
ถึงบรรทัดนี้ คงพอจะเห็นเค้ารางที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ กำลังตีปี๊บว่า “มีหลักฐานใหม่” ที่ทำให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอรื้อฟื้นคดีค่าโง่โฮปเวลล์อีกครั้ง..
โดยที่รัฐอาจไม่ต้องชดใช้ค่าโง่จำนวนกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เพราะบริษัทโฮปเวลล์ ได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2547 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 การยื่นเสนอข้อพิพาทของบริษัทขาดอายุความ และพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้หาได้เป็นเอกสารใหม่หรือเนื้อหาใหม่ แต่มีอยู่แล้วในสำนวนคำคัดค้านตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ หากจะได้พิจารณาเส้นทางการบอกเลิกสัญญาสัมปทานของการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ที่นำเสนอต่อที่ประขุม ครม. ก่อนมีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 27 ม.ค.2541 ไปยังบริษัทโฮปเวลล์นั้น การบอกเลิกสัญญาตาม ปพพ.มาตรา 388 เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ก็ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 391 ที่ว่า "เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่"
นั่นหมายความว่า เมื่อกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตาม ปพพ.มาตรา 388 ก็ต้องเข้าเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรา 391 โดยอัตโนมัติ นั่นคือ การคืนสู่ฐานะเดิมของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย จะใช้สิทธิ์เลิกสัญญาฝ่ายเดียวโดยริบเงินค่าตอบแทน และริบหลักประกัน รวมทั้งงานที่คู่สัญญาได้ลงทุนหรือก่อสร้างไปแล้วเลยไม่ได้ เพราะถือว่าทั้งสองฝ่ายมีสถานะเป็นคู่สัญญาที่เท่าเทียม

ขนาดกรณีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังร้องขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่ ก่อนแสดงหลักฐานที่อ้างว่า มีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี (NPVSKG) กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ซึ่งมีการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการและมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกระทำผิดในการทำสัญญาตั้งแต่แรก
แต่ศาลปกครองสูงสุดกลับมีคำวินิจฉัยล่าสุด “ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในสำนวนข้อพิพาทตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ที่จะทำให้ข้อเท็จจริงของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
ขณะที่สัญญาสัมปทานโฮปเวลล์นั้น ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการฉ้อฉลทำสัญญา หรือมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในการทำสัญญา มีเพียงประเด็นเดียวที่การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม กล่าวอ้างมาโดยตลอดว่า บริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้องคดีพ้นกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 5 ปี นับจากวันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว การยื่นเสนอข้อพิพาทของบริษัทขาดอายุความ และพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วในสำนวนตั้งแต่แรกและเป็นประเด็นที่ศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยจนเป็นที่ยุติไปแล้วตั้งแต่ต้น
จึงเป็นเหตุผลที่หลายฝ่ายได้แต่กังวล การรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ดังกล่าว ด้วยความคาดหวังที่ว่า มีหลักฐานใหม่หลักฐานเด็ดที่จะนำไปสู่การเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลปกครองและศาลปกครองสูงสุดได้นั้น อาจเป็นเพียง “มหกรรมปาหี่” เพื่อประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ออกไปเท่านั้น
เหนือสิ่งอื่นใด หากหลักฐานใหม่ หลักฐานเด็ดที่ว่านั้น จะทำให้รัฐสามารถพลิกฟื้นคดีได้จริง เราคงไม่ได้เห็นกรณี “ค่าโง่ทางด่วน” ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่ต้องจบลงด้วยการประเคนต่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน 3 สายไปให้บริษัทเอกชนคู่สัญญา 8-15 ปี และ “ค่าโง่เหมืองทองคิงส์เกต” ที่รัฐบาลต้องประเคนผลประโยชน์ชาติออกไปให้กลุ่มทุนข้ามชาติ อย่าง “คิงส์เกต” จนแทบสำลักอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่
ดังนั้น หากท้ายที่สุดแล้ว รัฐโดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ต้องจ่ายค่าโง่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณจากเงื่อนเวลาที่ยืดออกไป ก็หวังว่า บรรดานักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประวิงเวลาจ่ายค่าโง่ แถมยังตีปี๊บผลงานชิ้นโบแดงอยู่ในเวลานี้ จะ ”แอ่นอก” ออกมาแสดงความรับผิดชอบ คงไม่โยน “เผือกร้อน” ไปให้ประชาชนคนไทยแบกรับแทนอีก
เพราะประชาชนคนไทยเรา “สำลักค่าโง่” มามากพอแล้ว