
จากที่เคยขับเคี่ยวกันเอาเป็นเอาตายในการช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งในแวดวงโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทค่ายแรกประกาศดีเดย์เปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์เป็นเจ้าแรกของประเทศ อีกค่ายยอมซะที่ไหนเป็นต้องชิงปาดหน้าประกาศเปิดให้บริการเช่นกัน
แต่คล้อยหลังเพียง 6 เดือนนับจากค่ายมือถือตบเท้าเข้ารับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นประกอบการ 5จี จาก กสทช. เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 63 สมรภูมิ 5G กลับแผ่วแทบนิ่งสนิท จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าไปติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยหรือไร จึงแผ่วลงไป
จะฮือฮาหน่อยก็เมื่อ "สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ เอไอเอส ออกมาประกาศความเป็นผู้นำเครือข่าย 5G ชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเซีบแปซิฟิก และเป็นอันดับ 1 ในไทยที่มีคลื่นมากที่สุด และวางเครือข่าย 5G SA หรือแบบ Stand Alone ได้ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศเป็นเจ้าแรกไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการเปิดให้บริการ 5จี เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของภูมิภาคนี้ และรายแรกของประเทศ ทั้งยังเป็นการฉลองครบรอบ 30 ปีของการสื่อสารใต้ฟ้าเดียวกันของ "เอไอเอส "ที่เปิดให้บริการมือถือมาครบ 30 ปีในวันที่ 1 ตุลาคม 2563นี้ด้วย โดยไม่เคยมีคำว่า Shut down แม้แต่วันเดียว
"หลังเดินหน้าขยายเครือข่าย 5G ครบ 77 จังหวัด และครอบคลุมเต็มพื้นที่ 100% นิคมอุตสาหกรรมใน EEC แล้วนั้น วันนี้ เอไอเอส ยังสานต่อภารกิจฟื้นฟูประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการขยายพื้นที่ให้บริการเครือข่าย 5G SA (Stand Alone) จนครบทั้ง 77 จังหวัด ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างสำคัญของการต่อยอดนวัตกรรมเครือข่าย AIS 5G ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรมเครือข่าย 5G จำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติของ 5G SA โดยเฉพาะ ด้วยประสิทธิภาพการใช้งานทั้งด้านความเร็ว ความหน่วงต่ำ และการเชื่อมต่อเทคโนโลยี IoT จำนวนมาก"
ฟากทรูมูฟ "True 5G" ที่ก่อนหน้า แม้จะจัดงานเปิดตัวโอเปอเรเตอร์รายเดียวในไทยที่มีคลื่นความถี่ครบทั้ง 7 ย่านความถี่ ทั้งโลว์แบนด์บนคลื่น 700 MHz , 850 MHz และ 900/MHz คลื่น Mid Band 2600 MHz และ High Band 26 GHz ที่สามารถจะรองรับการให้บริการ 5G SA ได้ครอบคลุมทุกบริการที่เป็น 5G โดยไม่จำเป็นต้องทำโรมมิ่งกับเครือข่าย 4G เดิม

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก กระแสการโหมประชาสัมพันธ์ 5G SA เพื่อช่วงชิงความเป็นที่หนึ่ง กลับแผ่วเบาลงไปดื้อๆ ทั้งที่ตลาดสื่อสารยามนี้เปิดกว้างให้ทำได้เต็มที่ จนทำเอาแวดวงสื่อสารแปลกใจทำไมถึงถอดใจไปดื้อๆ ไม่กระเหี้ยมกระหือรือเหมือนก่อน....
นัยว่า เบื้องหน้าเบื้องหลังนั้น ก็เพราะก่อนหน้านี้แต่ละค่ายมือถือต้องกัดฟันควานหาเงินลงทุนเข้าประมูลคลื่น 5จี กันชนิดหืดจับหายใจไม่ทั่วท้อง โดยเฉพาะค่ายทรูที่ทุกฝ่ายต่างรู้กันอยู่เต็มอกแบกหนี้ไว้เต็มเพดานแล้ว จึงอยากให้รัฐเลื่อนประมูลคลื่น 5จี ออกไปสายตัวแทบขาด
ดังนั้น แม้จะได้คลื่นมาครอบครองได้ครบเต็มลำเรือ แต่ก็เทไปหมดหน้าตัก ทำเอาหืดจับหายใจไม่ท่ัวท้องจริงๆ
ยิ่งเมื่อคู่แข่งตีปี๊บจะเร่งเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นเจ้าแรกในภูมิภาคนี้ ทั้งประกาศปูพรมขยายเครือข่ายแบบหามรุ่งหามค่ำ ก็ยิ่งทำให้ต้องกัดฟันควานหาเม็ดเงินลงทุนเพื่อรักษาหน้าไว้ให้ได้
แต่ไม่ว่าอย่างไร อย่างน้อย 2 ค่ายมือถือ "เอไอเอส-ทรูมูฟ" ก็ข่วยรักษาหน้าและทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่า..”เปิดให้บริการ 5จีในเชิงพาณิชย์ได้เป็นประเทศแรกๆ ของโลก ทำให้ไทยไม่ตกขบวน 5จี เฉกเช่นในอดีตที่เคยล้าหลังเปิดให้บริการมือถือ 3จี และ 4จี มาแล้ว”
ลองนึกสภาพการณ์ หากไทยยังไม่เคาะประมูลคลื่น 5จี หวังรอให้สถานการณ์วิกฤติไวรัส โควิด-19 คลี่คลายลงก่อนแล้วค่อยประมูลคลื่น 5 จีกัน วันนี้ประเทศไทยเราคงหน้าแตกกันอีกระลอก เพราะะคงต้องล้าหลัง สปป.ลาว ที่เพิ่งดีเดย์เปิดให้บริการ 5 จี ไปเมื่อขวบเดือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน