
แม้จะได้ข้อสรุปเรียบร้อยพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กันไปแล้ว
กับการ “ปลดล็อค” กัญชาพ้นกฎหมายยาเสพติด หลังเกิดประเด็น "ดราม่า" กรณีการเปิดเสรีกัญชาที่ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาตีปี๊บก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินการปลดล็อคถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมาแล้ว
แต่กลับถูกรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระตุกเบรกหัวทิ่ม โดยชี้ว่า แม้ กม.ยาเสพติดใหม่ จะไม่ระบุชื่อกัญชาเอาไว้เป็นสารเสพติด แต่ตราบใดที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ประกาศกฎกระทรวงออกมา ก็ยังคงต้องถือว่า กัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ จนนำมาสู่วิวาทะที่ทำเอาประชาชนคนไทยสับสนไปทั้งประเทศ
ก่อนที่ล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. จะเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ถอดกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยจะมีผลใน 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทยก็ได้เสนอร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง พ.ศ......เพื่อรองรับการเปิดเสรีกัญชา เปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจใหม่นี้เต็มกำลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ โดยรัฐบาล และพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของร่างต่างออกมาตีปี๊บ ได้ทำตามสัญญาประชาคมที่พรรคได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ในอันที่จะให้ประชาชนคนไทยปลูกกัญชาเสรีได้แล้ว มีการคาดหวังว่า พืชกัญชานี้ จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า จะทำให้ลืมตาอ้าปากกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผู้คว่ำหวอดในวงการพืชเศรษฐกิจนี้ กลับมองว่าร่าง พรบ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่พรรคการเมืองบางพรรคกำลัง “ตีปี๊บ” กันอยู่นั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงพิธีกรรมทางกฎหมาย และ “มหกรรมปาหี่” ที่หลอกให้ประชาชนหลงดีใจตายแค่นั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ประชาชนโดยทั่วไปไม่มีทางจะเข้าถึงได้ หากจะปลูกกัญชง กัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนครอบครัวละ 6 ต้น ก็ไม่สามารถจะนำไปจำน่ายจ่ายแจก ทำการซื้อ-ขายในเชิงพาณิชย์ได้ในทุกรูปแบบ
เพราะ “เนื้อแท้” ของกฎหมายฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจ "นายทุน" ขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะทำได้
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ สำนักข่าว “เนตรทิพย์” จึงต้องคลี่ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.....ที่กำลังเป็นประเด็นสุดฮอตในเวลานี้อย่างถึงพริกถึงขิง ดังนี้

คลี่ร่าง กม.กัญชา-กัญชง
หากทุกฝ่ายจะย้อนดูเหตุผลในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า....โดยที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชา กัญชงมาใช้ทางการแพทย์ การวิจัยและนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ การป้องกัน บำบัดรักษาผู้ป่วย การศึกษาวิจัย หรือการพัฒนานวัตกรรม ...
ฉะนั้น เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการดูแลสุขภาพของตน และส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ตลอดจนองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ จึงควรสนับสนุนการนำกัญชา กัญชง มาใช้ในการวิจัย การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้บริการผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของ.... จึงต้องตราพระราชบัญญัตินี้
"แค่เหตุผลในการยกร่างกฎหมาย ที่บ่งชี้ถึงขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้ ก็แทบจะหาช่องให้ประชนในระดับรากหญ้าได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ยากเย็นเต็มที"
เมื่อคลี่ลงไปดูเนื้อหาอย่างละเอียดไล่ลงไปตั้งแต่ "นิยาม" ความหมายขององค์ประกอบต่างๆ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 อาทิ นิยามของ กัญชา กัญชง การผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก หรือการบริโภค องค์กรที่มีหน้าที่รับจดแจ้ง ออกใบอนุญาต หรือใบคำขอ
ส่วนหมวด 2 (มาตรา 8- มาตรา 14) นั้นว่าด้วย "คณะกรรมการกัญชา กัญชง" องค์ประกอบ-อำนาจหน้าที่ และคุณสมบัติของคณะกรรมการ ขณะที่หมวด 3 การขออนุญาตและการอนุญาต กำหนดไว้ในมาตรา 15 ผู้ใดประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย ต้องๆได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต การนำเข้าหรือส่งออกตามวรรคหนึ่งในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่มีการนำเข้าหรือส่งออกด้วย
การขออนุญาต คุณสมบัติผู้ขออนุญาต การออกมใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การแก้ไขรายการในใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ส่วนการจดแจ้งและใช้ประโยชน์จากกัญชาในครัวเรือนนั้น กำหนดไว้ในหมวด 4 มาตรา 16-มาตรา 17 โดยมาตรา 16 กำหนดไว้ดังนี้ “ผู้ใดประสงค์จะเพาะปลูก เพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ในครัวเรือน ต้องจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้วจึงจะดำเนินการได้.
ผู้จดแจ้งต้องเพาะปลูกกัญชา กัญชง ตามที่ได้จดแจ้งไว้
การขอจดแจ้ง คุณสมบัติของผู้จดแจ้ง การออกใบรับจดแจ้ง การออกใบแทนใบจดแจ้ง การแก้ไขรายการในใบรับจดแจ้งตามวรรคหนึ่ง และหน้าที่ของผู้จดแจ้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
หมวด 5 ว่าด้วยกระบวนการพิจารณาอนุญาต กำหนดไว้ในมาตรา 18-มาตรา 21 โดยสาระหลักอยู่ที่มาตรา 18 ในกระบวนการพิจารณาอนุญาต ให้เจ้าหน้าที่ บุคคล องค์กร หรือหน่วยงานดังต่อไปนี้ทำหน้าที่ประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณาอนุญาต (1) เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อนุญาต (2 ) ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นบัญชีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ...
หมวด 6 หลักเกณฑ์เรื่องการพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาตหรือใบจดแจ้ง กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาต กำหนดไว้ในมาตรา 22- มาตรา 24 และแม้แต่การขายกัญชา กัญชง ก็ยังมีข้อกำหนดเอาไว้ละเอียดยิบในหมวด 10 มาตรา 33 ห้ามผู้รับอนุญาตขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภค แก่บุคคลดังต่อไปนี้ (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี (2) สตรีมีครรภ์ (3) สตรีให้นมบุตร (4) บุคคลอื่นใดตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สำหรับบทลงโทษกรณีกระทำผิดกฎหมายนี้ถูกกำหนดไว้ในหมวด 11 (มาตรา 34-36) โดยมาตรา 34 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เปิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
ประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ อยู่ที่เรื่องของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล (มาตรา 42- 44 ) โดยกำหนดอายุใบรับจดแจ้งไว้ 1 ปี นับแต่วันที้จดแจ้ง (มาตรา42) ส่วนมาตรา 43 กำหนดใบอนุญาตไว้ดังนี้ (1) ใบอนุญาตปลูก 3 ปี (2) ใบอนุญาตผลิต(สกัด) 3 ปี (3) ใบอนุญาตนำเข้า -ส่งออก 3 ปี และ(4) ใบอนุญาตจำหน่ายอายุ 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ขณะที่มาตรา 44 เป็นบทบัญญัติให้เรียกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
(1) ใบอนุญาตผลิต(ปลูก) ฉบับละ 50,000 บาท
(2) ใบอนุญาตผลิต(สกัด) ฉบับละ 50,000 บาท
(3) ใบอนุญาตนำเข้า ฉบับละ 100,000 บาท
(4) ใบอนุญาตส่งออก ฉบับละ 100,000 บาท
(5) ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 10,000 บาท
(6) ใบอนุญาตจำหน่าย ฉบับละ 50,000 บาท
(7) การต่อใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น
(8) ค่าคำขออนุญาต หรือคำขออื่น ๆ คำขอละ 7,000 บาท
(9) ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รายละ 100,000 บาท
(10) ค่าตรวจสถานประกอบการ ครั้งละ 50,000 บาท

ปิดประตูลั่นดานชาวบ้านซื้อ-ขายเสรี!
หากทุกฝ่ายสแกนเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างละเอียดจะเห็นว่า แม้ผู้ยกร่างจะอ้างว่าเพื่อรองรับการ “ปลดล็อค” กัญชาออกจากกฎหมายยาเสพติด และรองรับการเพาะปลูก-ใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในรูปแบบต่าง ๆ
แต่การที่ประชาชนทั่วไปจะปลูก และใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง รวมไปถึงการนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ขาย จำหน่าย จ่ายแจก/แลกเปลี่ยน กฎหมายกำหนดให้ทุกกิจกรรมเหล่านี้ต้อง “จดแจ้งและขอใบอนุญาต” ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ และกฎกระทรวง สธ.ที่จะออกตามมา
ประเด็นสำคัญอยู่ที่หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและขั้นตอนการขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ ที่กำหนดเอาไว้ละเอียดยิบในบทเฉพาะกาลท้ายพระราชบัญญัติ (มาตรา 43-44) นั้น กำหนดเอาไว้สูงลิ่วชนิดที่ “ปิดประตูลั่นดาน” หนทางที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้
“แค่ค่ายื่นคำขอก็สูงถึง 7,000 บาท/รายการเข้าไปแล้ว เมื่อจะต้องขอใบอนุญาตผลิต/ปลูก-สกัด เฉพาะค่าใบอนุญาตก็สูงถึงฉบับละ 50,000 บาท ยังไม่รวมข้อกำหนดในกระบวนการพิจารณาออกใบจดแจ้งและใบอนุญาต ที่ต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปตรวจสอบสถานที่ปลูก/ ผลิต หรือจัดเก็บเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกทั้งหลาย ที่คงไม่ใช่แค่การปลูกในกระถางต้นไม้ธรรมดา หรือปลูกเป็น “พืชสวนครัวรั้วกินได้” อย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจเป็นแน่”
สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่เกินวิสัยที่ประชาชนโดยทั่วไปจะแบกรับได้
แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ประชาชนในระดับรากหญ้าสามารถจะจดแจ้งการปลูกกัญชาไว้ใช้ในครัวเรือนตามเจตนารมย์ของผู้ยกร่าง (และสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้) แต่หากทุกฝ่ายจะลงไปพิจารณาหลักเกณฑ์การจดแจ้ง และใช้ประโยชน์จากกัญชาในครัวเรือน ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 (มาตรา 16-มาตรา 17) จะพบว่า “จำกัด” การนำไปใช้ประโยชน์แทบกระดิกตัวไม่ได้เลย
โดยมาตรา 16 กำหนดไว้ดังนี้ “ผู้ใดประสงค์จะเพาะปลูก เพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง ในครัวเรือน ต้องจดแจ้งต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งให้แล้วจึงจะดำเนินการได้.
ผู้จดแจ้งต้องเพาะปลูกกัญชา กัญชง ตามที่ได้จดแจ้งไว้
การขอจดแจ้ง คุณสมบัติของผู้จดแจ้ง การออกใบรับจดแจ้ง การออกใบแทนใบจดแจ้ง การแก้ไขรายการในใบรับจดแจ้งตามวรรคหนึ่ง และหน้าที่ของผู้จดแจ้ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
บทบัญญัติมาตรา 16 น่าจะเป็นส่วนสำคัญของการปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชาในครัวเรือนที่ทุกฝ่ายเพรียกหาว่า นี่คือการ “ปลดล็อค” การปลูกกัญชาเสรี เปิดทางให้ประชาชนรากหญ้าสามารถปลูก และใช้ประโยชน์จากกัญชาครอบครัวละ 6 ต้นได้แล้ว
แต่นั่นก็เป็นเพียงการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์ในครัวเรือนเท่านั้น หาใช่จะนำไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือ ต้มน้ำกัญชาวางขายหรือซื้อ-ขายกันอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน เพราะการจะดำเนินการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ในทุกรูปแบบ ล้วนเข้าองค์ประกอบของการทำการค้าที่ต้องดำเนินการจดแจ้ง ขึ้นทะเบียนตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายฉบับนี้ทุกกระเบียดนิ้ว!
เหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับนี้ หาใช่ความหวังที่ประชาชนรากหญ้าคาดหวังว่า จะเป็นใบเบิกทางในการเพาะปลูกกัญชา กัญชงกันอย่างเสรี หรือเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้อยู่ดี กินดี จนถึงกับที่พรรคการเมืองเอาไปตีปี๊บว่า จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนหรือประชาชนในระดับรากหญ้า เพราะกฎหมายปิดช่องทางผู้ที่จดแจ้งขึ้นทะเบียนใช้ประโยชน์ในครัวเรือน จะไม่สามารถนำไปซื้อ-ขายกันได้เสรีอย่างที่เข้าใจกัน

ภท.ยันชาวบ้านจดแจ้งปลูกได้ฟรี
แม้ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐสภา จะออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าการปลูกกัญชาในครัวเรือนไม่มีค่าจดแจ้ง และระบุว่า ตอนนี้มีขบวนการปล่อยข่าวทำลายความชอบธรรมของพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา โดยมีการกล่าวหาว่า หากต้องการปลูกในครัวเรือนต้องไปเสียค่าจดแจ้ง จ่ายเงินหมื่น เงินแสน
พร้อมระบุว่า สิ่งที่กำหนดเรื่องการค่าธรรมเนียม คือ กรณีผู้ประสงค์ปลูกเป็นแปลงใหญ่ในเชิงพาณิชย์ ธุรกิจอุตสาหกรรม ปลูกกันเป็นหลัก 10 ไร่ 100 ไร่ การสกัด การนำเข้าส่งออก ซึ่งต้องขออนุญาตต้องมีค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตนั้นๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากกฎหมายอื่นของ อย. เช่น พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เป็นต้น
“ในฐานะผู้ที่ร่างกฎหมายนี้ เจตนารมณ์ของเรา คือ ให้ประชาชนมีสิทธิปลูกใช้เพื่อพึ่งพาตัวเองเป็นพืชสมุนไพร จึงไม่มีเหตุผลใดเลย ที่เราจะไปเก็บค่าธรรมเนียมการขอจดแจ้งปลูก ขอย้ำตรงนี้เลยว่า ถ้าชาวบ้านต้องการปลูกในครัวเรือน เก็บใบไว้ต้มไก่ ใช้ชูรสตามธรรมชาติ ใช้รักษาอาการป่วยไข้ พอให้บรรเทาอาการ เราจะให้มาจดแจ้ง และปลูกได้เลย ไม่มีค่าใช้จ่าย”
แต่ก็อย่างที่วิเคราะห์ไว้ข้างต้น แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ประชาชนปลูกและใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง ในครัวเรือน แต่ก็หาใช่ความคาดหวังที่จะทำให้พืชสมุนไพรดังกล่าว เป็นความหวังในการกอบกู้เศรษฐกิจ เป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระดับรากหญ้า
เพราะหากคิดจะปลูกเพื่อทำการซื้อ-ขาย จำหน่ายจ่ายแจกในเชิงพาณิชย์ แม้จะครัวเรือนละ 6 ต้น ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งนั่นหมายถึงจะต้องมีการจดแจ้งขึ้นทะเบียนการปลูกและขาย การมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการค้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียงสูงลิบลิ่ว ในระดับเรือนแสนบาทกันเลยทีเดียว
จึงมีแต่ “นายทุน” เท่านั้น ที่จะทำตามเงื่อนไขที่ว่านี้ได้ จริงเท็จประการใดก็ปูเสื่อรอดูไม่นานก็รู้แน่!!!