
ผู้บริหารบริษัทเอกชนร่วมลงทุนในโครงการบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์ 4 นำสื่อบุกสำรวจพื้นที่ตั้งโครงการพิพาทที่ถูกการเคหะฯนำเจ้าหน้าที่และบริษัทรับเหมาเข้าบุกรุกยึดโครงการ หวังเปิดจำหน่ายแก่ประชาชนสิ้นเดือนมกราคมนี้
สำนักข่าว "เนตรทิพย์ ออนไลน์" ได้ลงสำรวจพื้นที่ตั้งโครงการบ้านเอื้ออาทร "เทพารักษ์ 4" ที่ล่าสุดกำลังเป็นประเด็นอื้อฉาว เมื่อการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ส่งเจ้าหน้าที่และนำผู้รับเหมาเข้าดำเนินการปรับปรุงทาสีอาคารในโครงการบางส่วน เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าจองสิทธิ์โครงการในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ก่อนที่บริษัทเอกชนเจ้าของโครงการจะนำเรื่องเข้าร้อง สอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI เพื่อให้ดำเนินคดีกับบอร์ดและฝ่ายบริหาร กคช. กราวรูด เนื่องจากโครงการยังมีข้อพิพาทฟ้องร้องคดีความกันอยู่ในชั้นศาล
ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่ตั้งโครงการบนถนนเทพารักษ์ พบว่า ตัวโครงการบ้านเอื้ออาทรดังกล่าวนั้น มีการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยเกือบแล้วเสร็จไปแล้วถึง 42 อาคาร และอาคารที่มีการก่อสร้างฐานรากและโครงสร้างบางส่วนไปแล้วอีก 20 อาคาร และแม้จะถูกปล่อยทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี นับแต่โครงการนี้ได้ยุติการก่อสร้างเมื่อปี 52 แต่สภาพโดยรวมของโครงการดังมีสภาพสมบูรณ์อยู่และอาคารที่พักอาศัยที่ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จนั้น หากจะดำเนินการปรับปรุง แค่เก็บงานรายละเอียดและทาสีอาคารก็สามารถจะเปิดดำเนินการได้แล้ว

นายประสิทธิ์ เด่นนภาลัย เจ้าของโครงการ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างเข้าสำรวจพื้นที่โครงการว่า โครงการบ้านเอื้ออาทรเทพารักษ์ 4 นี้ ถือเป็นบ้านเอื้ออาทรที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของโครงการนี้ ซึ่งบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เป็นบริษัทร่วมลงทุนกับการเคหะฯ นั้น ตั้งใจจะให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ แต่ได้ถูกการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ภายในองค์กรการเคหะฯ เข้ามาแทรกแซงการทำงาน มีการนำเอาบริษัทรับเหมาจากภายนอก เข้ามาร่วมเป็นคู่สัญญา รวมทั้งมีการบีบให้เจ้าของโครงการต้องปรับผังการก่อสร้างโยกโครงการกันให้วุ่น จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีความกันมาแล้ว โดยศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้การเคหะฯ และบริษัทรับเหมาที่ถูกดึงเข้ามามีความผิดและต้องถอนบริษัทดังกล่าวออกไป แต่กระนั้นตัวบริษัทเองก็ถูกฝ่ายบริหารการเคหะฯ ในเวลานั้น สั่งปรับลดขนาดโครงการลง เพื่อเป็นการลงโทษที่บริษัทลุกขึ้นมาฟ้องร้อง การเคหะฯ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกัน จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญาก่อสร้างโครงการในที่สุด
"โครงการนี้ไม่ใช่เป็นการจ้างเหมาก่อสร้างธรรมดา แต่เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ คือ การเคหะฯ และเอกชน บริษัท เพียงประกายก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเมื่อการเคหะฯ บอกเลิกสัญญาไม่ประสงค์จะดำเนินโครงการใดๆ ต่อไป บริษัทก็ย่อมมีสิทธิ์เรียกคืนที่ดินในโครงการกับคืน เพราะที่ดินดังกล่าวนั้นบริษัทเป็นผู้ลงทุนจัดหา และแม้จะโอนให้กับการเคหะฯ แล้ว ก็เป็นการโอนอย่างมีเงื่อนไขเป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน แต่เมื่อมีการล้มเลิกโครงการก็จำเป็นจะต้องกลับคืนสู่สถานะเดิม"

ประเด็นนี้ ฝ่ายบริหารการเคหะฯ ย่อมรู้อยู่แก่ใจ เพราะหากจะอ้างสิทธิ์ว่า ตนเองยังคงมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของโครงการก็คงไม่ปล่อยให้โครงการทิ้งร้างเป็น 10 ปีแน่ การที่จู่ๆ การเคหะฯ กลับไปทำสัญญาเอาผู้รับเหมาจากภายนอกเข้ามาบุกรุกและยึดโครงการทั้งที่ยังคงมีคดีความกันอยู่ จึงเป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่กับบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม กรณีดังกล่าว ทางบริษัทจึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วฝ่ายบริหารการเคหะฯ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และยังจะนำเรื่องที่โดนกระทำนี้ยื่นให้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพฤติการณ์ของการเคหะฯ ต่อการกระทำในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งยังจะดำเนินการยื่นฟ้องอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไปอีกด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทเพียงประกายก่อสร้างฯ ได้ยื่นข้อเสนอไปยังการเคหะฯ เพื่อยุติคดีความที่คาราคาซังอยู่ โดยยินดีที่จะซื้อคืนที่ดินในโครงการกลับมา เพราะได้มีการเจรจากับผู้ลงทุนใหม่ในการพัฒนาโครงการนี้เอาไว้แล้ว และการเคหะฯ เองก็เห็นชอบในหลักการ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นร่วม 2 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้กระบวนการดึงนักลงทุนรายใหม่เข้ามานั้นประสบปัญหา บริษัทจึงแจ้งเรื่องไปยังการเคหะฯ เพื่อขอยืดเวลาการซื้อคืนที่ดินในโครงการดังกล่าว ออกไป ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา ทางการเคหะฯ กลับส่งเจ้าหน้าที่และบริษัทรับเหมาเข้ามาขอปรับปรุงอาคารในโครงการ แม้บริษัทจะทักท้วงว่า ไม่สามารถจะอนุมัติได้ แต่การเคหะฯ ก็ยังคงเดินหน้าปรับปรุงอาคารดังกล่าว โดยอ้างสิทธิ์ว่า เป็นเจ้าของโครงการ เหตุนี้บริษัทจึงไม่อาจจะทนได้อีก จำเป็นต้องพึ่งกระบวนการศาล เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างที่คณะของบริษัท เพียงประกายก่อสร้างฯ เข้าตรวจดูพื้นที่ที่ถูกบุกรุกนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ของการเคหะฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บางพลี เดินทางมาห้ามปราม และอ้างว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นของการเคหะแห่งชาติ ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเคหะฯ มีเจตนาที่จะบุกยึดครองโครงการนี้อย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ตลอดเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยแสดงเอกสารโต้แย้งว่า ตนเองเป็นเจ้าของโครงการแต่อย่างใด