
กระทรวงดีอีเอสยุครัฐบาลโควิดทำอะไรก็ไม่ผิด เดินหน้าลุยไฟโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์อื้อฉาวประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน แม้ถูก กมธ.สื่อสารกระซวก เหตุเปิดทางเอาของเก่ามาย้อมแมวส่งมอบ เดินหน้าเซ็นสัญญาโดยไม่มีแก้ไข
แม้จะถูกกรรมาธิการ (กมธ.) สื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ท้วงติงอย่างรุนแรง กรณีพบพิรุธโครงการประกวดราคาเช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน 250 ศูนย์ ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) วงเงินกว่า 500 ล้านบาท เนื่องจากพบพิรุธในเงื่อนไข TOR มีการกำหนดสเปคจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ที่เปิดทางให้มีการนำเอาระบบเก่ามา ”ย้อมแมว” ส่งมอบได้ ซึ่งในครั้งนั้นปลัดกระทรวงดีอีเอสรับปากที่ประชุมกรรมาธิการจะกลับไปดำเนินการแก้ไขตามข้อทักท้วงของ กมธ.
แต่ล่าสุด กระทรวงดีอีเอสได้สั่งเดินหน้าโครงการดังกล่าว และได้มีการลงนามในสัญญากับบริษัทเอกชนที่ชนะประมูลไปแล้ว โดยแหล่งข่าวในกระทรวงดีอีเอส เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงดีอีเอส ได้เป็นประธานลงนามในสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน กับบริษัทเอสเอ คอนซอเตียม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่รับช่วงบริหารโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชนในโครงการเดิม 250 ศูนย์อยู่แล้วเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้มีการแก้ไขรายละเอียดในเงื่อนไขทีโออาร์ (TOR) และสัญญาแต่อย่างใด ทั้งที่รับปากกับกับ กมธ.สื่อสารและโทรคมนาคมไว้ก่อนหน้า
“เป็นที่น่าสังเกตว่า สัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชนข้างต้น แทบจะเป็นเนื้องานเดียวกับโครงการที่กระทรวงดีอีเอสจ้างบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ดำเนินการไปในช่วงปี 2563 ทั้งที่ตามระเบียบพัสดุและครุภัณฑ์นั้นจำเป็นจะต้องใช้ของใหม่ แต่ในเงื่อนไขจัดหาในครั้งนี้กลับเปิดช่องให้มีการนำเอาครุภัณฑ์เดิมมาส่งมอบได้ ทั้งยังมีการตัดเงื่อนไขบางประการออกไปเพื่อเปิดทางให้รายเก่าสวมรอยเอาระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุน มาสวมรอยส่งมอบได้ทันที”
ทั้งนี้ ตามไทม์ไลน์การดำเนินโครงการนั้น จะเริ่มมีการส่งมอบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ประจำศูนย์ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งหากเป็นการดำเนินการโครงการใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3-6 เดือนกว่าจะติดตั้งได้ แต่สำหรับโครงการนี้ที่แทบจะดำเนินการในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ต่อเนื่องจากศูนย์เดิมที่มี ทำให้สามารถจะดำเนินการติดตั้งและส่งมอบอุปกรณ์สนับสนุนในสเปกเดิมได้ทันที "ดีอีเอสคงมั่นใจว่า ไม่ใครจะตรวจสอบได้ คงลืมดูกรณีองค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่คัดเลือกบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เจ้ามาเป็นคู่สัญญาส่งมอบข้าวให้อินโดฯ เมื่อปี 54 ที่เพิ่งถูก ป.ป.ช.เชือดกราวรูดไปล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งชี้มูลความผิดไปถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ที่ไม่ใช้อำนาจตรวจสอบและยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดแก่รัฐทั้งที่ปรากฏข้อร้องเรียนชัดเจน"

ย้อนรอย..พิรุธเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน
สำหรับข้อสังเกตของ กมธ.สื่อสารฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคาก่อนหน้านี้ ระบุว่า โครงการดังกล่าวมีการล็อคสเปกเอาไว้ตั้งแต่ในมุ้ง เพราะพบพิรุธเงื่อนไขการจัดหาระบบพิมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนหลายรายการ
โดยในเงื่อนไข TOR กำหนดรายละเอียดระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนประจำศูนย์ในทุกรายการ จะต้องเป็นของใหม่ที่อยู่ในสายการผลิต และไม่เคยใช้งานมาก่อน แต่ในภาคผนวก ข. รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ที่จะติดตั้งใน 250 ศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่กำหนดนั้นกลับไม่มีข้อความที่ว่านี้ปรากฏอยู่แต่อย่างใด ทำให้เกิดข้อกังขาว่า น่าจะเป็นความจงใจ เปิดทางให้มีการนำเอาอุปกรณ์ใดๆ มาย้อมแมวส่งมอบได้ทันที แถมสถานที่ติดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ว่ากว่าครึ่งก็คือสถานที่เดิมที่ดีอีเอสเคยเช่า หรือดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ คุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เช่าฯ ใน TOR รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะข้อ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ All-in-One สำหรับงานประมวลผลทั่วไป จำนวน 2,000 เครื่อง ระบุรายละเอียดสเปก โดยอิงจาก ”เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ประจำปี 2563” แต่ในเอกสารแนบภาคผนวก ข. ที่กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ พร้อมสถานที่ติดตั้งที่ต้องส่งมอบนั้น กลับระบุว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับงานประมวลผล แบบที่ 2 พร้อมจอภาพแบบ LED ขนาดไม่น้อยกว่า 19 นิ้ว จำนวน 3,000 เครื่อง ทั้งระบุรายละเอียดสเปก ที่อิงจากเกณฑ์ราคากลาง และคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ประจำปี 2562 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ทั้งยังมีราคากลางค่าเช่าที่สูงกว่าเดิมกว่า 40%

นอกจากนี้ ยังมีข้อพิรุธอีกหลายกรณี อาทิ การกำหนดจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์เช่าที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม โดยใน TOR เอกสารภาคผนวก ก. รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ พร้อมสถานที่ติดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนระบุรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะข้อ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์ All-in-One สำหรับงานประมวลผลทั่วไป จำนวน 2,000 เครื่อง จากจำนวนศูนย์ดิจิทัลชุมชน 250 ศูนย์ (เฉลี่ยติดตั้งศูนย์ละ 8 เครื่อง) แต่ในเอกสารแนบภาคผนวก ข. (P32) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะข้อ 1. เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับงานประมวลผล แบบที่ 2 พร้อมจอภาพแบบ LED หรือดีกว่าขนาดไม่น้อยกว่า 19 นิ้ว จำนวน 3,000 เครื่อง จากจำนวนศูนย์ดิจิทัลชุมชน 250 ศูนย์ (เฉลี่ยติดตั้งศูนย์ละ 12 เครื่อง)
ยังมีเรื่องของบุคลากร ประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งใน TOR ข้อ 4.1.4 และ 4.2 หน้า 3 กำหนดให้มีการจัดหาบุคลากรประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน แห่งละ 1 คน จำนวน 250 แห่ง โดยกำหนดเฉพาะศูนย์ดิจิทัลชุมชน (กลุ่มที่ 2) เท่านั้น แต่ในข้อกำหนด ข้อ 4.2 กลับไม่พบว่ามีการกำหนดให้ต้องมีการจัดหาบุคลากรประจำศูนย์ฯ (กลุ่มที่ 1) แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นโครงการเดียวกัน!