสียหาย ไม่อาจนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าได้ โดยพิพากษาว่า การรถไฟฯ เป็นเจ้าของของที่ดินพิพาททั้งหมด เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ที่ดินพิพาทขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟ แม้โจทก์จะไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทนานเพียงใด ก็หาได้ทำให้ที่ดินของโจทก์ขาดสภาพไปจากที่ดินรถไฟ จึงถือว่าการที่จำเลยทั้ง 4 ครอบครองที่ดินโจทก์อยู่เป็นการกระทำที่จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยทั้ง 4 คนครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อยู่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งหมดได้ ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้การรถไฟฯ ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯ

10 ปี เพิกถอนโฉนดเจ้าปัญหาไม่ได้
16-19 ก.พ.2564 ฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ปมครอบครองที่ดินเขากระโดงว่า จงใจ บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้องไม่คำนึงถึงผลเสียแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลย สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริตไม่ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีมีการบุกรุก ครอบครอง ทำประโยชน์ ตลอดจนออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ของการรถไฟโดยมิชอบ อีกทั้งจงใจละเว้นไม่บังคับคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 10 ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ การรถไฟฯ และกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกบนที่ดินการรถไฟฯ ซึ่งไม่อาจจะออกเอกสารครอบครองใด ๆ ได้นั้น ยังคงไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ อย่างเป็นรูปธรรม
23 มิ.ย.2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ทำหนังสือที่ รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน (นายนิสิต จันทร์สมวงศ์) ขอให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่
27 ก.ค.2564 อธิบดีกรมที่ดิน กลับมีหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2/15527 ลงวันที่ 27 ก.ค.2564 ตอบกลับไปยังผู้ว่า รฟท.สรุปได้ 3 ประเด็นได้แก่
ประเด็นแรก กรณีที่ดินที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842-872/2560 และที่ 8027/2561 ว่า ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 194 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่มีราษฎรได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.1 และมีหลักฐาน น.ส.3 นั้น กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาดำเนินการเพิกถอน ส.ค.1 และ น.ส.3 แล้ว
ประเด็นที่สอง กรณีขอให้กรมที่ดินเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินทุกแปลงที่ออกในพื้นที่ของ รฟท. เนื้อที่ 5,083 ไร่นั้น กรมที่ดินขอให้ รฟท. ส่งแผนที่แนบท้าย พรฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ พ.ศ.2464 ให้กรมที่ดินเพื่อให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะดำเนินการเพิกถอนต่อไป
ประเด็นที่สาม กรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 3466, 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 44 ไร่ (ที่ดินของตระกูลชิดชอบ) กรมที่ดินขอให้ รฟท.ฟ้องศาลฯ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดทั้ง 2 แปลงตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดเนื่องจากกรมที่ดินไม่ใช่ผู้เสียหาย
20 ส.ค.2564 ผู้ว่าฯ รฟท.มีหนังสือที่ รฟ 1/2291/2564 ลงวันที่ 20 ส.ค.2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดินอีกครั้ง ระบุว่า กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466,8564 นั้น รฟท.ยืนยันว่า กรมที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของรฟท. ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 เนื่องจากการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงดังกล่าว เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินของรฟท.ดังกล่าว
ส่วนกรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้การรถไฟฯ เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 นั้น รฟท.ขอเรียนให้ทราบว่า คำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีที่กรมที่ดินได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ซึ่ง รฟท. ไม่ทราบว่า กรมที่ดินได้หารือประเด็นใดบ้าง รวมถึงจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยเพียงใด
อย่างไรก็ดี รฟท.ได้นำคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินที่สันนิษฐานว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. เป็นกรณีที่ประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ออกโดยทางราชการและอาศัยอยู่ในที่ดินตามเอกสารสิทธิ์โดยสุจริต รฟท.จึงไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับประชาชนผู้ถือเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยทางราชการ แต่จะดำเนินการ โดยมุ่งเน้นพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
เมื่อกรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎร และให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และมีข้อเท็จจริงปรากฏตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังข้างต้น ทำให้ รฟท. เชื่อได้ว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดง เกิดจากเจ้าพนักงานที่ดินที่ย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น รฟท.จึงยืนยันขอให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่โดยพิจารณาการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ต่อไป

รถไฟ-กรมที่ดิน โยนเผือกร้อนกันให้วุ่น
14 ก.ย.2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ผ่าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เพื่อขอให้เร่งรัดกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกทับซ้อนที่ดินของ รฟท. บริเวณเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่
27 ก.ย.2564 นายอำนวย พิณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการออกหนังสือสำคัญ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือที่ มท 0516.2/19328 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 ไปยังประธาน สร.รฟท. แจ้งผลดำเนินการของกรมที่ดิน กรณีที่ รฟท.ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยระบุว่ากรมที่ดินยอมรับว่า ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 เป็นที่ดินของ รฟท. ตามแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของการรถไฟ และแผนที่แสดงเขตที่ดินรถไฟบริเวณเขากระโดง ตามพระราชโองการเมื่อปี 2462 ดังนั้นจึงอยู่ในกรอบอำนาจที่กรมที่ดินจะพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
ในส่วนการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 นั้น กรมที่ดิน ได้แจ้งไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ให้ดำเนินการจำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 209 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานในการออกโฉนดที่ดินออกจากทะเบียนการครอบครองดินเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่การดำเนินการคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 กรมที่ดินได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการกับที่ดิน น.ส.3 ข. เลขที่ 200 หมู่ที่ 9 (ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 13) ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งศาลพิพากษาว่าบางส่วนออกทับที่ดินของการรถไฟตามมาตรา 61 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ
กรมที่ดินไม่กล้าแตะโฉนด “ชิดชอบ”
กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ (ที่ดินตระกูลชิดชอบ) ซึ่ง รฟท.แจ้งให้กรมที่ดินตรวจสอบว่าเป็นการออกโฉนดที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถหาแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 มาประกอบการพิจารณาได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการสำรวจเสร็จแล้ว และมีการสงวนหวงห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตต์สร้างรถไฟต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี พ.ศ.2462
อีกทั้ง กรมที่ดิน ไม่สามารถนำแผนที่ที่ดินที่ใช้ในการพิจารณาของศาล ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 842-876/2560 และที่ 8027/2561 มาใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ กรมที่ดินจึงไม่สามารถเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงได้
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวกรมที่ดินได้หารือแนวทางปฏิบัติไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวจะต้องให้หน่วยงานที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐ คือการรถไฟฯฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงเอง
พร้อมกันนี้ กรมที่ดินยังได้แนะนำทางออกในการแก้ไขปัญหาในกรณี รฟท. ไม่มีแผนที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2464 โดยกล่าวอ้างว่า ได้ใช้แผนที่แสดงเขตการรถไฟฯดังกล่าว เป็นเอกสารหลักฐานที่ใช้ยื่นต่อศาลในการสู้คดีนั้น หาก รฟท. ยืนยันว่าแผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลดังกล่าว เป็นแผนที่ที่มีความถูกต้องรฟท.สามารถถ่ายทอดแนวเขตลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ ที่กรมที่ดินจัดส่งให้ รฟท. และรับรองความถูกต้องได้เช่นกัน เพื่อที่กรมที่ดินจะได้จัดส่งระวางแผนที่ดังกล่าวไปให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า ที่ดินแปลงใด ต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งแปลงหรือบางส่วน
ต.ค.2564 กรมที่ดินได้ส่งหนังสือฉบับที่ 2 ตอบกลับมายัง รฟท. โดยยืนยันให้ รฟท. ฟ้องศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงเอง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. พร้อมทั้งยืนยันว่า กรมที่ดินจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินตามที่ รฟท.ร้องขอมา
26 ม.ค.2565 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องขอให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะจากกการติดตามการดำเนินการตามคำพิพากษาพบว่า นับตั้งแต่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ดินบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ที่ไม่อาจออกเอกสารสิทธิ์ให้บุคคลใดครอบครองได้นั้น พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรถไฟฯเองยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด
5 เม.ย.2565 เลขาธิการ ป.ป.ช. หารือกรมที่ดินเรื่องการเพิกถอนหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อสรุปว่า ปัญหาความล่าช้าในการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินของการรถไฟ ซึ่งกรมที่ดินได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หาแนวทางแก้ไขเพื่อเพิกถอนให้โดยเร็ว
ทั้งหมดคือ ความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง 2 แปลงที่มีการเกี่ยวพันกับนักการเมืองตระกูลดัง “ชิดชอบ”ที่ชี้มูลความผิดและสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบไปแล้ว เมื่อ 5 ปีก่อน
แต่ผลไต่สวนของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาล กลับกลายเป็นแค่ “การสั่งขี้มูก” ไร้ความศักดิ์สิทธิ์ไปแล้วในเวลานี้หรือไม่?
เพราะหน่วยงานรัฐทั้งกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย และการรถไฟฯ ยังคงตีกรรเชียง เลี่ยงบาลี ชิ่งหนี “เผือกร้อน” โฉนดที่ดินเขากระโดงที่ว่านี้ และต่างก็โยนลูกกันไปมาว่า อำนาจในการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงนั้น เป็นอำนาจของอีกหน่วยงาน ผิดกับที่ดินของ “นางสมพร และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เหลือกำลัง ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดูจะขมักเขม่นให้ความสำคัญกับการไล่เบี้ยเอาผิดชนิดที่สังคมเองยังต้องตั้งข้อกังขาว่า
เป็นการมุ่งหวังเพื่อสนองทุนการเมืองมากกว่าหลักการทางกฎหมายหรือไม่???