
กลายเป็นประเทศแห่ง "สายด่วน" กันไปแล้ว
กับเรื่องของ "สายด่วน" หรือเบอร์ฉุกเฉินของหลากหน่วยงานที่ผุดกันขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ที่ต่างอ้างภารกิจที่ล้วนมีความสำคัญและจำเป็น ประเภท "ของมันต้องมี" โดยเฉพาะสายด่วนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ไวรัส "โควิด-19" ที่ไม่่รู้มีอยู่กี่สิบเบอร์ กี่หน่วยงานกันแน่ เพราะผุดกันมาเต็มพรึดหน้าจอมือถือ หรือสมาร์ทโฟน
แต่ก็ให้น่าแปลก! ขณะที่สารพัดหน่วยงานต่างๆ แย่งซีนกันผุดสายด่วนกันเต็มพรึด แต่ไม่รู้ประสานงานกันอีท่าไหน กลับทำให้ "ชาชนคนไทย" ที่ติดเชื้อหรืออยู่ในข่ายติดเชื้อถูกทอดทิ้ง ลอยแพ ต้องนอนซมรอเตียง รอคิวเข้าระบบกันอยู่ทั่วทุกหัวระแหง โดยไร้หน่วยงานดูแล ติดต่อสายด่วนอะไรต่อมิอะไรไป ก็ได้แต่รอ รอ รอ รอการติดต่อกลับ..
หลายชีวิตไม่อาจจะทนรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ต้องขาดใจตายไปอย่างน่าอเนจอนาถ บ้างต้องมาทรุดกองและขาดใจตายอยู่ข้างถนน เด็กน้อยบางคนต้องนอนกอดศพพ่อ แม่ตนเองที่ขาดใจตายไปต่อหน้า คนแก่คนเฒ่าหรือคุณยายต้องนอนเฝ้าพี่น้องคลานตามกันมา เพราะตนเองก็ติดเชื้อไม่มีปัญญาจะช่วยเหลืออะไรได้
กลายเป็นภาพที่สร้างความสลดหดหู่แด่ผู้พบเห็น และนับวันจะทวีความรุนแรงจนกลายเป็นภาพที่ “ชินตา” กันไปแล้ว ! ยิ่งเมื่อรัฐบาล และ ศบค.จ่อขยายเวลา “ล็อคดาวน์” ต่อเนื่องออกไปเป็นแรมเดือน (หรืออาจเจริญรอยตาม พรก.ฉุกเฉิน) ภาพอันชวนสลดหดหู่เหล่านี้ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะทวีจำนวนมากขึ้น
สิ่งที่น่าสะท้อนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อใดที่เราเห็นภาพของ “จิตอาสา” พากันสะท้อนภาพ สะท้อนความเป็นจริงของวิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้นออกมา แทนที่รัฐจะยอมรับในความบกพร่องหรือผิดพลาด หรือเกินขีดความสามารถที่จะรับมือได้ ก็กลับทำให้รัฐเต้นเร้า ผูกใจเจ็บถึงขั้นตะเพิดคนเจ็บ คนป่วยหรือจิตอาสาบางคนออกไปจากระบบ อย่างกรณีของ “พิมรี่พาย” ที่เข้าไปช่วยสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือดูแลผู้ติดเชื้อในชุมชนต่างๆ หรือกรณี “บังซา” และ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล”
ขณะที่บุคลากรของรัฐที่ดาหน้าขอโควตาวัคซีนกันหน้าสลอนเกือบทุกหน่วยงานนั้น เราแทบจะไม่เห็นบทบาทอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน
ยอดผู้ป่วยติดเชื้อในวันนี้ที่จ่อทะลุ 600,000 คนเข้าไปแล้ว โดยยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเกิน 17,000 คน และจ่อทะลุ 20,000 คน ยอดตายเกินหลัก 100 คน และอาจจะถึง 500 คน ดั่งที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการแพทย์ประเมินเอาไว้ก่อนหน้านี้ เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารงานผิดพลาดไปแล้ว จำเป็นต้องยกเครื่องและปรับกระบวนการรับมือวิกฤตโควิดกันเสียใหม่ ขั้นตอนอะไรที่มันเป็นอุปสรรค ติดขัดที่ระเบียบกฎเกณฑ์ ต้องประสานหน่วยงานนั้นก่อน ต้องปล่อยให้ประชาชนไปเที่ยวไล่โทรหาสายด่วนสารพัดสาย เที่ยวโพสต์วอนจิตอาสาไปทั่วสิบทิศแบบนี้ ก็เห็นทีประเทศจะหนีวิกฤติครั้งนี้ไปไม่พ้นแน่
แต่น่าเสียดายเรากลับเห็นรัฐบาล และ ศบค. ที่เอาแต่ออกคำสั่งและงัดมาตรการเข้มข้นทางกฎหมายตาม พรก.ฉุกเฉินออกมาไล่เบี้ยกลุ่มความเห็นต่างที่ในวันนี้กลับเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดที่ไม่อาจจะยอมรับได้ไปแล้ว ทั้งที่ห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่รัฐจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฟากฝ่าย เพื่อระดมเข้ามาร่วมกันแก้ไขวิกฤตและสงครามโควิดที่กำลังจะทำลายรากฐานของประเทศไทยให้ย่อยยับอยู่เบื้องหน้า ประเภทต่อให้ต้องกราบ “พี่โทนี่” ให้ลงมาช่วยแก้ไขก็ต้องทำ!
ย้อนกลับมาที่เรื่องของบรรดา “สายด่วน” หรือเบอร์ฉุกเฉินที่แต่ละหน่วยงานผุดกันออกมาเป็นดอกเห็ด เอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีมากกว่า 9-10 เลขหมายเข้าไปแล้ว ไล่ดะมาตั้งแต่ สายด่วน 1330 สายด่วนโควิด 1668 สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ศูนย์เอราวัณ 1646 สายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สายด่วน 1506 ประกันสังคม สายด่วน 1111 สำนักนายกฯ ยังไม่รวม สายด่วน ศปม.191 สายด่วน 1599 และสายด่วน 1138
นี่ยังไม่รวมบรรดาเพจ FB หรือไลน์อีกสารพัดชื่อ จนทำเอาประชาชนคนไทยสับสน งงงวยกันไปแปดตลบ หากติดเชื้อหรือสงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อขึ้นมาจะต้องโทรหาหน่วยไหนกันดี
ทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) นั้น “ล้มเหลว” ในการบูรณ์การการแก้ปัญหาที่เป็น Single Command อย่างแท้จริง! แม้ผู้อำนวยการ ศบค. ที่ใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน จะมีคำสั่งรวบอำนาจสั่งการตามกฎหมายต่างๆ กว่า 30 ฉบับเข้ามารวมศูนย์อยู่ภายใต้คำสั่งของ ผอ.ศบค. แต่กลับปล่อยให้หน่วยงานต่างๆ ผุดหรือใช้เบอร์ฉุกเฉิน จัดตั้งศูนย์ฉุกเฉินของตนกันให้ยุ่งขิง เป็นยุงตีกัน
ทั้งที่จะว่าไป กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส น่าจะเป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการจัดตั้งศูนย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือกำหนดเลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติที่รวมเอาทุกศูนย์ ทุกเบอร์มาอยู่ที่ศูนย์นี้ โดยไม่ต้องแยกแยะเพื่อรวบรวมข้อมูล Data ต่างๆ มายัง ศบค.โดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน จนเกิดความซ้ำซ้อน หรือทับซ้อนในการทำงานและสั่งการจนกลายเป็นการโยนกลองกันอย่างที่เป็นอยู่
ถึงเวลาที่รัฐต้องลดเลิกทิฐิ และถึงเวลาที่กระทรวงดีอีเอสต้องหวนกลับมาตระหนักในบทบาทของตนเองอย่างแท้จริง เอาเวลากลับมา “สังคายนา” สายด่วนสารพัดสายด่วนและเบอร์ฉุกเฉินเหล่านี้ให้มันสะเด็ดน้ำเสียที จะได้ไม่สร้างความสับสนให้กับประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ ดีกว่าที่รัฐจะมุ่งไล่จับตั๊กแตน มุ่งไล่ปราบ Fake News บ้าบออะไรก็ไม่รู้ จนลืมบทบาทที่แท้จริงของหน่วยงานตนเอง
ก่อนที่ประชาชนคนไทยจะสิ้นสุดความอดทนจนลุกฮือขึ้นไล่ตะเพิดกันไปทั้งรัฐบาล!!!!