เบื้องหลังแก้สัญญาไฮสปีดเทรน 3 สนามบินไม่คืบ อัยการสูงสุดชิ่งหนีเผือกร้อน ดองร่างสัญญาจะ 6 เดือน รอวันเกษียณ จ่อโยนอัยการสูงสุดคนใหม่เคาะ กระทบต้องลดไซส์สนามบินอู่ตะเภายกแผง
…
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเดิมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มดำเนินงาน Notice to Proceed : NTP ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 นี้ แต่ล่าสุด นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. ระบุว่า ต้องเลื่อนการออก NTP ออกไปเป็นสิ้นเดือนหรือมากกว่านั้น

เนื่องจากการเจรจาแก้ไขสัญญากับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานโครงการยังไม่แล้วเสร็จ ในเงื่อนไขให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการไปก่อน บนสมมุติฐานที่ยังไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้ต้องปรับลดขนาดโครงการลงทั้งหมด
โดยก่อนหน้า สกพอ. มีการเจรจาปรับแผนการดำเนินโครงการจาก 4 ระยะ เป็น 6 ระยะไปแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเข้ามา จึงจำเป็นต้องปรับแผนการดำเนินโครงการในระยะแรกโดยลดขนาดการลงทุนลงมาให้เหมาะสม เช่น อาจเริ่มต้นพัฒนาโครงการรองรับผู้โดยสารจำนวน 3 ล้านคนไปก่อน จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 6-8 ล้านคน แล้วค่อยพัฒนาให้เต็มเฟสเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงเข้ามา หรือเมื่อจำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้นถึง 80% ของแผนจึงจะเริ่มดำเนินการในเฟสต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม ก็คือ เมื่อไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเข้ามา ย่อมกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะให้เป็นท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 3 ทั้งยังมีประเด็นจากการที่ภาครัฐ อย่าง ทอท. หันไปขยายศักยภาพของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองเพิ่มเติม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกทั้งสิ้น ทำให้ต้องมีการเจรจาปรับเงื่อนไขการร่วมลงทุนและสัญญากันใหม่
ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) นั้น แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาร่างแก้ไขสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงรายละเอียดข้อสัญญาต่างๆ ที่มีการแก้ไขเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

โดยการแก้ไขสัญญาดังกล่าว กระทำภายใต้กรอบ พ.ร.บ.อีอีซี ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) พ.ศ.2562 เพราะมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากกว่า คาดว่า สำนักงานอัยการสูงสุดน่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนส่งเรืองกลับมายัง รฟท. และ สกพอ. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าการตรวจร่างแก้ไขสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุดคงไม่สามารถจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากอัยการสูงสุดคนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุราชการ น่าจะต้องรอให้อัยการสูงสุดคนต่อไปรับช่วงต่อ ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่นิ่ง ทำให้โอกาสที่โครงการนี้จะถูกนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ อาจไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้ง่าย เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่มีผลผูกพัน อาจถูกมองว่า เป็นการทิ้งทวนได้ ทำให้เส้นทางการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน น่าจะถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

ขณะเดียวกันยังมีการตั้งข้อสังเกต เหตุใดการรถไฟฯ และ สกพอ. จึงเลือกใช้แนวทางแก้ไขสัญญาสัมปทานภายใน พ.ร.บ.อีอีซี ทั้งที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน และไม่มีอำนาจอนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานด้วยตนเอง เพราะอีอีซีนั้นเป็นเพียงให้อำนาจในการกำหนดขอบเขตพื้นที่จัดตั้งอีอีซี และหน่วยงานศึกษาจัดทำข้อเสนอแนะการขยายขอบเขตอีอีซีเท่านั้น
ประกอบกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่ได้มีโครงข่ายอยู่แต่เฉพาะในเขตอีอีซี แต่มีโครงการสนับสนุนที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และยังเกี่ยวพันกับโครงการอื่นๆ นอกเขตอีอีซีด้วย การดำเนินการแก้ไขสัญญา จึงจำเป็นต้องดกระทำภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ไม่สามารถจะใช้กฎหมายใดๆ มาทำการยกเว้นได้