
ทดสอบรถไฟความเร็วสูง “ลาว-คุนหมิง” ฉลุยแล้ว ขณะเส้นทางเขื่อมลงไปยังโฮจิมินห์ซิตี้ -สีหนุวิลล์ก็ใกล้แล้วเสร็จจ่อโดดเดี่ยวประเทศไทย
เพจสิบสองปันนา หลวงพระบาง เชียงตุง ได้โพสต์ถึงความคืบหน้าล่าสุด โครงการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-คุนหมิง โดยระบุว่า..
ขณะนี้รถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% แล้ว และทางการจีน-สปป.ลาว ได้ทดสอบการเดินรถจากนครเวียงจันทน์ถึงคุนหมิง มณฑลยูนนาน ระยะทาง 417 กม.ไปแล้ว เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีระยะทางรวม 417 กม.กำหนดราคาค่าโดยสารจากเวียงจันทน์-คุนหมิง 480 บาท
โดยจะเปิดให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันที่ 2 ธ.ค.64 ซี่งเป็นวันชาติ สปป.ลาว โดยจะออกจากนครหลวงเวียงจันทน์เวลา 09.09 น. ใช้เวลาเดินทางถึงสิบสองปันนาเพียง 4 ชั่วโมง
เส้นทางฝันของนักท่องเที่ยว เวียงจันทน์-วังเวียง-หลวงพระบาง-สิบสองปันนา-คุนหมิง-ต้าลี่-ลี่เจียง-แชงกรีล่า-ทิเบต ใกล้เป็นจริง

ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า การก่อสร้างเส้นทางทางรถไฟความเร็วสูง เวียดนาม-จีน ก็แล้วเสร็จแล้วเช่นกันอันจะทำให้การเดินทางจากนครเวียงจันทน์ เชื่อมต่อไปยังโฮจิมินห์ซิตี้และอ้อมไปที่กัมพูชาที่สีหนุวิลล์ ส่วนทางด้านเหนือนั้นเชื่อมต่อเข้าไปยังประเทศจีนที่มณฑลกวางสี และเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทางสายไหมของโลก โดยเฉพาะสายตรงไปยังมอสโกของรัสเซีย เป็นไปอย่างสะดวก
เป็นสัญญาณว่า เส้นทางสายไหมในภูมิภาคอาเซียนจากลาว เวียดนาม และกัมพูชา กำลังจะเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของโลก ไปยังประเทศจีน โดยรถไฟความเร็วสูง และจากประเทศจีนก็จะเชื่อมต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ตลอดแนวเส้นทางไปทั่วโลก ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าจากกัมพูชา ลาว และเวียดนามไปยังจีน หรือที่จะเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลาง อาฟริกา ยูเรเซีย รัสเซียและยุโรปจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และอำนวยประโยชน์ร่วมกันให้แก่บรรดาทุกประเทศในเส้นทางนั้น และจะทำให้การพัฒนาของลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดเป็นไปตาม "ปฏิญญาซันย่า" ของประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศได้ร่วมมือกันปฏิบัติตามข้อตกลงแผนปฏิบัติงานตามปฏิญญาซันย่า ที่ได้ลงนามกันที่ประเทศกัมพูชาแล้ว ยกเว้นประเทศไทย ซึ่งแม้จะได้ลงนามเป็นภาคีในปฏิญญาซันย่าด้วยแต่ไม่ได้เข้าร่วมลงนามในแผนปฏิบัติ จึงทำให้ 5 ประเทศที่เหลือ คือ จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ลงมือปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการตามปฏิญญาซันย่ากันต่อไปอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยซึ่งไม่ได้เข้าร่วมลงนามในแผนปฏิบัติการด้วยนั้น มีแนวโน้มว่าจะถูกโดดเดี่ยวจากความสำเร็จของการพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ดังกล่าว
