
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. มีการติดตามข้อมูลการส่งออกสินค้ารายภูมิภาคของไทย พบว่า ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกของภาคใต้ เติบโตสูงถึงร้อยละ 34.7 สูงกว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกของประเทศโดยรวม (ปี 2564 การส่งออกของไทย มีมูลค่า 271,174 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 17.1) โดยการส่งออกของภาคใต้มีมูลค่า 11,817 ล้านเหรียญสหรัฐ (รองจากกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก ที่มีมูลค่า 94,955 78,780 70,016 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ)

การส่งออกของภาคใต้มีมูลค่ารวม 11,817 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนร้อยละ 4.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ จังหวัดที่มีการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง ภูเก็ต และชุมพร สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของภาคใต้ 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) ถุงมือยาง (2,192 ล้านเหรียญสหรัฐ) (2) ยางทีเอสเอ็นอาร์ (1,725 ล้านเหรียญสหรัฐ) (3) ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (1,383 ล้านเหรียญสหรัฐ) (4) น้ำยางข้น (1,253 ล้านเหรียญสหรัฐ) (5) ไม้แปรรูป (853 ล้านเหรียญสหรัฐ) (6) น้ำมันปาล์ม (824 ล้านเหรียญสหรัฐ) (7) ยางแผ่นรมควันชั้นที่ 3 (612 ล้านเหรียญสหรัฐ) (8) ทูน่ากระป๋อง (271 ล้านเหรียญสหรัฐ) (9) ทุเรียนสด (263 ล้านเหรียญสหรัฐ) และ (10) ไม้อัด (223 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสำคัญของภาคใต้ ได้แก่ จีน (สัดส่วนร้อยละ 34.9) สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 13.4) มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 12.4) อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 6.4) และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 5.9)

จังหวัดสงขลา มีมูลค่าการส่งออก 7,547 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 29.6 โดยมูลค่าการส่งออกเกือบร้อยละ 80 เป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ ดังนี้ ถุงมือยาง (2,010 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 42.6) ยางทีเอสเอ็นอาร์ (1,488 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 72.3) ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (1,084 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3) น้ำยางข้น (930 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 17) และยางแผ่นรมควัน ชั้นที่ 3 (376 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 73.1)

จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีมูลค่าการส่งออก 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงถึงร้อยละ 108.2 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่ง คือ น้ำมันปาล์ม ส่งออกเป็นมูลค่า 608 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 426.6 และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 41.9 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งจังหวัด สินค้าส่งออกสำคัญรองลงมา ได้แก่ ไม้แปรรูป (มูลค่า 242 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 12.9) น้ำยางข้น (มูลค่า 88 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 146.6) และถุงมือยาง (มูลค่า 81 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 163.7)

จังหวัดตรัง มีมูลค่าการส่งออก 495 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 11.4 โดยมีไม้แปรรูป เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของจังหวัดตรัง มีมูลค่า 239 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 11.4 และมีสัดส่วนร้อยละ 48.2 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งจังหวัด จังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าการส่งออก 480 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 23.4 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้ากลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ (อาทิ ยางทีเอสเอ็นอาร์ ถุงมือยาง ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางแผ่นรมควันชั้นที่ 3) ขณะที่ จังหวัดชุมพร มีมูลค่าการส่งออก 447 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตร้อยละ 29.2 โดยเป็นการส่งออกทุเรียนสด และแช่แข็ง รวมมูลค่า 284 ล้านเหรียญสหรัฐ (เป็นทุเรียนสด และแช่แข็ง 234 และ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ) มีสัดส่วนถึงร้อยละ 63.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของจังหวัดชุมพร

ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกหลักของภาคใต้ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกรวมของภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้มีสินค้าศักยภาพอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรือสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลไม้สด โดยในปี 2564 การส่งออกของไทย มีการขยายตัวร้อยละ 115.0 และ 83.5 ในตลาดมาเลเซีย และจีน อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 47.12 และ 30.3 ในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ อาหารสุนัขและแมว ขยายตัวร้อยละ 76.6, 72.2 และ 38.4 ในตลาดอินเดีย แคนาดา และมาเลเซีย ไม้แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 61.8 ในตลาดมาเลเซีย ไม้อัด ขยายตัวร้อยละ 92.3, 45.4 และ 18.6 ในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย และจีน ไฟเบอร์บอร์ด ขยายตัวร้อยละ 145.3 และ 69.6 ในตลาดคูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งการส่งออกของภาคใต้สามารถส่งเสริมให้มีการกระจายสินค้าส่งออกที่หลากหลาย และขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น
