
ปิดฉากแน่! 2 บริษัทประกันภัย “อาคเนย์-ไทยประกันภัย” ที่เหลือแค่รอเวลาในเชิงเทคนิคเท่านั้น ด้าน คปภ.ยืนยัน จะปกป้องผลประโยชน์ของ “ผู้เอาประกัน” ก่อนเปิดทางเลิกกิจการ ให้จับตามอง “เกมส์ค้าความ” ต่อจากนี้ เพราะต่างก็มี “ซูเปอร์แบ็กอัพ” หนุนหลัง ใครจะอยู่ใครจะไป? มูลค่าเรียกคืนเงินชดเชยความเสียหายจากประกันภัยโควิดฯ จะถูกยกระดับ “ค่าโง่แสนล้าน” หรือไม่? ห้ามกระพริบตา
เพราะติดกระดุมผิดมาตั้งแต่เม็ดแรก! เรื่องมันจึงลามเลียไปไกล จนกลายเป็นมหันตภัยของวงการธุรกิจประกันภัย
กระทั่ง หลายบริษัทต้องถูกสั่งปิด และหลายบริษัทจำต้องขอปิดตัวเองหรือเลิกกิจการกันไป
เรื่องของเรื่อง เป็นผลมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการอนุมัติให้มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ “มักง่าย” จากหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย
ที่สุดจึงกลายเป็นความเสียหายจนยากเกินกว่าจะเยียวยากันได้
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มูลค่าความเสียหายจากการรับประกันภัยโควิดฯ โดยเฉพาะปมประกันภัย “เจอ จ่าย จบ” ทำให้ภาพรวมรายจ่ายค่าเคลมที่บรรดาบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายรวมๆ กันมากกว่า 4 แสนล้านบาท จากจำนวนผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวกับโควิดฯ มีมากกว่า 4 ล้านกรมธรรม์
แต่ยังรวมถึงความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง...บริษัทเอกชน ซึ่งก็คือ...ธุรกิจประกันภัยทั้งหลาย กับฝ่ายอำนาจรัฐ ซึ่งก็ไม่พ้น คณะกรรมการฯ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ในฐานะ “เรคกูเรเตอร์” ทั้งบอร์ด คปภ. และสำนักงาน คปภ. จะ “ลอยตัว” อยู่เหนือปัญหา ทั้งที่ตัวเองมีร่วมเกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น นับแต่อนุมัติหลักการและกำหนดเกณฑ์ให้มีการขายประกันภัยโควิดฯ พร้อมกับเปิดหน้าสนับสนุนให้บริษัทประกันภัย แข่งขันเสรี...ขายกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ “เจอ จ่าย จบ” ไม่ได้อีกต่อไป
และเป็นบริษัทประกันภัยเอง ที่จำต้อง “จบ” หรือ “ปิดฉาก” ตัวเอง เช่นที่...ได้ถูก “อำนาจรัฐ” สั่งปิดไปก่อนหน้านี้ กระทั่ง กลายเป็นคดีความฟ้องร้อง รอการเรียกชดใช้จากภาครัฐ ซึ่งปลายทางแห่งคดีความจะไหลไปสิ้นสุดลงตรงจุดไหน ยังต้องรอลุ้นกันอย่างระทึกใจต่อไป

กับกรณีล่าสุด ที่ 2 บริษัทประกันภัย ไซส์กลางลงล่าง อย่าง บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่งต่างก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น “เจ้าสัวคนดัง” ระดับชี้นำประเทศนี้ได้ ซึ่งต่างก็ได้ส่งหนังสือยื่นคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีผลทันทีนับตั้งแต่วันที่แผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทได้รับอนุญาตจาก บอร์ด คปภ.
โดยทั้ง 2 บริษัท พร้อมจะคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป โดยขออนุมัติให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาอำนวยการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดนั้น
ในการประชุมอย่างเคร่งเครียดของคณะทำงานพิจารณาคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ที่สำนักงาน คปภ. ตั้งขึ้นมา ถึงกรณี 2 บริษัทดังกล่าว เมื่อค่ำวันที่ 28 มกราคม 2565 มีประเด็นให้วงการธุรกิจประกันภัยและสังคมไทยต้องขบคิดและจับตามองอย่างใกล้ชิด
และเป็น นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี ที่ออกมาให้ข่าว ทำนองว่า ในการประชุมของคณะทำงานพิจารณาคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งมีรองเลขาธิการ ด้านกำกับ เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีรองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ และรองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และมีผู้ช่วยเลขาธิการสายงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน โดยได้มีประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่สามารถพิจารณาอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้ เนื่องจากบริษัทต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสียให้ครบถ้วนก่อนตามที่คณะกรรมการ คปภ. กำหนด ตามมาตรา 57 ให้เสร็จสิ้นก่อน คณะกรรมการ คปภ. จึงจะอนุญาตให้บริษัทเลิกกิจการได้
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้นำวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม คณะกรรมการ คปภ. ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 28 มกราคม 256 โดยพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นของคณะอนุกรรมการกฎหมายโดยละเอียด แล้วมีมติว่า เพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 จึงให้รับคำขอกรณี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่ให้บริษัททั้งสองปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทที่ยังมีผลผูกพันอยู่ไปยังบริษัทประกันภัยผู้รับโอน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.1 ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการแจ้งรายชื่อบริษัทที่จะรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยให้สำนักงาน คปภ. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน
1.2 สิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทที่รับโอนไปต้องเท่ากับหรือไม่ด้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองตามผลผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม
2. ช่องทางและวิธีการบอกกล่าวฯ ให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสียทราบและใช้สิทธิตามกฎหมาย จะต้องเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น การบอกกล่าวเจ้าหนี้อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามมาตรา 23 (1) ที่บริษัทประกันภัยวางไว้กับนายทะเบียน ตามมาตรา 24 จะกระทำได้ต่อเมื่อ
3.1 บริษัทได้โอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่ และมีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้รับประกันภัยเสร็จสิ้นแล้ว
3.2 บริษัทประกันภัยสามารถแสดงหลักฐานให้เห็นว่าไม่มีหนี้สินหรือภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยแล้ว
4. ให้บริษัทผู้ขอเลิกกิจการดำเนินการดังต่อไปนี้
4.1 แสดงแผนงานรายละเอียดของการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและกิจการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามมาตรา 28 ให้สำนักงาน คปภ. ทราบ
4.2 ต้องจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามข้อ 4.1 ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดใน ข้อ 5 และในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ บริษัทต้องโอนทรัพย์สินและภาระผูกพันไปยังผู้รับโอน โดยแสดงหลักฐานว่าผู้รับโอนยินยอมรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวด้วย
4.3 รายงานผลการดำเนินการตามข้อ 4.2 ให้แก่สำนักงาน คปภ. ทราบ
5. ระยะเวลาของการดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน คปภ. ร่วมกับบริษัทกำหนด ทั้งนี้ ให้บริษัทแจ้งให้สำนักงาน คปภ. ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการพิจารณาจากคณะกรรมการ คปภ.
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะที่สำคัญเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การโอนกิจการตามมาตรา 13 ดังนั้น เมื่อบริษัทได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาข้างต้นครบถ้วนแล้ว ให้บริษัทแจ้งผลการดำเนินการมายังสำนักงาน คปภ. เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาอนุญาตเลิกกิจการต่อไป
ส่วนประเด็นที่ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ได้ขอให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้เข้ามาอำนวยการที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนด นั้น คณะกรรมการ คปภ. เห็นว่า ตามมาตรา 79 บัญญัติให้กองทุนประกันวินาศภัยมีหน้าที่คุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณี “บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย” และเพื่อ “พัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ” แต่ไม่รวมกรณีบริษัทขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเองตามมาตรา 57 จึงไม่สามารถเข้ามาดำเนินการในขั้นตอนการเลิกประกอบธุรกิจตามคำขอของทั้งสองบริษัทดังกล่าว
ดังนั้น ขั้นตอนต่อไป สำนักงาน คปภ. จะได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้างต้นแก่บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หลังจากนั้นจะจัดประชุมร่วมกับบริษัทเพื่อทำความเข้าใจ และดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการเลิกกิจการตามมาตรา 57 โดยคณะกรรมการ คปภ. ได้มอบหมายคณะอนุกรรมการกฎหมายช่วยกำกับดูแลในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ จะรายงานความคืบหน้าเพื่อให้คณะกรรมการ คปภ. พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ ในระหว่างที่บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจาก คณะกรรมการ คปภ. บริษัทยังต้องประกอบธุรกิจตามปกติ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทได้เช่นเดิม
เหตุผลจากที่ คนของสำนักงาน คปภ. พูดมาทั้งหมดในข้างต้นนั้น
ว่ากันว่า จากนี้ไป ก็น่าจะมี “เกมส์ค้าความ” ที่จะเกิดขึ้นรอบใหม่ ต่อจากการขอเลิกกิจการของทั้ง 2 บริษัท คือ “อาคเนย์ประกันภัย - เมืองไทยประกันภัย” ที่ต่างก็มีนายใหญ่...คอยคัดและให้ท้ายนั้น สร้างความสั่นสะเทือนไปยังบอร์ดและสำนักงาน คปภ.ยิ่งนัก
เพราะ ฝั่งตรงข้าม หรือ “คู่กรณี” ถือเป็นธุรกิจในเครือของบริษัทแม่ ซึ่งเจ้าของใหญ่ตัวจริง ล้วนเป็นเจ้าสัวคนดัง ที่สามารถจะ “ชี้นำหรือเสนอแนะ” ให้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ทำตาม และสิ่งนี้ก็ได้รับการพิสูจน์ในเชิงประจักษ์มาให้เห็นกันในหลายกรณี นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

แม้ว่า... “คู่กรณี” จะมี “แบ็กอัพ” ระดับใหญ่ยักษ์ แต่ฟากของ คปภ. ก็ใช่ว่าจะธรรมดา ถึงขนาดมีเสียงกระซิบแผ่วเบาให้พอได้ยินว่า...บอร์ดทั้งบอร์ดของ คปภ. และฟากกระบวนการยุติธรรม “ต้นทาง” ที่สร้างตัวตนของ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. คนปัจจุบัน ก็พร้อมเป็น “ผนักทองแดง กำแพงเหล็ก” ให้พึ่งพิง
เพราะงานนี้...มีตำแหน่งและเก้าอี้บางตัว? เป็นเดิมพัน
ไม่เพียงแค่นั้น...ยังจะมีการเรียกคืนเงินชดใช้จากค่าความเสียหายที่ตัองถูกสั่งปิดและขอเลิกกิจการ อันเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการ “ติดกระดุมผิด” ตั้งแต่เม็ดแรกของ สำนักงาน คปภ.
แล้ววงเงินที่ว่านี้...ก็ไม่ใช่น้อยๆ ระดับหลักหลายหมื่นจนถึงแสนล้านบาท ก็จะมีให้เห็นตามมา
ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ แต่งานนี้ ทั้งบอร์ดฯ และสำนักงาน คปภ. จะต้อง “ชูธง” ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน “ผู้เอาประกันภัย” อย่าได้หาทำ ยอมทุกอย่าง จนกลายเป็นความสูญเสียระดับ “ค่าโง่แสนล้าน” เหมือนเรื่องราวในอดีต ก็แล้วกัน