
“ศักดิ์สยาม” ยันคมนาคมเดินหน้าค้านต่อขยายสัมปทานบีทีเอส ขณะวงในแฉเบื้องหลังคมนาคมขวางลำสุดลิ่ม แค่หวังบีบเอกชนรามือประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม -ถอนฟ้องคดีความ รฟม. ลุ้นระทึกคดีทุจริต หลังศาลปกครองชี้ขาดแก้ไขเกณฑ์ประมูลไม่ชอบด้วยกฏหมาย แต่ยกฟ้องเหตุยังไม่ทำให้เอกชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลื่อนวาระการพิจารณาแปลงสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSG บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอออกไปก่อนว่า ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และ ครม. ที่เข้าร่วมประชุม ที่ทำให้ได้มีการเปิดโอกาสรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในการให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจง ซึ่งในส่วนกระทรวงคมนาคมได้ตั้งข้อสังเกตให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล เพราะหลายประเด็นทาง กทม. ยังทำไม่รอบด้านและครบถ้วน
“การที่ 7 รมต.ของพรรคภูมิใจไทย แสดงออกชัดเจนไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ก็เนื่องจากไม่เห็นด้วยต่อกระทรวงมหาดไทยที่มีการเสนอขอขยายสัญญาสัมทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่การดำเนินการต่างๆ ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการไม่เข้าร่วมประชุม ครม. ก็แสดงออกชัดว่าค้าน ไม่อยากให้ต้องเมื่อเข้าร่วมประชุมแล้วไปถกเถียงกันใน ครม. ให้เป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อไม่เห็นด้วย”

แฉเงื่อนงำคมนาคมขวางสุดลิ่ม!
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ข้อเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่จะนำไปสู่การต่อขยายสัญญาสัมปทานออกไปอีก 30 ปีนั้น เป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับบีทีเอสโดยเร็ว ก่อนจะได้ข้อยุติที่จะให้ต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอส จำนวน 30 ปี แลกกับการให้เอกชนต้องรับภาระหนี้ของ กทม. ไปทั้งหมด ซึ่งแนวทางดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยได้นำเสนอต่อประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยที่กระทรวงคมนาคมเองก็มีหนังสือยืนยันเห็นด้วยมาโดยตลอด
แต่เมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับปรากฏว่า กระทรวงคมนาคมที่เคยให้ความเห็นชอบมาโดยตลอด กลับจัดทำความเห็นคัดค้าน โดยอ้างว่า อัตราค่าโดยสารที่กำหนดไว้ 65 บาทตลอดสายสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าของ รฟม.และยังมีประเด็นข้อกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงคมนาคมยังดำเนินการไม่ครบถ้วน จึงทำให้กระทรวงมหาดไทยต้องขอถอนเรื่องออกจากที่ประชุม ครม. ไปแล้วถึง 2 ครั้งก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า การคัดค้านการต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสของกระทรวงคมนาคมเต็มไปด้วยเงื่อนงำอันชวนสงสัย เพราะก่อนหน้านี้ รมต.คมนาคม ไม่ได้มีท่าทีคัดค้านมาก่อนแต่อย่างใด โดยนับตั้งแต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ ส.ค. 62 ก็ไม่เคยทักท้วงหรือคัดค้านการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ว่านี้ ทั้งยังเคยมีหนังสือตอบกลับไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม.ถึง 3 ครั้ง เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ ระหว่างกทม.และ BTS ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 62
แต่หลังเกิดปัญหาการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม วงเงินกว่า 1.427 แสนล้านบาท ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ถูก BTS ฟ้องกราวรูด ตั้งแต่ผู้ว่า รฟม.-และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 กรณีปรับเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตาม RFP/TOR จนศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองและระงับการใช้เกณฑ์เจ้าปัญหาดังกล่าว ท่าทีของกระทรวงคมนาคมที่มีต่อโครงการนี้ก็เปลี่ยนไปทันที และลุกขึ้นมาทำหนังสือทักท้วงการต่อขยายสัญญาสัมปทานบีทีเอสในทันที และออกโรงคัดค้านการต่อขยายสัมปทานอย่างหนักหน่วงเพื่อหวังจะให้นายกฯ เจรจาให้กลุ่มบีทีเอสรามือจากการประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม รวมทั้งถอนฟ้องคดีความทั้งหมดที่มีอยู่
ยิ่งยื้อ รัฐ-กทม. ยิ่งแบกหนี้อ่วม!
แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางการต่อขยายสัญญาสัมปทานดังกล่าว ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้คงค้างร่วม 1 แสนล้าน ที่ กทม. มีอยู่กับบีทีเอส การที่รัฐบาล และ ครม. ยังคงดึงเรื่องการต่อขยายสัญญาออกไป จะยิ่งทำให้ กทม.ต้องแบกภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายได้
ส่วนข้ออ้างของกระทรวงคมนาคมที่มีต่ออัตราค่าโดยสารสายสีเขียว 65 บาท ว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าของ รฟม.นั้นแหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ คค. - รฟม. ไม่ได้ให้ความกระจ่างต่อสังคมเลย ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน น้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีม่วง รวมทั้งสายสีอื่นๆ ของ รฟม. นั้น รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนให้หมด (มากกว่า 80%) เอกชนเพียงลงทุนระบบรถไฟฟ้าและเดินรถเท่านั้น ผิดกับสัมปทาน BTS ที่เอกชนต้องลงทุนเองทั้งหมด และยังต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม. อีก2แสนล้านด้วย
แต่กระนั้นหากเปรียบเทียบอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ที่เป็นโครงข่ายนอกเมืองเทียบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีเขียวส่วนต่อขยาย ก็พบว่า มีอัตราไม่แตกต่างกันแถมยังแพงกว่าด้วยซ้ำ (ปจ.ปรับลดราคาลงมาเพื่อช่วยเหลือปชช.ช่วงโควิด-19) ทั้งที่รัฐ (รฟม.) เป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าคำนวณจากระยะทางที่เดินทางได้ไกลสุดและราคาค่าโดยสารสูงสุด คือ สายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาท/กม. สายสีน้ำเงิน 1.62 บาท/กม. และสายสีม่วง 1.83 บาท/กม.
ความจริงที่ปรากฏข้างบนนี้บอกอะไร ที่อ้างว่าต้องคัดค้านการต่อสัมปทาน เพราะหากปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมดลง รถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะกลับมาเป็นของรัฐ และจะทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เป็นเรื่องปาหี่ทางการเมือง เพราะความจริงปรากฏอยู่แล้วว่า ขนาดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่เป็นระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในการดูแลของรัฐ และรัฐควักเงินลงทุนโครงสร้างเป็นเงินถึง 70% ของการลงทุน ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในระบบนี้ก็ควรจะต้องถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างน้อยต้อง 70% เพราะเป็นส่วนที่รัฐได้ลงทุนไปให้เอกชน หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่รัฐลงทุนเองทั้งหมด แต่เหตุไฉนกลับเก็บค่าโดยสารแพงกว่าระบบรถไฟฟ้าที่เอกชนลงทุน 100% เสียอีก
"ที่จริงหากต้องการให้ปรับลดค่าโดยสารลงมาอีก รัฐ-กทม.ก็แค่เจรจาลดค่าต๋งสัมปทานที่เรียกจากเอกชนลงมา ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะตามร่างสัญญาใหม่นั้น นอกจากบีทีเอสจะต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมแสนล้านบาทแล้ว ยังต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม. อีก 2 แสนล้านบาท หากต้องการให้ กทม. ปรับลดค่าโดยสารลงมาอีก ก็ต้องเจรจาปรับลดค่าต๋งสัมปทานลงมาด้วยซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว"

"ลั่นดาน" ดึงรายใหม่เสียบ!
แหล่งข่าวเผยด้วยว่า ผลการเจรจาที่ได้จนนำมาสู่การขยายสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปีน้ัน เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากจะรอให้สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงปี 2572 แล้วประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการแม้ทำได้ รัฐและ กทม.ต้องจัดหางบไปจ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และชำระหนี้ค้างระบบรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอสก่อนอยู่ดี หรือหากจะเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้า ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาสัญญาจ้างบริหารที่ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่จะสิ้นสุดในปี 2585 หรือหากจะโอนส่วนต่อขยายกลับไปให้ รฟม. ดำเนินการเอง ตามที่มีบางฝ่ายเรียกร้องก็คงยุ่งขิงอยู่ดี เพราะ รฟม. ก็คงประเคนโครงการไปให้ BEM บริหารเดินรถต่อ อันจะทำให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อกับสายหลัก ที่อาจถึงขั้นต้องให้ผู้โดยสารลงจากรถเดินข้ามสถานีอีก
รฟม. ระทึกผลดีทุจริตประพฤติมิชอบ
ขณะที่ความคืบหน้าในคดีที่ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษา กรณี บมจ.บีทีเอส ยื่นฟ้องละเมิด รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก จากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกโดยมิชอบ จนทำให้บริษัทเสียหาย โดยตุลาการเจ้าของคดีที่แถลงผลคดีไปแล้วก่อนหน้านี้ ล่าสุด ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ให้ยกฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก โดยเห็นว่า แม้การปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือก จะเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฏหมาย แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้บริษัทเอกชน หรือทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงพิพากษายกฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ผลแห่งคดีที่ชี้ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตาม ม. 36 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบในการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกดังกล่าว จะส่งผลต่อคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตามมา เพราะเท่ากับชี้ให้เห็นว่า รฟม. และคณะกรรมการตามมาตรา 33 ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบที่เข้าข่าย ม.157-158

ศาลปกครองมีคำสั่ง.. “ยกเลิก TOR สีส้ม” ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยภายหลังการตัดสินของศาลปกครองกลางว่า ศาลฯ อ่านคำพิพากษาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าเป็นการฟ้องร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์แก้ไขการประมูล ซึ่งศาลฯ ได้มีการจำหน่ายคดีบางส่วนตามที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ยกเลิกการประมูล แต่ยังเหลือคดีเรื่องละเมิด
นอกจากนี้ ศาลวิเคราะห์และเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูล” ที่เป็นสาระสำคัญก่อนหน้านี้ และการประมูลต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี “ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะมีการใช้งบประมาณที่มากขึ้น ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แต่เรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทฯ ศาลได้พิจารณายกฟ้องในส่วนของการเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากศาลฯ มองเห็นว่า บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องการดำเนินการอยู่แล้ว จึงมองว่าบริษัทฯ ไม่เสียหาย
โดยหลังจากนี้ จะกลับไปหารือว่า จะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ เพราะจะต้องทำภายใน 30 วัน
ล่าสุด ยังมีคดีที่ค้างอยู่ คือ คดีที่ศาลปกครอง ในกรณีภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาคดี