
หลังจากมีกระแสข่าวใหญ่ในแวดวงพลังงาน กรณีที่ บริษัท ปตท สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP (ปตท.สผ.) ยังไม่สามารถส่งบริษัทลูก คือ PTTEP ED เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติ ในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ที่บริษัทชนะประมูลตามระบบ PSC ซึ่งจะถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามสัญญาที่กำหนดให้ต้องผลิตก๊าซฯ ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปีได้ เนื่องจากเชฟรอนฯ ในฐานะผู้รับสัมปทานรายเดิม ยังไม่ยินยอมให้เข้าพื้นที่
ยังผลให้ทั้ง ปตท.สผ. และกระทรวงพลังงาน ต้องดิ้นรนหาทางรับมือกับปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน ปี 2565-66 ซึ่งมีการคาดการณ์เบื้องต้นว่า น่าจะเกิดการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติมากกว่า 200-300 ล้านลบ.ฟุต/วัน และต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปีจากนี้ จึงจะกลับมาผลิตก๊าซได้ตามสัญญานั้น
หลายฝ่ายได้แสดงความกังวลว่า ประชาชนคนไทยจะถูกลากไปเป็นตัวประกันให้ต้องแบกรับภาระค่าก๊าซและราคาค่าไฟฟ้าที่จะพุ่งทะยานตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะในวันนี้ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก๊าซธรรมชาติได้กลายมาเป็นฟันเฟืองหลักของการขับเคลื่อนพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ในอีกด้าน เรากลับพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนพลังงานบางกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากความไม่ต่อเนื่องของการผลิตก๊าซในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อที่จะอาศัยช่องทางแสวงหาประโยชน์จากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่จะเกิดขึ้นทดแทนซึ่งมีมูลค่ารวมๆ แล้วมากกว่าแสนล้านบาท
จุดนี้เองที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานต้องหวนกลับมาตรวจสอบนโยบายพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะพบว่ารัฐบาลปฏิรูป คสช. ต่อเนื่องมายังรัฐบาลปัจจุบันนั้น มีการเล่นเอาเถิดกับนโยบายพลังงานและการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาตินี้อย่าง “แยบยล” โดยมีผลประโยชน์นับแสนล้านเป็นเดิมพันหรือไม่

ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายจะได้ย้อน “ไทม์ไลน์” นโยบายพลังงานในช่วงระยะ 7 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีการเดินเกมวางหมากและซ่อนปมเขื่องเอาไว้อย่างแยบยลดังนี้ ...
- ปี 2560 แก้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ พีเอสซี (สร้างกระแสเอาม็อบมากดดัน)
- ปี 2561 เปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ตามระบบพีเอสซี ที่มีการแก้ไข กม.ออกมารองรับ โดยมีการตั้งเทคโนแครตในเครือข่าย มาเป็นกุมอำนาจในวงการพลังงาน
- ใช้เกมการเมือง บีบ ปตท.สผ.ให้ลดราคาประมูลให้ต่ำที่สุด (116 บาท/ล้านบีทียู) บนเงื่อนไข “ต้องชนะ” คู่แข่ง คือ เชฟรอนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามแผน
- เมื่อ “เชฟรอน” แพ้ประมูลเหลือแหล่งก๊าซในอ่าวไทยให้บริหารเพียง 30% บริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา ได้แจ้งกับรัฐบาลไทยว่า ต้องการขายกิจการในส่วนที่เหลือ พร้อมสิทธิ์สัมปทานที่รัฐบาลไทยเคยอนุมัติไว้ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่ประเมินว่า จะมีปริมาณสำรองก๊าซมหาศาล และการให้รายใหม่เข้าพื้นที่รับช่วงต่อได้อย่างราบรื่น เพื่อรักษาปริมาณสำรองก๊าซที่อยู่ก้นหลุมประมาณ 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน เอาไว้
- อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของเชฟรอนข้างต้นนั้น ฝ่ายนโยบายได้แสดงท่าทีชัดเจนไม่สนใจเรื่องความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ เพื่อบีบมูลค่าสินทรัพย์ของเชฟรอนที่เหลืออยู่ในอ่าวไทย (แหล่งไพลิน) ให้ลดลง รายใหม่จะได้ชื้อกิจการต่อในราคาถูกลง
- ออกนโยบายเปิดเสรีก๊าซให้มีเอกชนรายใหม่ จัดหา LNG ได้นอกเหนือจาก ปตท.
ทั้งนี้ ผลจากการที่การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณสะดุดไม่ต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล นั่นคือ “ประเทศชาติจะต้องสูญเสียปริมาณสำรองก๊าซก้นหลุมที่ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ แถมต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า LNGมาทดแทน”
ขณะที่ภาครัฐ คือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บค่าภาคหลวง และภาษีปิโตรเลียม
ส่วนฟากฝั่ง ปตท.สผ. ที่ไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามเงื่อนไขการประมูล คือ ขั้นต่ำ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน อาจต้องเสียค่าปรับ และยังไม่รู้จะไปเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้ หรือใครต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่ “ประชาชนอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นจากการนำเข้า LNG เข้ามาเสริมทัพการผลิตไฟฟ้าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า”

สำหรับกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์ จากนโยบายพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านข้างต้นนี้ ประกอบด้วย..
1. กลุ่มที่ได้สิทธิ์นำเข้า LNG ทดแทนปริมาณก๊าซที่หายไปประมาณ 200 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน (เทียบเท่าLNG ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี คิดราคา LNG ที่ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าคิดต่อเนื่อง 10 ปี คือ กว่า 3 แสนล้านบาท )
2. เอกชนที่จะเข้าไปซื้อกิจการของเชฟรอนในประเทศไทยในราคาที่ถูกกดลงมา
3. เอกชนที่จะได้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา (มองกันว่า น่าจะเป็น บริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เข้ามาร่วมลงทุนในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา)
ถึงบรรทัดนี้ขบวนการ “ลับ ลวงพราง พลังงาน..กับค่าโง่แสนล้านที่คนไทยรับกรรม”..เพิ่งแค่เริ่มต้น!