
ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธาน องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT โพสต์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 เกาะติดความเน่าเฟะโครงการก่องสร้างอาคารราชถูกทิ้งร้างนับ 1แสนล้านบาท ผ่านบทความ“แก้ปัญหาอาคารราชการ 1 แสนล้านบาท ที่ทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จได้อย่างไร?”
โดยระบุว่า.. อาคารราชการทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จทั่วประเทศมูลค่านับ “แสนล้านบาท” อาจสูญเปล่าหรือรอการอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ ถึงเวลาคนไทยต้องร่วมมือกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐเพื่อไม่ให้เงินและทรัพยากรของชาติต้องสูญเสียซ้ำอีกในอนาคต

เพียงแต่วันนี้จะไม่มีใครบอกได้ว่า ทั่วประเทศมีอาคารทิ้งร้างฯ จำนวนและมูลค่าเท่าใด อยู่ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของบ้าง มีเพียงตัวเลขบางส่วนจากการสำรวจโดยสำนักผู้ตรวจราชการ สำนักปลัดสำนักนายกฯ และข่าวที่ผู้บริหาร ป.ป.ช. ระบุว่า จังหวัดเล็กๆ อย่าง “ตรัง” มีอาคารทิ้งร้างมากถึง 2.8 พันล้านบาท (5 ก.พ. 2568)
หากใช้ตัวเลขเพียงครึ่งเดียวของจังหวัดตรัง คือ 1.4 พันล้านบาท คูณด้วย 76 จังหวัด ตัวเลขที่ได้จะตกราว 1 แสนล้านบาท นี่ยังไม่รวม กทม. ที่พบปัญหาเช่นกัน ผู้เขียนจึงใช้ตัวเลขนี้เป็นมูลค่าเริ่มต้น
บางท่านชี้ว่าจังหวัดตรังอาจเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดแล้ว จังหวัดอื่นคงไม่แย่ขนาดนั้นก็ได้!!
แต่ ...ตรังก็มีอาคารทิ้งร้างแพงสุดแค่สี่ร้อยกว่าล้านบาทเท่านั้น!!
บางท่านมองว่า ทั่วประเทศต้องมีอาคารใหญ่ระดับพันล้านจำนวนมากที่สร้างไม่เสร็จ วงเงินรวมจึงจะแตะระดับแสนล้านบาทได้ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์หอยสังข์ที่สงขลามูลค่า 1.4 พันล้านบาท

แต่อย่าลืมว่า มีความเสียหายที่กระจายซ่อนอยู่ในทุกจังหวัดและหลุดทุกการสำรวจ คือ โครงการทิ้งร้างทั้งใหญ่และเล็กจำนวนมากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างเอง และโครงการที่หน่วยงานจากส่วนกลางรวมทั้งหน่วยทหารมาสร้างแล้วยกให้ อปท. หรือโรงเรียนต่างๆ รับไปดูแล เช่น ศูนย์เด็กเล็ก สนามกีฬา ศูนย์ท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ โรงผลิตน้ำดื่ม ฯลฯ
อีกคำถามชวนคิดคือ กรณีอาคาร กสทช. มูลค่า 2.64 พันล้านบาท แม้ปล่อยทิ้งมาหลายปีแล้ว แต่อีก 2 ถึง 5 ปีข้างหน้า เมื่อเคลียร์ปัญหาฟ้องร้องกับผู้รับเหมาเดิม จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแล้วเริ่มต้นประมูลหาผู้รับเหมารายใหม่มาทำงานต่อให้เสร็จ อย่างนี้ควรนับรวมในตัวเลขแสนล้านนี้ด้วยหรือ

ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งอาคารสำนักงาน สตง. ที่ก่อสร้างค้างคาอยู่นับสิบจังหวัด
แนวทางการแก้ไข..
การที่ไม่มีใครรู้ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง เกิดจากปัจจัยสำคัญคือ “หน่วยงานที่ไปลงทุนก่อสร้างให้” ไม่รับรู้ว่ามันถูกทิ้งร้างหรือใช้งานต่อเพราะตนโอนไปให้หน่วยงานอื่นแล้ว ขณะที่ “หน่วยงานเจ้าของอาคารเอง” ก็ไม่เอาเป็นภาระหรือไม่รู้จะจัดการอย่างไร น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือไม่เคยมีกฎระเบียบหรือมาตรการให้ “หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยกำกับดูแล” ต้องเก็บรวบรวมข้อมูล
ทางออกของวันนี้จึงต้องมีหน่วยที่มีศักยภาพและเป็นกลาง รับเป็นเจ้าภาพลงสำรวจพื้นที่ บันทึกจำนวน ที่ตั้ง สภาพปัจจุบันและมูลค่าที่แท้จริง เก็บข้อมูลอาคารสร้างไม่เสร็จนานเกินสามปีหรือห้าปี ส่วนอาคารทิ้งร้างต้องระบุชื่อเจ้าของเงินลงทุนและเจ้าของปัจจุบัน แล้วนำเรื่องสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ร่วมกัน ด้วยความรับผิดชอบ และเปิดเผยต่อประชาชน

แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า..
1. หาผู้รับเหมารายใหม่มาทำต่อให้จบ แม้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 10% – 100% ตามสภาพโครงการที่สร้างไม่เสร็จ ถูกทิ้งร้าง และมูลค่าก่อสร้างที่ทำได้จริงในปัจจุบัน
2. เปิดให้หน่วยงานอื่นมาใช้แทน หรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานของอาคารตามที่ชุมชนต้องการ
3. เปิดให้เอกชนเช่าใช้สถานที่ระยะยาว ลงโทษ
4. ห้ามมิให้หน่วยงานที่มีสิ่งปลูกถูกขึ้นบัญชีตามข้อ 1 ทำโครงการก่อสร้างใหม่อีกจนกว่าจะสะสางของเก่าเสร็จสิ้น

การป้องกันปัญหาระยะยาว “เลิก - รื้อ - รัดกุม”..
ปัญหาคาราคาซังนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอำนาจหลายฝ่ายร่วมกัน เช่น สำนักงบประมาณ กมธ. พิจารณางบประมาณฯ รัฐสภา รัฐบาล ฯลฯ
1. เลิกธรรมเนียมการลงทุนโครงการก่อสร้างโดยหน่วยงานส่วนกลาง แล้วโยนให้หน่วยงานในพื้นที่รับไป โดยที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจว่าต้องการหรือไม่ ไม่มีแผนการใช้งาน ตระเตรียมงบประมาณเพื่อบริหารจัดการ ขาดการออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ หรือวางแผนการตลาดกระตุ้นให้เกิดการใช้สอยสถานที่นั้นให้คุ้มค่า
พูดให้ชัดก็คือ ถ้าอยากเห็นท้องถิ่นพัฒนา รัฐบาลต้องกระจายงบกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ
2. รื้อ “แบบแผนการอนุมัติโครงการก่อสร้าง” “การจัดทำและอนุมัติงบประมาณ” การกำหนด “ราคากลางเพื่อการจัดซื้อฯ ที่เหมาะสม” มีแนวทางจัดหาผู้รับเหมาฯ ที่มีศักยภาพจริง เป็นต้น ทั้งกรณีที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เงินนอกงบประมาณหรือรายได้ของหน่วยงานเอง
3. รัดกุมในการลงทุนให้มีรูปแบบเหมาะสม เพียงพอ ไม่แข่งกันฟุ่มเฟือย สร้างภาระหนักในดูแลรักษา ซึ่งกำลังเป็น “ค่านิยมใหม่” ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการของหน่วยงานรัฐช่วงสิบกว่าปีมานี้ เช่นเดียวกับตึก สตง. ที่ถล่มลงและอีกหลายแห่งที่ใช้งานอยู่หรือกำลังออกแบบก่อสร้าง

บทสรุป..
ข้อมูลที่ได้รับฟังจากผู้นำชุมชนในพื้นที่และผู้บริหาร ป.ป.ช. บางท่าน ทำให้ทราบว่าปัญหาเช่นนี้พบมากใน 3 จังหวัดภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา “เพราะมีงบความมั่นคง งบอัดฉีดจากหน่วยต่างๆ เยอะมาก การจัดซื้อฯ ก็มักใช้วิธีพิเศษ” ประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยให้ชัดเจนต่อไป
เรื่องนี้สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของราชการที่คนไทยต้องร่วมมือกันผลักดันแก้ไข ไม่ปล่อยให้เงินภาษีประชาชนต้องสูญเสียไปง่ายๆ จากความด้อยประสิทธิภาพ คอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบอีกต่อไป
ท่านที่สนใจสามารถอ่านสาเหตุที่เกิดอาคารราชการทิ้งร้างสร้างไม่เสร็จจำนวนมาก ได้จากเอกสารประกอบ 1 และ 2 ท้ายบทความนี้ครับ
เอกสารประกอบ..
1. คอร์รัปชัน-มักง่าย ต้นเหตุอาคารราชการทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ https://www.isranews.org/article/isranews-article/138704-construct.html
2. อาคารราชการทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ ใครต้องรับผิดชอบ? https://www.isranews.org/article/isranews-article/137756-mana-53.html
3. ‘งานของผู้ใหญ่’ ชั่วร้ายกว่าฮั้วประมูล https://www.isranews.org/article/isranews-article/138596-ccorruptionn.html
- อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
YouTube @เนตรทิพย์ ออนไลน์
อาคารราชการทิ้งร้างเกลื่อน..
https://youtu.be/E9LtRZpGL4I