
รถไฟฟ้าสายสีส้มยังห้าวแป้ง “บิ๊ก รฟม.” วิ่งตีนพลิกหวังศาลปกครองสูงสุดเร่งเคลียร์หน้าเสื่อคดีค้าง หวังปาดหน้าเซ็นสัญญาก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามา ด้าน “สุรเชษฐ-ก้าวไกล” ยันรบ.ใหม่ล้างไพ่ประมูลใหม่แน่ เหตุอดีตพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรคร่วมยื่นป.ป.ช.สอบฮั้วโครงการเอง เป็นไปไม่ได้ที่จะไฟเขียวให้
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์ (มีนบุรี) ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนรวม 1.427 แสนล้านบาท ว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้สั่งกระทรวงคมนาคมให้ถอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบผลประมูลโครงการนี้ที่มีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ได้รับคัดเลือกออกไป เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาแทน เนื่องจากยังคงมีคดีความฟ้องร้องในศาลปกครองสูงสุดคั่งค้างอยู่นั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า ฝ่ายบริหาร รฟม. ยังคงมีความพยายามจะเร่งรัดการดำเนินโครงการนี้ โดยพยายามร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดเร่งรัดการพิจารณาชี้ขาดหรือมีคำสั่งคดีที่ยังคงค้างอยู่อีก 2 คดี คือ คดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาขน) หรือ บีทีเอส (BTS) ฟ้องร้อง รฟม. และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ และคดีการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการกีดกันการแข่งขัน โดยคดีแรกนั้น มีรายงานว่า ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องไปแล้ว ยังเหลือคดีสุดท้ายการจัดทำทีโออาร์การประมูลใหม่ ที่ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ลงมา
“ฝ่ายบริหาร รฟม. ต้องการให้มีการลงนามในสัญญาโครงการนี้ไปก่อน เพื่อจะให้สัญญามีผลผูกพันเอกชน ทำให้รัฐบาลใหม่ไม่สามารถจะยกเลิกการประมูลได้ เพราะอาจทำให้ถูกฟ้องตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของฝ่ายบริหาร รฟม. ข้างต้นยังไม่บรรลุผล เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก เครียดหนัก เพราะรู้ดีว่าหากรัฐบาลใหม่เข้ามาจะถูกไล่เช็คบิลตามมาอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเปิดเผยว่า แม้ฝ่ายบริหาร รฟม. จะพยายามเร่งรัดให้ศาลเคลียร์หน้าเสื่อคดีคั่งค้างต่างๆ เพื่อหวังจะให้รัฐบาลรักษาการไฟเขียวผลประมูลโครงการนี้ต่อไป เพื่อให้มีการลงนามในสัญญากับ BEM ให้ได้ก่อนรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา เนื่องจากมีสัญญานชัดเจน ทั้งจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล รวมทั้งจากแกนนำพรรคเพื่อไทยที่คาดหมายว่าจะเข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคมว่าจะล้มประมูลโครงการนี้และจัดการประมูลใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้กลุ่มเอกชนที่เข้าประมูลได้เข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม
“ยิ่งในส่วนของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ตอนแรกมีข่าวว่า อาจเข้าเป็น รมว.คมนาคมเอง ก่อนที่ในภายหลังจะมีการยืนยันออกมาว่า จะเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทยนั้น ได้มีการยืนยันก่อนหน้าชัดเจนว่า จะล้มประมูลโครงการนี้แน่ เพราะก่อนหน้านี้ทั้งพรรคก้าวไกลและพันธมิตรฝ่ายค้าน เคยหยิบยกกรณีประมูลโครงการนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และ รมต.คมนาคมมาแล้ว รวมทั้งยังร่วมกันยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการนี้ ทั้งในส่วนของ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม และฝ่ายบริหาร รฟม. กรณีข้อสงสัยการทุจริตประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีความพยายามกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้าร่วมประมูล รวมทั้งส่วนต่างที่รัฐต้องจ่ายอุดหนุนให้เอกชนสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาทด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลใหม่จะไฟเขียวให้กับโครงการนี้ ทำให้บิ๊ก รฟม.มีความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะเร่งรัดให้ศาลปกครองสูงสุดเคลียร์หน้าเสื่อคดีค้างเก่า เพื่อหวังจะให้รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันไฟเขียวให้มีการลงนามในสัญญาก่อนรัฐบาลใหม่จะเข้ามา”

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของแนวทางการล้างไพ่ จัดประมูลใหม่นั้น ยังคงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแสดงความหนักใจ เนื่องจากหากจะแยกสัญญาก่อสร้างระบบงานโยธา ออกจากงานเดินรถและซ่อมบำรุง จะก่อให้เกิดความล่าเช้า เนื่องจากโครงการเดิมนั้นไม่ได้ดำเนินการศึกษาและแยกงานประมูลก่อสร้างออกจากการเดินรถ หากจะมีการแยกเนื้องานก่อสร้างออกมาจัดประมูลใหม่ แม้จะสามารถทำได้ แต่ในส่วนของสัมปทานเดินรถและซ่อมบำรุงนั้น จะต้องกลับไปดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าใหม่ ที่คาดว่า จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน - 1 ปีกว่าจะเปิดประมูลได้
“เป็นเหมือนไฟลท์บังคับ ที่คงจะต้องรวมงานก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าเอาไว้ด้วยกันและจัดประมูลไปพร้อมกัน เพราะสามารถจะทำได้เร็วกว่า เพียงแต่จะต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขประกวดราคา เพื่อเปิดกว้างให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมเท่านั้น ซึ่งเชื่อแน่ว่าผลประมูลที่ออกมา หากมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว วงเงินที่ภาครัฐและ รฟม. ต้องชดเชยแก่เอกชนจะต่ำกว่า ผลประกวดราคาที่ฝ่ายบริหาร รฟม. กำลังแห่แหนไปทั่วสิบทิศอยู่ในเวลานี้หลายหมื่นล้านบาทแน่ และแม้จะทำให้โครงการต้องล่าช้าออกไป 3-6 เดือน แต่หากรัฐสามารถประหยัดเม็ดเงินภาษีลงไปได้ 30,000-50,000 ล้านบาทก็ถือว่าคุ้ม”