
จากปัญหา “หมูแพง” ในสามโลกที่กำลังทำเอาชาวบ้านร้านรวงร้องระงม เพราะได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะไม่เพียงราคาหมูชำแหละที่พาเหรดปรับขึ้นราคารายวัน จนจ่อพุ่งพรวดไปถึง กก.ละ 300 บาทแล้วเวลานี้ แซงราคาเนื้อวัวไปแล้ว แต่ยังดึงเอาราคาเนื้อสัตว์อื่นๆ รวมทั้งอาหารทะเล และวัตถุดิบประเภทอื่นๆ พาเหรดขึ้นราคาตามมาอีก
แม้แต่ซาลาเปาวราภรณ์ยังอั้นไม่ไหวปรับขึ้นราคาตามไปด้วย ซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่หนักหนาสาหัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้วให้ “จมปลัก” กันลงไปอีก
ชาวบ้านร้านรวงที่หวังจะพึ่งกลไกจากรัฐและกระทรวงพาณิชย์ให้เข้ามาดูแลบรรเทาผลกระทบจากปัญหานี้ เพราะเคยออกมายืนยันนั่งยัน ในวันที่ไปไฟเขียวให้กลุ่มทุนค้าปลีกค้าส่งรุกคืบ “กินรวบ” ตลาดค้าปลีก-ค่าส่งครบวงจรก่อนหน้านั้น
วันนี้ทุกฝ่ายต่างประจักษ์กันแล้วว่า กลไกของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาบรรเทาปัญหาราคาสินค้าอาหารที่ “แพงทั้งแผ่นดิน” นั้นไม่สามารถจะพึ่งพาอะไรได้เลย
ที่ตลกร้ายขึ้นไปอีก ขณะที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีว่า อยู่ใต้อาณัติของกลุ่มทุนรายใด ออกมาป่าวประกาศเป็นรายวันว่า หมูแพงเพราะผู้เลี้ยงรายย่อยเลิกเลี้ยง หลังเผชิญกับปัญหาต้นทุนวัตถุดิบและโรคระบาดอหิวาห์หมู ASF ถล่มอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่วันวานฟาร์มหมูในภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จังหวัดระยองกลับออกมา “ตีแสกหน้า” ยืนยันว่าไม่จริง เพราะแม้จะมีหมูขุนอยู่เต็มฟาร์มนับหมื่นตัว รอเทขายออกสู่ตลาดในราคาต่ำติดดินแค่ กก.ละ 60 บาท แต่ก็กลับไม่มีพ่อค้าหน้าไหนเข้ามารับหมูไปโรงเชือด
จึงได้แต่ตั้งคำถามกลับไปยังภาครัฐและสมาคมว่า เกิดอะไรขึ้นกับกลไกของอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของประเทศ เหตุใดกลไกของภาครัฐ และสมาคมเองถึงได้ง่อยเปรี๊ยะกันไปได้ถึงเพียงนี้ จนไม่สามารถตามทันเล่ห์กลของกลุ่มทุนใหญ่ที่กำลัง “เล่นเอาเถิด” กับประชาชนคนหาเช้ากินค่ำได้
ที่ผู้คนในสังคมพากันกังขา ก็คือ ในท่ามกลางวิกฤติ "หมูแพง" ที่กำลังเขย่าเสถียรภาพของรัฐบาลอยู่วันนี้ นายทุนใหญ่ที่กุมกลไกค้าปลีกค้าส่งทั้งประเทศกลับได้อานิสงส์จนราคาหุ้นทะยานสวนตลาด
เอาเป็นว่า ขนาดนักวิเคราะห์ยังประมาณการกำไรของธุรกิจในเครือข่ายกลุ่มทุนนี้จะทะลักเพิ่มขึ้นมาก จากวิกฤติหมูครั้งนี้ ตัวเลขชัดๆ แบบนี้ ถ้ารัฐบาลที่ดีที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประชนอย่าง จีน หรือ สหรัฐอเมริกา เขาไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นแน่!
ป่านนี้งัดกฎหมายฟันนายทุนหน้าเขียวไม่เหลือซากแล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับไม่แตะนายทุน จนทำให้สังคมได้แต่กังขา “เป็นรัฐบาลเพื่อใครกันแน่”..

เช่นเดียวกับตลาดสื่อสารโทรคมนาคมมือถือที่วันนี้กำลังเดินมาถึง “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ จากดีลการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่ม “ทรูและดีแทค” ที่จะกรุยทางไปสู่บริษัทเทคโนโลยีชั้นแถวหน้าในภูมิภาคนี้ โดยที่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงพาณิชย์ได้แต่นั่งเอามือ "ซุกหีบ"
แม้นักวิชาการจากทุกภาคส่วน ส.ส.พรรคการเมือง และภาค ปชช. จะออกโรงเตือนรัฐ และ กสทช. หากปล่อยให้ดีลควบรวมกิจการครั้งประวัติศาสตร์ผ่านไปได้ โดยที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลทั้ง กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค) ได้แต่นั่งตาปริบๆ อ้างแต่ว่า กฎหมายกำกับดูแลล้วงลูกไปไม่ถึง
ก็ให้ระวังตลาดสื่อสารมือถือ จะเจริญรอยตามราคาหมูที่วันนี้พุ่งทะยานแทบหาเพดานไม่เจอ โดยที่ยังไม่ร้จะจับมือใครมาดมได้

ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้นำเสนอผลโพลล์สำรวจ เรื่อง “ควบรวม ทรู ดีแทค กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ” โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,331 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5 – 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ 83.9% คัดค้านการควบรวมกิจการทรู กับ ดีแทค มีเพียงส่วนน้อย 16.1% ที่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ
ที่น่าพิจารณา คือ เมื่อถามถึงระดับความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่มีต่อการควบรวมธุรกิจ “ทรู- ดีแทค” ก็พบว่า เกินครึ่งหรือ 51.6% ระบุว่า ประเทศไทยและประชาชนจะตกอยู่ในมือนายทุนผูกขาด และเชื่อว่าจะเกิดการผูกขาดธุรกิจของกลุ่มนายทุนตามมา
ขณะที่ผลสำรวจความเห็นในระดับรองลงมานั้น 45.7% ระบุว่า ค่าบริการจะแพงขึ้นหลังการควบรวมกิจการธุรกิจ ส่วนอีก 41.4% ระบุว่า เกิดความไม่เป็นธรรมในข้อตกลงสัญญากับผู้บริโภค
“ผลโพลล์นี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการควบรวมกิจการทรูกับดีแทค ด้วยความรู้ความเข้าใจว่าประเทศไทยประชาชนจะตกอยู่ในมือนายทุนผูกขาด และก่อให้เกิดการสูญเสียผลประโยชน์ ทั้งผลประโยชน์ชาติและของประชาชน โดยมีความคิดว่าการควบรวมจะทำให้ค่าบริการแพงขึ้น เกิดความไม่เป็นธรรมในข้อตกลงสัญญากับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการลดทางเลือกของผู้บริโภค และเกิดการกีดกั้นการค้าผู้ประกอบการรายย่อย ที่ส่งผลเสียโดยรวมต่อผู้บริโภคตามมา”
ชัดเจนกันเสียขนาดนี้แล้ว หากหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. และ กขค. ยังคงมะงุมมะงาหราอ้างแต่ว่า ไม่มีอำนาจจะลงไปล้วงลูก ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดหรือปล่อยให้ประชาชนคนไทยต้องแบกรับและเผชิญความเสี่ยงไปตามยถากรรม จนไม่อาจจะพึ่งหน่วยงานรัฐที่ “มีก็เหมือนไม่มี” แล้ว
หากถึงที่สุดแล้ว ประชาชนคนไทยจะร่วมกันลุกขึ้นมา “อัปเปหิ” หน่วยงานเป็ดง่อยเหล่านี้ทิ้งไป เหมือนกับที่หน่วยงานหรือองค์กรตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ป.ป.ช. กำลังถูกสัพยอก เป็นรายวันอยู่นี้ ก็อย่าไปโทษใครกันอยู่เบื้องหลัง แต่เป็นเพราะตัวองค์หรือหน่วยงานเองนั้นมัน “เป็ดง่อย” สมชื่อนั่นแหล่ะ!