
นอกจากจะ "ทุบและป่วน" ตลาดการค้าโลกจนปั่นป่วนไปทั้งโลก จากนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากคู่ค้าของสหรัฐฯ นับ 100 ประเทศ โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เพื่อแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าของสหรัฐอย่าง "ถึงพริกถึงขิง" จนทำเอา "องค์การการค้าโลก" หรือ WTO แทบไม่มีที่ยืนหรือมีตัวตนไปแล้ว เวลานี้ "โดนัลด์ ทรัมป์" ยังฟาดงวงฟาดงาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อ "ยกเลิก" การอุดหนุนแหล่งพลังงาน“สีเขียว”อีกต่างหาก!
….
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ยังลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อ "ยกเลิก" การอุดหนุนแหล่งพลังงาน “สีเขียว” ที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ตามพระราชบัญญัติ One Big Beautiful Bill
คำสั่งดังกล่าว กำหนดให้ รมต.คลังสหรัฐฯ "ยุติ" การอุดหนุนการผลิตและให้เครดิตทางภาษีการลงทุนสำหรับไฟฟ้าพลังงานสะอาด อย่าง โรงไฟฟ้าพลังงานลม และไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับชาวอเมริกัน ป้องกันไม่ให้ชาวอเมริกันต้องมาสนับสนุนนโยบายพลังงานที่มี "ราคาแพง" และไม่น่าเชื่อถือ (Green New Scam)
การประกาศนโยบายล่าสุดของทำเนียบขาวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ามุมมองของสหรัฐฯ นั้น มองแหล่งพลังงานสีเขียวทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถืออีกต่อไป ถือเป็นภัยคุกคามทางการเงิน และความมั่นคงของชาติ ทำให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานที่ควบคุมโดยต่างชาติ (foreign adversaries) ดังนั้น การยุติค่าใช้จ่ายเงินภาษีจำนวนมหาศาลไปกับแหล่งพลังงานดังกล่าว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อเมริกายังครองตลาดพลังงาน ความมั่นคงของชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสุขภาพทางการเงินของประเทศไว้ได้
คำสั่งประธานาธิบดีทรัมป์ล่าสุด ทำให้ความเชื่อมั่นในแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้อย่าง "นิวเคลียร์ และเชื้อเพลิงฟอสซิล" กลับมามีบทบาทอีกครั้ง และก่อให้เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วเป้าหมายที่จะให้ทั่วโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงงานที่ก่อมลพิษเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ 0 Net Zero ที่ทั่วโลกกำลังบ่ายหน้าไปเต็มสูบกันอยู่นั้นจะทำอย่างไร เป้าหมายนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ หรือจะต้องทบทวนสังคายนากันใหม่ยกกระบิ!

#กระทบนโยบายพลังงานสีเขียว?
ประเทศไทยประกาศรุก "พลังงานสะอาด" เป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff เพื่อหวังจะเป็นปัจจัยเร่งรัดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ FDI เพื่อลดการกีดกันทางการค้าจากภาษีคาร์บอนไป EU โดยเชื่อว่า จะเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและ GDP ไทย
โดยในส่วนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และกระทรวงพลังงาน มีโครงการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียวที่ว่านี้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP 2024-2025 ที่อยู่ระหว่างการโม่งแป้งมาจะ 3 ปีเข้าไปแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำคลอดออกมา
ขณะที่ก่อนหน้าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็มีการตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั้งในรูปแบบ Adder และ Feed in Tariff มานับพันเมกะวัตต์ไปแล้ว ล่าสุดที่ยังคงคาราคาซังอยู่ก็คือโครงการจัดหาพลังงานสะอาด เฟส 2 จำนวน 3,600 MW ที่ยังคงถูกชะลอเอาไว้ แม้จะมีการประกาศผลพิจารณาโครงการไปแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกันในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น มีการเปิดขายไฟฟ้าสีเขียวจากเขื่อน กฟผ.ทั้ง 7 แห่ง ผสมผสานกับไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำที่ กฟผ. ซุ่มดำเนินโครงการนำร่องที่เขื่อนอุบลรัตน์ มาตั้งแต่ปีก่อน

โดยเมื่อต้นปี 2568 สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ 3 การไฟฟ้า คือ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ร่วมกันเปิดให้บริการ "ไฟฟ้าสีเขียว" แบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรับบริการไฟฟ้าสะอาด รองรับปริมาณความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยกำหนดอัตราค่าบริการที่เพิ่มจากค่าไฟฟ้าปกติ 6 สตางค์ต่อหน่วย
โดย กฟผ. และ 2 การไฟฟ้า (กฟน. และ กฟภ.) ได้จัดเตรียม UGT1 ไว้รองรับความต้องการรวมประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี พร้อมทั้งจัดเตรียมแบบฟอร์มการออกเอกสารรับรองไฟฟ้าสะอาดและแหล่งที่มาภายใต้มาตรฐาน I-REC ซึ่งเป็นใบรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากล ซึ่งถือเป็นก้าวแรกก่อนจะมีการเปิดให้บริการไฟฟ้าสีเขียวแบบผู้ใช้ไฟฟ้าเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) และ Direct PPA ในอนาคต
นอกจากนี้ กฟผ. ยังซุ่มพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ล่าสุดที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การประกวดราคาจัดหาและติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เขื่อนภูมิพล ชุดที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 158 เมกะวัตต์ (MWac) วงเงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนทุ่นลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อน โดยเปิดรับซองข้อเสนอมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2568 และกำหนดเปิดซองราคาวันที่ 14 กรกฎาคมศกนี้
(รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www4.egat.co.th/fprocurement/biddingeng/main/3582)
นอกจากนี้ กฟผ. ยังเดินหน้าจัดประกวดราคาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทุ่นลอยน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ชุดที่ 1 จ.กาญจนบุรี ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ (MWac) วงเงินลงทุนกว่า 1,223 ล้านบาท โดยขายซองประกวดราคาและรับซองข้อเสนอเอกชนที่สนใจเข้ายื่นข้อเสนอไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา กำหนดเปิดซองราคาวันที่ 16 กันยายน 2568 นี้
ทั้งสองโครงการ เป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ผ่านกลไกการสนับสนุนการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2570

คำถามก็คือ เมื่อบริบทด้านพลังงานของโลกต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากนโยบายด้านพลังงานของประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่หันไปให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าหลัก อย่างพลังงานน้ำ นิวเคลียร์ และฟอสซิลโดยตรง พร้อมทั้ง "ทิ้งบอมบ์" ไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือไฟฟ้าสีเขียวว่า เป็นสิ่ง "ลวงโลก" ที่ทำให้ประชาชนคนอเมริกันต้องถูกเรียกเก็บค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง เพื่อแลกกับการสร้างภาพพลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียวที่ว่า ที่ไม่ได้มีความยั่งยืนหรือมั่นคงอะไรเลยนั้น
สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อเป้าหมายและ "ไทม์ไลน์" การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065 ไปโดยปริยาย ธุรกิจข้ามชาติของอเมริกาที่ไปลงทุนยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกที่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวจะถูกลดบทบาทความสำคัญลงไปโดยปริยาย ไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือไฟฟ้าสีเขียวไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนอะไรอีกแล้ว
ทำให้อดคิดต่อไปไม่ได้ว่า แล้วโครงการจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำบน 2 เขื่อนหลัก ของ กฟผ. วงเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาทนั้น สมควรหรือจำเป็นต้องทบทวนหรือไม่?