
“พรเทพ เบญญาอภิกุล” นักวิชาการที่ทำรายงานการควบรวม “ทรู-ดีแทค” ออกโรงโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ชำแหละ 3 รายงานสรุปที่จัดทำโดยสำนักงานกสทช., ที่ปรึกษาอิสระฟินันซ่า และงานศึกษาของจุฬาฯ ส่อบิดเบือนความจริง จวกสำนักงานฯกสทช. นำเสนอรายงานให้บอร์ดพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทคอย่างไม่ตรงไปตรงมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการที่ทำรายงานการควบรวมกิจการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และยังดำรงตำแหน่งอนุกรรมการเพื่อวิเคราะห์การรวมธุรกิจถึง 2 คณะ ได้แก่ อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุ ถึงการทำหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่รับหน้าที่รวบรวมรายงานเพื่อเสนอต่อบอร์ดเพื่อให้ลงมติเกี่ยวกับการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ โดยในเฟซบุ๊คมีใจความระบุว่า..
รายงานที่สำนักงาน กสทช. เสนอกรรมการวิสามัญพิจารณาผลกระทบการควบรวมของสภาฯ โดยอ้างงานศึกษาต่างประเทศ เลือกใช้กรณีศึกษาของประเทศที่มีผลกระทบตามที่ตนอยากเสนอ ไม่พูดถึงประเทศที่ราคาเพิ่มหลังควบรวม ทั้ง ๆ ที่อยู่ในงานเดียวกัน บางประเทศอ้างผลไปทิศทางตรงกันข้ามกับงานศึกษาต้นฉบับ
"ผมอยู่ในกรรมการวิสามัญสภาชุดนี้ ตลอดเวลาที่ตัวแทนสำนักงาน กสทช. มาชี้แจงจะยืนยันเสมอว่า บอร์ด กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามการควบรวม โดยไม่เคยพูดถึง หรือนำเสนอ ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. ปี 2561 เลย"
นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ปรึกษาอิสระบริษัท หลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด โดยระบุว่า ก่อนควบรวม มี 3 รายหลักถือว่าเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย หลังควบรวม เหลือ 2 รายหลัก ก็ถือเป็นตลาดผู้ขายน้อยเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นราคาไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง (อันนี้จริงหรือเอาฮา?) นอกจากนี้ ยังอ้างทฤษฎี Bertrand Oligopoly แบบ basic แล้วพาลไปสรุปว่า หลังการควบรวมราคาไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมทั่วไปรู้อยู่แล้วว่า ทฤษฎีโดยแกนไม่สามารถนำไปใช้ได้เลยต้องปรับสมมติฐานเพิ่มเติม เช่น สินค้ามีความแตกต่าง ผู้ขายอยู่ในตลาดด้วยกันระยะยาว ผลก็จะออกมาว่าราคามันสูงขึ้นเมื่อตลาดกระจุกตัว
และสุดท้ายมีการเสนอร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์ ในกรอบงบประมาณ 10 ล้านบาท โดย ผศ.ดร.พรเทพ ชี้ว่า “งานดังกล่าวเป็นการศึกษาขนมชั้น แบบเวลาสั่งรายงานให้นักศึกษาทำ แล้วก็ไปทำๆ มาเย็บเล่มส่ง ไม่มีการเชื่อมโยงจัดความสอดคล้องต่อเนื่องของเนื้อหาใด ๆ งานด้านเศรษฐศาสตร์บอกการควบรวมส่งผลให้ราคาเพิ่ม แต่งานด้านกฎหมายบอกกสทช.ไม่มีอำนาจไม่อนุญาติ ทั้ง ๆ ที่ ศาลปกครองวินิจฉัยมาแล้วว่ามีอำนาจ โดยไม่พูดถึงข้อ 9 ของประกาศปี 2561 ซึ่งร่างผลการศึกษาฯจุฬาสอดคล้องกับรายงานของสำนักงาน กสทช.”
โดยในเฟซบุ๊คยังกล่าวว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ โดยอ้างเหตุผลเช่นว่า "เป็นข้อมูลลับทางธุรกิจ" จนประชาชนคนไทยผู้จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากดีลนี้ ไม่สามารถร่วมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้เหมือนเช่นงานวิชาการทั่วไป ทั้งที่กฎหมายก็กำหนดให้หน่วยงานราชการ ซึ่งรวมถึง กสทช. ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ นี่จึงเป็นความน่ากลัวและจำเป็นต้องจับตาอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ จากที่หลายฝ่ายมีการถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ว่า มีอำนาจ หรือไม่มีอำนาจ กันแน่นั้น โดยเฉพาะเมื่อผู้ควบรวมประกาศต่อสื่อมวลชนว่า กสทช. ไม่มีอำนาจการยับยั้งการควบรวมกิจการ มีแต่เพียงออกเงื่อนไข หรือแม้แต่ตัว กสทช. เอง ก็กล่าวว่า กสทช. ไม่มีอำนาจพิจารณาเพียงแค่รับรายงานเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ที่มีคำสั่งระบุชัด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมาแล้วว่า “กสทช มีอำนาจเด็ดขาดที่จะอนุญาต หรือ ไม่อนุญาต จากประกาศควบรวมปี 2561 ประกอบกับประกาศเรื่อง ป้องกันการผูกขาดปี 2549” หากเห็นว่ากระทบกับผู้บริโภค ทำให้ผูกขาดตลาด และส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการอัตราค่าบริการที่ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นแม้การควบรวมและลดจำนวนผู้เล่นในตลาดจาก 3 รายเหลือ 2 รายตามที่ฟินันซ่า นำมาอ้างและสำนักงาน กสทช. ก็สรุปเป็นรายงานเสนอต่อบอร์ดนั้น มีความขัดแย้งต่อความเป็นจริง เพราะการทำ Focus Group ในรอบเศรษฐศาสตร์นั้นมีการเปิดเผยตัวเลขแล้วว่า ดัชนีความกระจุกตัว (HHI) ถ้าค่าสูงมากอาจทำให้เป็นปัญหา ในภาวะปกติที่ค่าดัชนีอยู่ต่ำกว่า 1,000 จะไม่เกิดการผูกขาดตลาด หากอยู่ระหว่าง 1,000-1,500 จะเป็นตัวเลขที่อยู่ระดับกลาง ถ้าเกิน 2,500 ขึ้นไป จะเป็นการผูกขาดตลาดอย่างชัดเจน รวมถึงการคาดการณ์เมื่อเกิดการควบรวมแล้วจีดีพีและเงินเฟ้อ จะเป็นอย่างไร ต้องไปดูรายละเอียดให้ชัดเจนกว่านี้ ซึ่งในต่างประเทศผู้ประกอบการมีมากกว่า 3 ราย ดังนั้น เมื่อมีการควบรวมแล้วการแข่งขันจะไม่สูงขึ้น ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงควรกระจายการประกอบธุรกิจมากกว่าการควบรวม
ผศ.ดร.พรเทพ ระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยได้ตั้งสมมุติฐานหลายๆ แบบ เช่น ควบรวมแล้วผู้ให้บริการต้นทุนจะลดลงมากแค่ไหน และผู้ให้บริการมีโอกาสฮั้วกันมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งจากการทำแบบจำลอง พบว่า การที่ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนั้น ตลาดจะเกิดการกระจุกตัวมากขึ้น และมีผลต่อราคาค่าบริการภายหลังการควบรวม โดยตัวเลขอยู่ระหว่าง 5 - 200% ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า จะมีการฮั้วกันมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ธุรกิจโทรคมนาคมถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม การศึกษาพบว่า หากมีการควบรวมกิจการ จะส่งผลให้จีดีพีลดลง 0.05% -2% หรือประมาณหมื่นกว่าล้านบาท – 3 แสนล้านบาท ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ระหว่าง 0.05-2 % ซึ่งสมมุติฐานนี้ อยู่ภายใต้กรณี กสทช.ไม่มีการกำกับดูแลใดๆ ทั้งสิ้นภายหลังการควบรวมกิจการ ฉะนั้น กสทช.จำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลภายหลังมีการควบรวมกิจการ มิเช่นนั้นจะเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาการควบรวมกิจการมีตัวอย่างที่ประเทศในสหภาพยุโรปที่มีการอนุญาตให้ควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีผู้ให้บริการ 4 รายหลัก ลดลงเหลือ 3 ราย มีประเทศเดียวในโลก คือ ฟิลิปปินส์ที่อนุญาตให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย