
หลังที่ประขุมเจ้าหนี้การบินไทย ยกมือโหวตแผนฟื้นฟูการบินไทยที่คณะผู้จัดทำแผนและเจ้าหนี้รายใหญ่ร่วมกันแก้ไข และได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ในวงกว้างว่า มี “วาระซ่อนเร้น”อะไรอยู่เบื้องหลังถึงทำให้เจ้าหนี้ยอมผ่านแผนฟื้นฟูไปอย่างง่ายดายหรือไม่นั้น
ก่อนที่ทุกฝ่ายจะถึงบางอ้อ เพราะในรายชื่อคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูชุดใหม่จำนวน 5 คน หรือ “5 อรหันต์” ที่จะเข้ามารับไม้ต่อจากผู้บริหารแผนื้นฟูเดิม ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบไปในคราเดียวกัน ที่ประกอบไปด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน, นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีต รมว.พลังงาน (ตัวแทนเจ้าหนี้จากแบงก์กรุงเทพ), นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, นายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การบินไทย นั้น
เป็น 5 อรหันต์ที่แทบจะกล่าวได้ว่า มีคนของเจ้าหนี้เข้ามากำกับดูแล หรือแทบจะเขียนแผนฟื้นฟูเต็มลำเรือเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ตาม “ไทม์ไลน์” ที่วางไว้หลังเจ้าหนี้เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูการบินไทยดังกล่าว ก็เชื่อแน่ว่ากระบวนการฟื้นฟูหลังจากนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดจะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 28 พ.ค.2564 นี้ ทุกฝ่ายเชื่อแน่ว่าคงไม่มีปัญหาเพราะที่ประชุมเจ้าหนี้และคณะผู้จัดทำแผนได้ข้อยุติในกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูไปหมดแล้ว
มีการแชร์ข้อมูล ที่ชี้ให้เห็นเงื่อนไขความไม่ชอบมาพากลกับการฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้ ที่แทบจะเรียกได้ว่า ขนเจ้าหนี้เข้ามากางแผนเลยก็ว่าได้
พร้อมๆ กับการโหวตแผนฟื้นฟูที่กำลังจะมีขึ้น ทางฝ่ายบริหารบินไทยก็ได้ประกาศปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ที่นอกเหนือจากการแต่งตั้งฝ่ายบริหารระดับสูง (ระดับ 11- 13) กันเต็มลำเรือ 26 คนรวด โดยเฉพาะการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 8 สายงานรวด พร้อมปรับลดพนักงานจาก 18,200 คน เหลือ 10,990 คน โดยระบุว่าเป็นการปรับโครงสร้างให้มีจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานและสถานะทางการเงินของบริษัทฯ
อย่างไรก็ตาม ในฉับพลันที่มีการเปิดเผยผลโหวตของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ผ่านแผนฟื้นฟูการบินไทยไปอย่างง่ายดาย หลังจากที่มีการเลื่อนโหวตแผนมาก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายได้ออกโรงคัดง้างและวิพากษ์แผนฟื้นฟูการบินไทยที่กำลังจะมีขึ้นหลังจากนี้ เพราะมี “วาระซ่อนเร้น” ในอันที่จะให้ดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่ 3
นั่นก็คือการยังคงสถานการณ์บินไทยเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่ยังคงมีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ และยังมีภาระที่ต้องเข้าไปค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทอยู่ต่อไป จนถึงขั้นที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาโพสต์สัพยอกนายกฯและรัฐบาลต่อความพยายามดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้งว่า..
"ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะไม่ตัดสินใจอุ้มการบินไทยแบบที่คุณประยุทธ์ทำ" โดยระบุว่า แผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง และหากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ภาษีประชาชนจะต้องถูกนำไปอุ้มการบินไทยอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยนายธนาธร ระบุว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจให้แผนฟื้นฟูนี้ผ่านทั้ง ๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ไม่มีการปรับโครงสร้างงบการเงินอย่างมีนัยสำคัญแบบที่สากลเขาทำกัน เป็นเพราะคุณประยุทธ์ รู้สึกไม่มั่นคงกับสถานะทางการเมืองของตนเอง จึงไม่อยากเผชิญหน้าใครเพื่อผลักดันแนวทางที่ควรจะเป็น คุณประยุทธ์กลัวเสียพันธมิตรและเสียคะแนนนิยมทางการเมืองของตน ในช่วงที่ประชาชนโกรธเคืองรัฐบาลมากอยู่แล้ว
“ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน ที่บริษัทขนาดใหญ่จะผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยังคงมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท และเหตุผลสำคัญที่เจ้าหนี้และผู้เกี่ยวข้องสนับสนุนแผนฟื้นฟูนี้ คือความเชื่อที่ว่าหาก “การบินไทย” เกิดปัญหาอีกในอนาคต รัฐบาลจะเข้ามาอุ้มการบินไทยต่อไปเรื่อย ๆ"
พร้อมกับระบุว่า การแก้ปัญหาที่แก้เพื่อซื้อเวลา หลีกเลี่ยงการจัดการที่เจ็บปวดแต่จำเป็นเช่นนี้ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์กลุ่มสำคัญ คือ กลุ่มทุนธนาคารที่ใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร และเคยร่วมอยู่ในโครงการทุนประชารัฐและคนที่เสียประโยชน์มากที่สุด คือ ประชาชนผู้เสียภาษีทั่วไป ที่ต้องนำเงินที่หายากอยู่แล้วในปัจจุบันไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทย และเสี่ยงที่จะต้องใช้เงินอนาคต อุ้มการบินไทยต่อไปอีกเป็นสิบปี
นายธนาธรยังได้ตั้งข้อสังเกตได้อย่างน่าคิด “แผนฟื้นฟูฉบับนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การบินไทยที่ปรับโครงสร้างการบริหาร รีดไขมันออก ในสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว จะสามารถทำกำไรก่อนภาษี ได้เฉลี่ยปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2578 ติดกันเป็นเวลา 13 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทล้างยอดขาดทุนสะสมได้หมด
“อย่าลืมว่า การคาดการณ์ว่าการบินไทยจะกำไรติดต่อกัน 13 ปี ปีละเกือบ 2 หมื่นล้าน ทันทีที่พ้นวิกฤตโควิด ก็ออกจะมองโลกในแง่ดีเกินจริงไปมาก เพราะในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2562 ซึ่งยังไม่มีโควิด การบินไทยยังขาดทุนไปแล้ว 4.1 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8,200 ล้านบาท”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่นายธนาธรสะท้อนออกมาข้างต้นนั้น ไม่ได้ไกลไปจากความเป็นจริงแต่อย่างใด เพราะเป็นการสะท้อนจากมุมมองของนักธุรกิจที่คว่ำหวอดอยู่กับตัวเลขบัญชีกำไร-ขาดทุน อยู่กับธุรกิจยักษ์หลักหมื่นล้านแสนล้าน ไม่ต่างจากที่การบินไทยเผชิญอยู่
มีอย่างที่ไหนที่เจ้าหนี้โหวตไฟเขียวผ่านแผนฟื้นฟู โดยที่ตัวองค์กรธุรกิจยังคงแบกหนี้ท่วมหัว มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินอยู่ถึง 1.2 แสนล้าน และตัวผู้ถือหุ้นยังคงพร้อมใจกันไม่ยอมลดทุน ตัดหนี้สูญ หรือไม่ยอมใส่ทุนใหม่เข้าไป ขณะที่ตัวเจ้าหนี้เองก็ไม่ยอม “แฮร์คัทหนี้” ของตนเองลงสักบาท ต่างหวังที่จะประคับประคองให้การบินไทยกลับมาผงาด (และกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ) เพื่อจะได้อาศัยช่องทางการกู้เงิน กลับมาฟื้นฟูกิจการ
จึงไม่แปลกที่ธนาธรจะฟันธงว่า นี่คือจุดเริ่มต้นสของหายนะครั้งใหญ่ที่จะเป็นการดึงเอาเม็ดเงินภาษีของประชาชนเข้าไปอุ้มสม

หากจะถามว่า เหตุใดหรือทำไมบรรดาผู้ถือหุ้นเดิมทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์ รวมทั้งกองทุน ที่ร่วมถือหุ้นอยู่ในการบินไทยในปัจจุบัน ต่างสนับสนุนแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ทั้งที่เห็นอยู่เบื้องหน้าว่าโอกาสที่จะพลิกฟื้นกลับมายิ่งใหญ่ดังเดิม หรือถึงขั้นกลับมามีกำไรเป็นหมื่นล้านต่อปีนั้นแทบจะมองไม่เห็น
เพราะอย่างที่นายธนาธรสัพยอกเอาว่า ขนาดในสถานการณ์ปกติที่ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวยังไม่ซบเซา ยังไม่เจอวิกฤติไวรัสมฤตยูโควิด-19 การบินไทยยังขาดทุนปีละนับหมื่นล้านบาท แล้วจะไปตั้งความคาดหวังว่า จะพลิกฟื้นกลับมามีกำไรเป็นหมื่นๆ ล้านติดต่อกันเป็น 10 ปีได้อย่างไรในสถานการณ์ที่ทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤตเช่นนี้
เหตุผลนั้น ก็เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการตกเป็น “จำเลย” หรือต้องถูกลากขึ้นเขียงนั่นเอง เพราะหากปล่อยให้การบินไทยล้มละลายตายไปเลยในวันนี้ โดยหวังเพียงแค่การเฉลี่ยทรัพย์ ซึ่งคาดว่าอาจได้รับการเฉลี่ยหนี้คืนราว 20% ของมูลหนี้ที่มีอยู่เท่านั้น แน่นอนว่าบรรดาผู้บริหารหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์หรือผู้บริหารกองทุนเหล่านี้ มีหวังได้ถูกผู้ถือหุ้นหรือหน่วยงานรัฐไล่เบี้ยสอบกันกราวรูดแน่ โทษฐานที่เอาเงินรัฐไปลงทุนแล้วเสียหายยับเยิน
ก็ย้อนดูตัวอย่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นั่นปะไร ที่ลากเอาผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆ ลงเหวกันหมด ตัวผู้บริหารสหกรณ์และผู้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติเงินไปลงทุนในสหกรณ์ต้องถูกสอบถูกไล่เบี้ย ป่านนี้ยังเคลียร์หน้าเสื่อกันไม่แล้วเสร็จอยู่เลย
ด้วยเหตุนี้ ทุกฝ่ายจึงเลือกที่จะยกมือโหวตสนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทยไปสุดกู่ และถึงขั้นหากเดินเกมดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจได้ ซึ่งเชื่อแน่ว่าข้อเสนอนี้น่าจะซุกซ่อนอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการด้วยแน่ และตัวหน่วยงานรัฐหรือกองทุนที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นเจ้าของคงถูกบีบให้เข้าไปร่วมลงขัน เพื่อดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจได้จงได้แน่
เพราะนั่นจะทำให้ทุกฝ่าย ทุกองค์กรหรือกองทุนสามารถบันทึกเงินลงทุนที่ลงไปในการบินไทยเอาไว้ดังเดิมได้ โดยส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้ด้อยค่าหรือสูญสลายไป ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ค่อยว่าอีกที
เพราะทุกฝ่ายรู้อยู่เต็มอกถึงเวลานั้นทุกคน ตางก็แยกย้ายพ้นภาระรับผิดชอบไปกันหมดแล้ว

ถามตอบไปว่า การบินไทยต้องใช้เงินทุนหมุนเวียน หรือเงินกู้อีกเท่าไหร่จึงจะสามารถกลับมา Run ธุรกิจต่อไปได้ และในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อสถานะหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด หากมีการดึงการบินไทยกลับมาสู่อ้อมอกกระทรวงการคลังดังที่มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาโดยตลอดก่อนหน้านี้
ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนายหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นกูรูทางการเงิน ได้วิเคราะห์ให้เราฟังอย่างง่าย ๆ สุดเบสิกๆ ว่าคิดง่าย ๆ ว่า “วันนี้ การบินไทยที่มีรายได้กว่าปีละ 200,000 ล้านบาทนั้น ยังคงขาดทุนจากการดำเนินงานปีละกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นหมายถึงว่า การาบินไทยนั้นมีต้นทุนในการดำเนินงานโดยรวมอยู่ที่ 240,000-250,000 ล้านบาท หรือตกเดือนละกว่า 24,000-25,000 ล้านบาท หากจะต้องรันธุรกิจ ก็จะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนที่เป็น Cash flow 4-6 เดือนขึ้นไปหรือกว่า 80,000-100,000 ล้านบาท”
นั่นก็คือ เงินก้อนแรกที่จะต้องใส่เข้าไปในทันทีเพื่อให้การดำเนินงานเดินหน้าต่อไปได้
แต่หากจะถามว่า เม็ดเงินที่ใส่เข้าไปดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ถึงขั้นดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ คำตอบนั้นทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดีอยู่แล้ว เพราะในสถานการณ์วิกฤตที่กำลังลามเลียไปทั่วโลกเช่นนี้ ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปีจากนี้ จึงจะพลิกฟื้นกลับมาดังเดิมได้ เหตุนี้ลำพังเม็ดเงิน 80,000-100,000 ล้านที่ใส่เข้าไปข้างต้น จึงเป็นเพียงเม็ดเงินเบื้องต้นที่ใส่เข้าไปเพื่อ Run ธุรกิจเฉพาะหน้าเท่านั้น
หากเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปก้อนนี้ ไม่ได้ผลิดอกออกผล ไม่มี Revenue กลับมาก็จะต้องใส่เงินเพิ่มทุนหรือเงินกู้เติมลงไปอีกระลอก ซึ่งนั่นหมายถึงว่า การบินไทยจำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนใหม่ หรือเงินกู้นับแสนล้านบาทตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“นี่ต่างหากคือหายนะที่น่ากลัวที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หากแผนฟื้นฟูกิจการผ่านการพิจารณาจากทุกฝ่ายไปแล้ว เพราะแม้จะใส่เงินเข้าไปอีกแสนล้านในวันนี้ ก็ไม่มีหลักประกันได้ว่าการบินไทยจะลับมาให้บริการได้ดังเดิม ภายใต้สถานการณ์ที่ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวยังคงจมปลักกันอยู่เช่นนี้”
แน่นอนว่า เม็ดเงินที่ใส่เข้าไปดังกล่าว ไม่ว่าจะในรูปของเงินกู้จากสถาบันการเงิน จะในหรือต่างประเทศ หรือการออกตราสารระดมทุนใดๆก็ตาม หากการบินไทยเป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจก็เป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบรับ แต่หากการบินไทยยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ยังคงมีกระทรวงการคลังถือหางอยู่ ก็ไม่ต่างไปจากมีรัฐบาลและกระทารวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้อยู่นั่นเอง
ทั้งหมดนี้คือ..จุดเริ่มต้นของหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทยหรือไม่?