รฟม. ลุยไฟประมูลก่อสร้าง-ควบสัมปทานสายสีส้ม 1.427 แสนล้านวันนี้ ไม่สนคำสั่งศาลปกครองชี้ขาดล้มประมูลครั้งก่อนโดยไม่ชอบ อ้างศาลไม่ได้สั่งห้ามประมูลใหม่ ขณะบีทีเอสวิ่งโร่ร้องดีเอสไอสอบฮั้ว เหตุตั้งเงื่อนไขกีดกันผู้ประกอบการเอื้อบางราย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเดินหน้าโครงการประกวดราคาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมพร้อมรับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ทั้งโครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนที่มีคุณสมบัติเข้ายื่นซองข้อเสนอในวันนี้ (27 ก.ค. 65) ตามกำหนดเดิมในประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ลงวันที่ 24 พ.ค. 2565 แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีข่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ระงับการดำเนินการใด ๆ เอาไว้ก่อน หลังจากศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ให้เพิกถอน มติและประกาศยกเลิกการประกวดราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มลงวันที่ 3 ก.พ. 2564 และให้ รฟม. ดำเนินการศึกษาคำพิพากษาของศาลอย่างรอบคอบ ซึ่ง รฟม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ขณะที่ทาง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาคดีดังกล่าว จึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าซื้อซองประมูล พบว่า กลุ่มบีเอสอาร์ BSR ที่มี บมจ.บีทีเอส เป็นแกนนำแม้จะเข้าซื้อซองประมูล แต่เชื่อว่า คงจะไม่เข้าร่วมประมูลด้วย เนื่องจากจากการศึกษาเงื่อนไขประกวดราคาครั้งใหม่ที่มีการกำหนดคุณสมบัติรับเหมาที่จะเข้าร่วมประมูล ตามประกาศเชิญชวนลงวันที่ 24 พ.ค. 65 มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขคุณสมบัติด้านเทคนิค ที่ผู้รับเหมาโดยทั่วไปยากจะผ่านเกณฑ์ไปได้ โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติ ที่ต้องมีผลงานก่อสร้างโยธา 3 ด้านกับหน่วยงานรัฐบาลไทย คือ อุโมงค์ใต้ดินด้วยระบบหัวเจาะ ทำให้มีการวิพากษ์อย่างหนักว่า มีการล็อคสเปกตั้งแต่ในมุ้ง เพราะทั่วทั้งโลกมีกลุ่มทุนรับเหมาที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ด้านอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น คือ กลุ่ม ช.การช่าง (CK) และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลอปเมนท์ (ITD) ล่าสุด บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์และกล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อร้องให้ดีเอสไอ สืบสวนสอบสวนกระบวนการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังพบพิรุธว่า มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติ ของบริษัทเอกชนที่จะยื่นซองประมูลเพื่อกีดกันบางบริษัทไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม เอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้ บีทีเอส ได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองถึงกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกได้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขประกวดราคา ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนศาลมีคำวินิจฉัยว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย ทาง รฟม. ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม แต่ รฟม.กลับไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย และยังเดินหน้ายกเลิกหลักเกณฑ์เดิม ก่อนนำเอาหลักเกณฑ์ใหม่มาใช้ โดยมีการเพิ่มเติมเงื่อนไขคุณสมบัติด้านเทคนิคที่เข้มข้นกว่าเดิม ทำให้บีทีเอสและบริษัทอื่นๆ ที่เคยมีคุณสมบัติในการแข่งขันไม่สามารถจะเข้าร่วมประมูลได้ จึงเรียกร้องให้ดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบว่า มีผู้ใดเข้าข่ายเอื้อประโยชน์มิให้มีการแข่งขันอย่างธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือไม่