
จบเห่ “ค่าโง่คลองด่าน” 9.8 พันล้าน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ ชี้พยานหลักฐานที่อ้างขอรื้อคดีเป็นของเก่าในสำนวนคดีเดิมอยู่แล้ว ต้องชดใช้ตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ 9 พันล้าน ทำรถไฟฯ มีหนาวรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์อาจจบลงเอยแบบเดียวกัน
วันนี้ (7 มี.ค. 65) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เนื่องจากเห็นว่า ในส่วนของกระทรวงการคลัง ไม่ได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีอันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญาตามสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก เลขที่ 75/2540 ลงวันที่ 20ส.ค. 40 และไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554 และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในคดีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะมีผลทำให้เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด กระทรวงการคลังจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ศาลชี้พยานหลักฐานเก่าปิดฉากคดี
ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุดโดยประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 กรมควบคุมมลพิษได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลปกครองมาแต่แรกในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลแขวงดุสิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ 3501/2552 ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่า กรมควบคุมมลพิษต้องมีพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป
“เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนและกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และไม่ใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา จึงมิใช่ความผิดของผู้นั้น ตามมาตรา 75 วรรคสอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
รัฐเงิบ! หวั่นค่าโง่โฮปเวลล์ตามรอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ย. 57 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อร้องเป็นเงิน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการให้กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี(NVPSKG) ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บ. นอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บ.ประยูรวิศการช่าง จำกัด บ. สี่แสงการโยธา จำกัด บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ บ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด
ต่อมากรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาศาลอาญาว่า โครงการดังกล่าวเป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกันเพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า NPVSKG ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ซึ่งศาลปกครองกลางสั่งรับคำขอไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.61 สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับ ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า NPVSKG ซึ่งทางกลุ่มกหิจการร่วมค้าฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่าหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษอ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังก็อ้างว่า เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ได้ ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะชี้ขาดยืนตามคำชี้ขาดเดิมให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2554 ซึ่งมีการคำนวณล่าสุดคาดว่าวงเงินชดเชยความเสียหายน่าจะทะลักไปสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดข้างต้น ทำให้คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน” ที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เพิ่งร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้รับคดีดังกล่าวไว้พิจารณาใหม่ โดยอ้างว่ามีประเด็นในเรื่องของการฟ้องผิดศาล และคำฟ้องเองของบริษัทโฮปเวลล์ ขาดอายุความ เนื่องจากฟ้องเลยกำหนดที่รับทราบหนังสือบอกเลิกหสัญญา และรับทราบความเสียหาย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับพิจารณาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ใหม่ไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากประเด็นที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ก็อาจจบลงด้วยค่าโง่มากกว่าเดิมเช่นกรณีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านนี้

“อนุทิน”ตีปี๊บ.. “คมนาคม-รถไฟ” สู้คดีโฮปเวลล์ ไม่ต้องจ่ายค่าโง่
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้านบาทใหม่ ตามคำร้องขอให้ตีความโดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า
เรื่องของการรักษาผลประโยชน์ชาติ ถือเป็นภารกิจหลักของรัฐมนตรี เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อตนได้เข้ามากำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ก็ได้หารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) ว่าต้องดูให้ละเอียด เพราะมีความเสียหายสูง และเราไม่ต้องการจ่ายค่าโง่ เพราะนี่ถือเป็นผลประโยชน์ของชาติ จึงได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางออก และเราเดินหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของบ้านเมือง มาถึงปัจจุบัน เราสามารถเรียกพิจารณาข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น เรื่องโฮปเวลล์ขอให้ดูว่า ที่มาที่ไปของเรื่องเป็นอย่างไร แล้วทำไมรัฐถึงเสียหาย กระทั่งเราพบเหตุที่สามารถต่อสู้ได้ ซึ่งตนได้ให้รัฐมนตรีว่าการคมนาคมดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ประโยชน์ของชาติต้องรักษาเอาไว้ สำหรับนายพีระพันธุ์ (พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี) กับนายศักดิ์สยาม มีความสนิทสนามกัน และได้ช่วยกันทำงาน ปรึกษา เรื่องกฎหมาย และท่านได้ให้ความกรุณา ได้ให้ความร่วมมือ นี่คือทีมเวิร์ค เราช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

“ถ้าจำกันได้ ตอนที่พรรคภูมิใจไทยเข้ามาทำงาน เราเคยให้คำมั่นไว้ว่า ยุคนี้ประเทศไทยจะต้องไม่มีการเสียค่าโง่ เพราะที่ผ่านมา เราสูญเสียงบประมาณทำนองนี้มาเยอะมาก ตอนผมเข้ามารับตำแหน่ง ก็มานั่งคิดกับท่านศักดิ์สยามเลยว่า เรื่องไหน กำลังมีปัญหา และเราต้องหาทางแก้ เราไม่ได้โง่ ขนาดต้องมาเสียค่าโง่ กระทั่งมาเจอเรื่องโฮปเวลล์ จึงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือกันเพื่อหาทางออก และเจอช่องทาง ทางกฎหมายในที่สุด”