
ส.ก.บางกอกน้อย ตั้งกระทู้สดถามผู้ว่าฯ กทม. เหตุดึงเช็งจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำดอกเบี้ยบานเบอะ วันละกว่า 5.4 ล้าน ด้าน ชช.-ชัชชาติ อ้าง จำเป็นต้องพิจารณารอบคอบ ร่อนหนังสือสอบถามไปทั่ว ทั้ง ป.ป.ช. - สำนักงานอัยการสูงสุด สุดท้ายยังไม่รู้ตัวเองมีอำนาจจ่ายหรือไม่?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.68 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) สมัยประชุมสามัญ (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2568 นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สภา กทม. ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง การดำเนินการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ ตามรายงานการศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่พิจารณาเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม 2569 มีการรายงานผลให้สภา กทม. ทราบเมื่อวันที่ 9 เมษายน แต่ไม่ทราบว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทราบหรือไม่และมีการดำเนินการอย่างไรบ้างแล้ว

นายนภาพล กล่าวว่า หนี้ค่าเดินรถและซ่อมบำรุงของส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ถึงกำหนดชำระมานานแล้ว และต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 5,400,000 บาท ขณะนี้มี 3 ส่วนที่ต้องชำระ คือ ส่วนแรก หนี้ที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องศาลอยู่ขณะนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 - ตุลาคม 2565 รวม 12,245 ล้านบาท และช่วงหลังฟ้องที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ กทม. ยังไม่ได้ชำระ ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 – ธันวาคม 2566 เงินต้นรวมดอกเบี้ยกว่า 15,499 ล้านบาท ถึงตอนนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้ดำเนินการไปถึงไหน อย่างไรแล้ว
“นับจากที่คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหารถไฟฟ้ารายงานผล จนถึงวันนี้ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้ว รวม 21 วัน มีหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 5.4 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยตอนนี้ 113.4 ล้านบาท และจากวันนี้ผ่านไปอีกวันละ 5 ล้านบาท ท่านจะทำอย่างไร”

#กทม. ยันเหตุที่ต้องดึงเช็ง
ด้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า ยอมรับเป็นเรื่องหนักใจเพราะเป็นเงินจำนวนมาก ที่ผ่านมา กทม. จ่ายให้ BTSC ไปแล้วประมาณ 31,700 ล้านบาท และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง เช่น เรื่องค้างที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสัญญาส่วนที่ 2 ที่สภา กทม. ยังไม่ได้พิจารณาเนื่องจากมีความละเอียดอ่อน ส่วนรายงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ นั้น รับทราบแล้ว

นายชัชชาติ ยืนยันว่า เรื่องหนี้ค้างสายสีเขียวนั้น มีการคุยกันตลอด แต่การจะเอาเงินของประชาชนไปจ่าย สภา กทม. ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากไม่รอบคอบ ไม่มีรายละเอียดชัดเจน เชื่อว่าเสนอเข้าสภา กทม. พิจารณาก็ไม่มีทางอนุมัติให้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เกิดในสมัยเราเป็นคนเริ่มต้น ไม่ใช่จบแค่นี้ หากไม่รอบคอบในอนาคตอีก 10 ปี เรื่องนี้อาจกลับมาหาทุกคนได้
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ฝ่ายบริหารมีการเจรจาต่อรองขอลดเงินต้นและดอกเบี้ย และเร่งรัดการชำระหนี้ตามกฎหมาย โดยชำระหนี้บางส่วนไปแล้ว 37,000 ล้านบาท ตามคำสั่งศาลในคดีที่ 1
ส่วนที่ยังไม่ได้จ่ายในคดีที่ 2 ประมาณ 12,000 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถที่ยังไม่ได้ฟ้อง 17,000 ล้านบาท และในปี 2568 อีกประมาณ 8,700 ล้านบาท
ส่วนเรื่องที่ค้างในคดีที่ 6 เป็นค่าเดินรถและซ่อมบำรุงปี 2568 อยู่ระหว่างการเจรจา เนื่องจากติดที่สัญญายังไม่ผ่านสภา จึงต้องต่อรองร่วมกันก่อน

"กทม. ได้ตั้งกรรมการเจรจากับ BTSC โดยขอปรับลดเงินต้น จากกรณีที่มีคอขวดบริเวณสะพานตากสิน และขอปรับลดดอกเบี้ย แต่ทาง BTSC ยังไม่ได้ตอบรับ และยังมีการเจรจาเพิ่มในประเด็นค่าจ้างเดินรถปี 2568 จนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 2572”
นอกจากนี้ กทม. ยังมีหนังสือถามไปยัง ป.ป.ช. ว่า สามารถจ่ายค่าจ้างเดินรถในคดีที่ 2 ได้หรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา จะมีการถามไปอีกครั้งในเร็วๆ นี้ รวมถึงถามสำนักงานอัยการสูงสุดไป 2 กรณี คือ การชำระค่าจ้างระหว่างคดีที่ 2 ที่ยังไม่มีคำพิพากษาลงมา และกรณีหลังการฟ้องจนถึงปัจจุบันจ่ายได้หรือไม่ ซึ่ง กทม.เพิ่งได้รับคำตอบมาเมื่อวานนี้ (29 เมษายน 2568) ว่า กรณีที่ 1 ไม่อาจให้ความเห็นได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนกรณีที่ 2 ให้ กทม. พิจารณาตามอำนาจหน้าที่