
เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้จัดงานเสวนาวิชาการ Consumers Forum EP.3 หัวข้อ ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ โดยนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมของทรู-ดีแทค และเอไอเอส ที่ประกาศควบรวมกิจการอินเตอร์เน็ตบ้านกับทรีบรอดแบนด์ หรือ 3BB นั้น ประชาชนอาจได้รับผลกระทบหากเกิดการควบรวม

ทั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) มีภารกิจคือการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันไม่ใช่ถอยหลังไปสู่ยุคผูกขาดคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่หลัก 3 รายที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส ทรู ดีแทค ดังนั้น กสทช.ควรเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามากกว่าปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจ หากตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงแค่ 2 ราย ผู้บริโภคจะไม่มีทางเลือก ขณะที่การศึกษางานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นผลกระทบเรื่องราคาค่าบริการสูงเป็นภาระของผู้บริโภคในยุคที่ทุกคนใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น กสทช.ต้องปลดล็อกปัญหานี้ให้ได้ ด้วยการลงมติจะให้เกิดการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคหรือไม่ รวมถึงกรณีเอไอเอสกับ 3BB ด้วย
“ทั้งสองกรณีนี้ หากเกิดขึ้นจะเป็นฝันร้ายของผู้บริโภค กสทช. ต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการลงมติคัดค้าน ไม่เห็นด้วยการควบรวม หาก กสทช.ลงมติไปแล้ว และเอกชนไม่เห็นด้วยให้ไปฟ้องร้องที่ศาลปกครอง สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ดีลนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ วันนี้ กสทช.ต้องทำหน้าที่ของตัวเองก่อน”

ยัน กสทช. มีอำนาจติดเบรก
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การควบรวมทรู-ดีแทค กสทช. มีอำนาจ ทั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 27 ที่กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ถือเป็นอำนาจโดยตรงของ กสทช. รวมถึงการสั่งห้ามการควบรวมกิจการด้วย
“สภาองค์กรของผู้บริโภคให้กำลังใจ กสทช. ขอให้ตัดสินใจโดยยืนเคียงข้างผู้บริโภค และไม่อยากเห็นรัฐบาล หรือกลไกของรัฐใดๆ เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของ กสทช. แม้ข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯแต่ละด้าน จะไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่โดยหลักแล้ว กสทช. ควรจะเปิดเผยรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้เป็นมาตรฐานของ กสทช. ที่มีการลงมติ และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด” นางสาวสารี กล่าวและว่า เมื่อพิจารณาจากผลกระทบจะส่งผลให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการแพงขึ้น จากการศึกษางานวิจัย โดยแบ่งออกเป็นกรณี 1. ไม่เกิดการแข่งขันในตลาด เหลือผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือ 2 ราย ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิมถึง 120% 2. หากมีการแข่งขันตามปกติ ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิม 13-23% และ 3. หากมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่าเดิมประมาณ 7-10% ถ้าปัญหาเกิดขึ้นจริง กสทช. จะจัดการอย่างไร หากให้มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น และเมื่อทรู-ดีแทคทำได้ เอไอเอสกับ 3BB ก็ย่อมทำได้เช่นกัน

ฉุดจีดีพีประเทศทรุดฮวบ
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในคณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภค และด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ศึกษาโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และตั้งสมมติฐานทั้งเรื่องประสิทธิภาพ และต้นทุน จะลดลงมากน้อยแค่ไหน หลังการควบรวมกิจการระหว่าง ทรูและดีแทค ซึ่งแนวโน้มความร่วมมือของผู้ประกอบการที่ลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย อาจเกิดการแข่งขัน หรือร่วมมือกันจนกลายเป็นการผูกขาดได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่า หลังการควบรวมกิจการ ราคาค่าบริการจะสูงขึ้นราว 5-200% ซึ่งกรณีที่น่าสนใจและมองว่าจะเป็นไปได้ จะอยู่ที่ประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับข้อมูลและสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์อีกแบบหนึ่ง เพื่อพิจารณาในภาพรวม และหาการเปลี่ยนแปลงด้านของราคาในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นปัจจัยการผลิตในทุกๆ อุตสาหกรรม พบว่า ราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)ซึ่งทุกๆ 10% ของราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น จะทำให้จีดีพีลดลง 16,000 ล้านบาท และหากอ้างอิงข้อมูลจาก 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่ระบุว่า หลังควบรวมกิจการ ราคาค่าบริการอาจเพิ่มขึ้นถึง 120% พบว่าจีดีพีจะลดลงกว่าแสนล้านบาท หรือสรุปได้ว่า จีดีพีจะลดลงราว 10,000-300,000 ล้านบาท

จี้ กสทช. เปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ
ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงการควบรวมกิจการว่า เป็นอันตรายกับผู้บริโภค ไม่เฉพาะลูกค้าของผู้ให้บริการทั้ง 2 รายเท่านั้น แต่ด้วยการแข่งขันที่หายไป แปลว่าทุกคนในประเทศนี้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งพิจารณาจากผลทดลองแบบจำลองทางสถิติ พบว่า หากมีการควบรวมกิจการแล้ว ตลาดยังมีการแข่งขันที่รุนแรง ราคาค่าบริการเพิ่มขึ้น 10% แต่หากมีการแข่งขันตามปกติ ซึ่ง 2 รายมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 50% ทั้งคู่ ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 20% สุดท้ายหากตลาดไม่มีการแข่งขันกันเลย จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
"ส่วนกรณีที่สำนักงาน กสทช. จะเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบของการควบรวมกิจการต่อที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ทุกฝ่ายอยากให้มีการเปิดเผยรายงานทั้งหมด ให้สาธารณชนได้รับรู้ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้ หากมีข้อมูลส่วนไหนที่เป็นความลับทางธุรกิจจะปกปิดก็ทำได้ แต่อย่างน้อย อยากจะเห็นความคิดเห็นของที่ปรึกษาว่า มีข้อคิดเห็นอย่างไร และอยากให้เปิดเผยออกสู่สาธารณชนมากที่สุด แบบที่เปิดเผยแล้วไม่โดนฟ้อง” นายฉัตร กล่าวและว่า เครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ ที่ได้จาก Change.org เพื่อคัดค้านควบรวม ทรู-ดีแทค และเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานผลการศึกษาการควบรวมกิจการต่อสาธารณะ ในที่ 3 สิงหาคม 2565 นี้