
น้ำพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และแหล่งต้นน้ำนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ล้วนเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด
ดั่งความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสสมเด็จพระพันปีหลวง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ความว่า “....“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2525 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ณ วัดป่าสุขเกษมนิราศภัย บ้านหนองไผ่ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ทรงพบว่าในหมู่บ้านนั้นมีราษฎรอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีฐานะค่อนข้างดี ทรงสอบถามว่า มีอาชีพตัดไม้ขาย มีเรือนหลังใหญ่มีที่ดินครอบครองคนละ 50 – 60 ไร่ แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีฐานะยากจนมากสภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ไม่มีที่ทำกิน
เมื่อเสด็จฯ กลับถึงพระตำหนัก ภูพานราชนิเวศน์แล้ว จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ พ.อ. เรวัติ บุญทับ เมื่อสมัยดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ร.3 เข้าเฝ้า ฯ และพระราชทานพระราชดำริว่า ต้องมีคนห้ามและอธิบายให้ราษฎรเข้าใจถึงผลดีผลเสียของการตัดไม้ทำลายป่า และจับจองที่ดินทำกินไว้คนละมาก ๆ แต่ใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า จะเป็นการทำลายต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วและชีวิตของเขาเองโดยไม่รู้ตัว จึงพระราชทานพระราชดำริ ให้จัดตั้ง ”โครงการป่ารักน้ำ” เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ทุกข์ยากให้ได้มีอาชีพที่สุจริต มีรายได้เพื่อประทังชีวิต โดยไม่ตัดไม้ทำลายป่าอีกต่อไป
โครงการป่ารักน้ำ เริ่มทดลองครั้งแรกที่บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เป็นโครงการปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ที่เติบโตเร็ว โดยราษฎรเป็นผู้ปลูกและดูแล บนพื้นดินที่พระองค์ท่านทรงซื้อและมอบให้แก่ราษฎรที่เข้ามาอยู่ในโครงการ โดยพระราชทานเงินเดือนให้แก่ราษฎรผู้ยากจนที่เข้าโครงการด้วย ครอบครัวละ 1,500 บาท (ปัจจุบันงดรับเงินพระราชทานแล้ว ) และทรงมีพระราชดำริ ให้ราษฎรช่วยกันปลูกป่าไม้และรักษาป่าครอบครัวละประมาณ 5 ไร่ โดยทรงเช่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติมอีกตามจำนวนครอบครัวที่จะช่วยปลูกป่า

ความสำเร็จของโครงการป่ารักน้ำ นอกจากสามารถแก้ปัญหาวิกฤติขาดแคลนน้ำ เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้ประชากรในท้องถิ่นมีอาชีพทำมาหากิน เป็นการช่วยให้พสกนิกรของพระองค์ไม่ต้องออกไปทำอาชีพห่างไกลบ้านและครอบครัว พระราชดำริที่ทรงให้ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ จึงเสมือนการปลูกชีวิตของผู้คนไปในขณะเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มออกซิเจน เสมือนการปลูกอากาศที่ทุกคนได้สูดลมหายใจเข้าไปเพื่อต่อชีวิต
ปัจจุบันโครงการป่ารักน้ำในพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ได้แก่ โครงการป่ารักน้ำ บ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว โครงการป่ารักน้ำ บ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน โครงการป่ารักน้ำ บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ โครงการป่ารักน้ำ บ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง โครงการป่ารักน้ำ บ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร


ด้วยพระราโชบายของพระองค์ท่านที่ทรงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ผืนป่า ทำให้เหล่าพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่น้อมนำพระราชปณิธานมาสานต่อ โดยการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีการจัดพื้นที่แสดงพันธุ์ไม้นานาชนิดโดยขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้พระนามของพระองค์ท่านเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ฯ อาทิ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาพรรณไม้ป่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และยังมีอีกหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการพื้นที่ป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริดังกล่าว สมดั่งพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


