
บอร์ดอีอีซีถกเครียดแก้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก่อนโยนลูกให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เหตุนายกฯ เตรียมยุบสภาเข้าสู่รัฐบาลรักษาการ ไม่ต้องการสร้างภาระผูกพัน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวานนี้ (1 มี.ค.) ยังไม่มีการพิจารณาร่างแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ในกลุ่มบริษัทซีพี โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งได้มีการเจรจาเสร็จแล้ว

โดยกลุ่มซีพี ได้ขอให้ภาครัฐร่นเวลาจ่ายเงินอุดหนุนค่าก่อสร้างโครงการเร็วขึ้นจากกำหนดเดิมในสัญญาที่ต้องก่อสร้างแล้วเสร็จ (ปีที่ 6 ของสัญญา มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี) มาเป็นเดือนที่ 21 ของสัญญา และปรับร่นระยะเวลาจ่ายคืนเป็น 7 ปี ในวงเงินรวม 133,475 ล้านบาท เพื่อแลกกับการที่เอกชนจะแบกรับภาระค่าก่อสร้างโครงสร้าง Super Structure ส่วนที่ทับซ้อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพอ. ยังไม่สามารถพิจารณาประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่นายกฯ เตรียมประกาศยุบสภา และรัฐบาลกำลังจะเข้าสู่ช่วงรัฐบาลรักษาการที่ไม่สมควรจะมีการพิจารณาประเด็นที่จะสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลใหม่ ประกอบกับกรรมการ กพอ. บางส่วนเห็นว่า การรถไฟฯ (รฟท.) ควรจะหารือประเด็นดังกล่าวให้มีความรอบคอบ และไม่ควรยอมรับเงื่อนไขการ “สร้างไป-จ่ายเงินไป” แต่ควรให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จบางส่วนไปก่อน จึงค่อยมาพิจารณาการเบิกเงินอุดหนุนค้าก่อสร้างตามมติ ครม.

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) เป็นระยะเวลา 7 งวด อันเป็นผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถนการณ์ฉุกเฉิน จึงหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมตามแนวทางพีพีพี ส่วนจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ได้ก่อนหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเจรจาจัดทำร่างสัญญา

รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการนี้ ในประเด็นหากมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น โดยไม่ต้องนำกลับมาเข้าสู่ที่พิจารณาของบอร์ดนโยบายอีก เช่นเดียวกับการแก้ไขสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก และท่าเรือมาบตาพุด
ทั้งนี้ ผลพวงจากการที่ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินได้ทั้งหมดนั้น ทำให้เส้นทางการก่อสร้างโครงการนี้ อาจต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปีนี้ โดยในส่วนของการรถไฟฯ นั้นยังคงไม่สามารถจะออกหนังสือ NTP อนุญาตให้เอกชนผู้รับสัมปทานเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการได้ จำเป็นต้องมีการเจรจาแก้ไขสัญญาบางส่วนเพิ่มเติม

นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยถึงกรณีจะมีการเสนอให้ ครม. แก้ไขสัญญาโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า หากเป็นรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะมีผลผูกพันต่อเนื่องไปยังรัฐบาลชุดต่อไป ดังนั้น หากรัฐบาลปัจจุบันจะมีการพิจารณาแก้ไขสัญญาก็ต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการยุบสภาฯ หากดำเนินการไม่ทันก็ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาพิจารณา

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม กพอ. เห็นชอบให้มีการแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นธรรมทุกฝ่าย โดยที่ประชุมฯอนุมัติให้มีการพิจารณาปรับสัญญาในประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (ARL) เป็นระยะเวลา 7 งวดจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าทั้งจากสถานการณ์โควิด 19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ที่ลดลงอย่างมาก จึงหาทางออกร่วมกันที่เหมาะสมตามแนวทางพีพีพี ซึ่งภายหลังแก้สัญญาแล้ว รฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิฯ ครบถ้วนจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสอีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็นวงเงิน 11,731 ล้านบาท