
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และสิ่งแวดล้อม (Circular Economy) ระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หอการค้าจังหวัดกระบี่ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และมูลนิธิกระบี่ยั่งยืน ในการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งเป้าหมายนำร่องโมเดลต้นแบบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยใช้แนวทางในการจัดการขยะอาหาร และขยะพลาสติก ผ่านกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) การลดปริมาณของเสียหรือให้เป็นศูนย์ 2) การใช้วัตถุดิบที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) การออกแบบสินค้าให้เกิดการนำมาใช้ซ้ำ หรือใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4) การมีระบบบริหารจัดการของเสียที่มีประสิทธิภาพอย่างครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศของรัฐบาลตามแนวทาง BCG Bio-Circular-Green Economy

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มตื่นตัวและให้ความสนใจกับการทำธุรกิจที่เน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาสนใจในประเด็นนี้ และกำหนดเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ ซึ่งไทยเองต้องปรับตัวให้ทัน เพราะหลายมาตรฐานการค้าในอนาคตจะเชื่อมโยงต่อการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวนำมาซึ่งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ขยะล้นเมือง สุดท้ายปัญหาเหล่านี้จะกลับมากระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ต้องอาศัยและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหันกลับมาใส่ใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดตั้งสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค (Circular Economy Academy for Entrepreneurs and Consumers) ในการส่งเสริมองค์ความรู้ เผยแพร่แนวคิด พัฒนาเครือข่าย และสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงพัฒนาชุดเครื่องมือและหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับสมาชิก ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้าน นายยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย กล่าวเสริมว่า ประเด็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจและได้พิสูจน์แล้วว่าการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ หอการค้าฯ จึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเครือข่ายสมาชิก กว่า 100,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาคการค้า การลงทุน ภาคการเกษตร-อาหาร และภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยจะรณรงค์ให้ผู้ประกอบการและสมาชิกนำโมเดลต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กรต่าง ๆ มาปรับใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ ในปี 2565 หอการค้าไทยยังมีแผนที่จะขยายผลโมเดลดังกล่าว ไปยังภาคธุรกิจการค้าและบริการในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาภาคการท่องเที่ยวไทย ให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป