แพทยสภาทักท้วงนโยบายเปิดเสรีกัญชา ยันต้องมีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด ขวางใช้เป็นยาหลักรักษาโรค แต่ต้องใช้ร่วมตามข้อบ่งชี้ หวั่นสารสกัดกัญชาทะลักท่วมตลาด ชี้ใช้ผิดวิธีส่งผลเสียต่อประชาชน หลังจากรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 และออกมาตีปี๊บ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ....ที่จะรองรับนโยบายกัญชาเสรี และเปิดให้มีการใช้ประโยชน์กัญชาและสารสกัดในวงกว้างขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ นั้น รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมกาอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกแพทยสภาได้ส่งความเห็นของที่ประขุมแพทยสภาที่มีต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ และสารสกัดกัญชาทางการแพทย์มายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยระบุว่า ตามที่แพทยสภาได้เคยเผยแพร่ข้อแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ และแนวปฏิบัติสำหรับแพทย์และประชาชนไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค.2562 บัดนี้ มีการใช้กัญชาทางการแพทย์มากขึ้น โดยมีทั้งการใช้ที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทยสภา และการใช้ที่อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วย ประชาชน อีกทั้งยังมีสารสกัดกัญชาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียต่อประชาชนและสังคมได้ แพทยสภาโดยการประชุมร่วมกับราชวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปการใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มเติมดังนี้ 1. แพทยสภาสนับสนุนการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ (Cannabis Based Medicine) ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือ และปลอดภัยต่อประชาชน2.คณะกรรมการยาเสพติดแห่งองค์การสหประชาชาติ (CND) อนุญาตให้ปลดกัญชาจากยาเสพติดที่ห้ามใช้ มากำหนดให้ใช้ได้ทางการแพทย์ ที่ยังคงถือว่าเป็นยาเสพติดที่ต้องควบคุมระดับเดียวกับ Morphine , Pethidine Codeine และยังคงถือว่า Delta-9 THC ไม่ว่าจะเจือจางเท่าใดก็ยังคงเป็นยาเสพติดที่ต้องควบคุม (แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) จะเสนอให้ปลด THC ที่ต่ำกว่า 0.2 me/ml พ้นจากยาเสพติดก็ตาม)3. ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่ดีเพียงพอ ที่จะใช้กัญชาหรือสารสกัดกัญาชาเป็นยารักษาหลัก หรือยาเริ่มต้นในการรักษาโรค แต่ยังคงเห็นชอบกับการใช้ตามข้อบ่งชี้ที่ให้เป็นการรักษาร่วมทางการแพทย์ใน 4 โรค ได้แก่ 1) ภาวะคลื่นใส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2) โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3)ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทแข็ง และ 4) ภาวะปวดเส้นประสาท และเห็นด้วยกับข้อบ่งชี้เพิ่มเติมจากคู่มือของกรมการแพทย์อีก 2 โรค ได้แก่ 5) ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และ 6) การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ส่วนการใช้ในข้อบ่งชี้อื่นๆ แพทยสภาเห็นด้วยกับคู่มือของกรมการแพทย์ โดยจะต้องมีมาตรฐานการควบคุมอย่างเคร่งครัด 4. จากการที่มีสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภามีข้อกังวลต่อตำรับที่มีส่วนประกอบของ THC สูงเกินความจำเป็น โดยาเห็นว่า ตำรับขององค์การเภสัชกรรมทั้ง 3 ตำรับ เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม และปริมาณ THC ไม่ควรสูงมากเกินกว่า 27 mg/ml5. แพทยสภามีความกังวลต่อความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ของประชาชนต่อสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ข้อบ่งชี้ที่ควรและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพกาย จิตและผลกระทบต่อสังคม จากการใช้สารสกัดกัญชาที่เกินความจำเป็น และการใช้สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสารเสพติดมากเกิน 6. แพทยสภาไม่สนับสนุนให้มีการปรุงยาที่มีสารสกัดกัญชาโดยบุคคลากรทางการแพทย์ หรือโดยผู้ป่วยเอง (Self Remedy) เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อการเพสติด และผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน แต่ผู้ประกอบวิชาชีพควรจะใช้สารสกัดกัญชาที่ผลิตขึ้นอย่างมีมาตรฐานตามหลักวิชาการ โดยหน่วยงานที่ได้มาตรฐานตามการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น เนื่องจากพืชกัญชาโดยทั่วไป จะมีการปนเปื้อนจากโลหะหนักและยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ต้องมีสัดส่วนของ THC และ CBD ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย