
แฉพฤติกรรมนอกลู่เขตและหน่วยงานท้องถิ่น ดึงใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเรือนประชาชนจนน่าเกลียด วอนนายกฯ ตู่ใช้อำนาจ ศบค.ที่มีจัดการเหลือบทั้งหลายให้ที เผยธุรกิจสำลักวิกฤตไวรัสโควิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังมาสำลักกระบวนการทำงานของ จนท.ไดโนเสาร์เต็มบ้านเต็มเมืองอีก
กรณีเรื่องของการดึงใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ตึกรามบ้านช่อง ที่ยังคงเป็นประเด็นสุดคลาสสิกไม่มีวันตาย ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาออกใบอนุญาต
โดยล่าสุดนั้น หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านรายหนึ่ง ได้ออกมาเปิดเผยความอัดอั้นตันใจที่ผู้ประกอบการฯกำลังเผชิญอยู่ว่า ปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านหรือรับเหมารายย่อยทั่วไปเผชิญอยู่ก็คือ มักถูกเจ้าหน้าที่เขตหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางราย มีการพิจารณาออกใบอนุญาตโดยดึงเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างเอาไว้เกินความจำเป็น จากปกติที่ระเบียบกำหนดให้ต้องพิจารณาอนุมัติแบบภายใน 45 วัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีเคสน้อยมากที่จะได้รับการอนุมัติตามเกณฑ์ดังกล่าว

แม้ว่าในการพิจารณาตรวจสอบแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรือนนั้น จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่การก่อสร้าง ต่อเติมอาคารบ้านเรือนนั้นไม่ใช่การก่อสร้างอาคารชุดหรืออพาร์ทเมนต์ที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบลงลึกในรายละเอียดในเรื่องของระบบวิศวกรและความปลอดภัยทั้งหลายแหล่ แต่กระนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโยธาธิการเขตบางราย ก็มักจะประวิงเวลาดึงเรื่องเอาไว้ ซึ่งแม้ผู้ประกอบการจะยอมจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางหลังละเฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อหลังแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีลูกเล่นตอดเล็กตอดน้อยมาตลอด
บางเคส บางหลังนั้นถูกเรียกเก็บค่าพิจารณาใบอนุญาตหรือแก้ไขแบบ ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อยกันที 30,000-50,000 บาทก็ยังมี อย่างล่าสุดมีผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านรายหนึ่งได้ยื่นแบบบ้าน 4 หลังให้พิจารณา แต่ถูกโยธาเขตรายหนึ่งเรียกเก็บเงินจำนวนถึง 200,000 บาท โดยอ้างว่า เป็นค่าอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ การก่อสร้างบ้านในพื้นที่กทม.มีจำนวนหลาย 1,000 หลังต่อปีซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีจำนานมาก โดยไม่ได้เข้ารัฐแต่อย่างใด แต่สุดท้ายแล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ก็ไปลงที่ประชาชนอยู่ดี

“ยกตัวอย่างล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านรายหนึ่ง ทำสัญญาก่อสร้างบ้านไว้กับลูกค้า และใช้เวลาเตรียมการเตรียมเอกสารอย่างดิบดี กระทั่งให้ทีมงานผู้รับเหมาเตรียมเข้าหน้างาน โดยคาดว่า น่าจะใช้เวลาเดินแบบไม่เกิน 1 เดือน แต่เอาเข้าจริง ผ่านมาวันนี้ ปาเข้าไปกว่า 2 เดือนเศษแล้ว เรื่องก็ยังไม่อนุมัติลงมา ซึ่งเจ้าหน้าที่โครงการที่ติดต่อได้ประมวลเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการพิจารณาใบอนุญาตตามไทม์ไลน์แนบท้ายนี้ ส่วนจะเป็นเขตไหนอย่างไรนั้น ทางเจ้าตัวหรือเจ้าหน้าที่เขตน่าจะรู้ตัวดีอยู่แล้ว”
ในส่วนของผู้ประกอบการฯ นั้น เราเองบอกตามตรงไม่อยากมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ที่ผู้ประกอบการฯเอง ก็สำลักพิษวิกฤติไวรัสโควิดกันหนักหนาสาหัสกันอยู่แล้ว ประชาชนที่จะก่อสร้างบ้านเองก็ไม่อยากจะดำเนินการในช่วงนี้ เพราะไม่แน่ใจกับอนาคต นี่ยังจะมาเจอกับลูกเล่นโยกโย้ใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เขตอีก
“ที่ผ่านมา ยอมรับว่า มีผู้รับเหมารายย่อยหรือรายใหญ่บางราย ก็อาจมีลูกเล่นคือเขียนแบบส่งไปก่อน แล้วค่อยมาปรับปรุงแบบก่อสร้างในภายหลัง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เพราะทุกรายไม่อยากมีปัญหานภายหลังทั้งนั้น ทางผู้ประกอบการฯส่วนใหญ่ จึงนำธุรกิจเข้าระบบอย่างเป็นธรรม ทั้งมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตให้กับรัฐอย่างถูกต้องตามที่รัฐต้องการ และการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค แต่สุดท้ายสิ่งที่พวกเราได้รับ ก็กลับมาเจอกับการใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาใบอนุญาตยิ่งกว่าไดโนเสาร์ของเจ้าหน้าที่บางรายที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายแทบจะถอดใจกันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นายกฯน่าจะใช้อำนาจที่มีอยู่จัดการแก้ปัญหา เพื่อให้วาระแห่งชาติในการขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นจริงเสียที”