
สรุปเวทีเสวนา ทุนผูกขาดกับการแทรกแซงองค์กรของรัฐ กรณี กสทช. ย้ำชัดมีการเดินเกมระหว่างกลุ่มทุน นักการเมือง และ จนท.รัฐใน กสทช. เอง เพื่อหวังเขี่ย “พิรงรอง” พ้นทาง เลขา ครป. ชี้นายกฯ ถ่วงผลสอบในมือส่อเป็นความผิดอาญาและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รู้ทั้งรู้ประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ ยังปล่อยให้ทำหน้าที่โดยไม่มีกฎหมายรองรับ

นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และรักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวสรุปประเด็นการอภิปรายในเวที “ทุนผูกขาดกับการแทรกแซงองค์กรภาครัฐ : ชำแหละ กสทช. และข้อเสนอจากภาคประชาชน” ว่า 1. กรณีคดี ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น ในคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ที่มี 25 หน้า พบว่า มี 12 หน้าเป็นการบรรยายฟ้องของโจทก์ และมีคำวินิจฉัยของศาลอีก 12 หน้าโดยปรากฏข้อความที่ตรงกันรวม 3 หน้า และมีการกล่าวถึงคำให้การต่อสู้ของจำเลยเพียง 1 ย่อหน้าเท่านั้น

มีคำถามสำคัญหลายเรื่องที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิจารณา โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่าการออกหนังสือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. โดยคณะอนุกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เมื่อคณะอนุกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่แล้วจะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบได้อย่างไร และเหตุใดศาลจึงมีดุลพินิจว่า จำเลยเป็นผู้สั่งการ ทั้งที่พยานทั้งฝั่งโจทก์และฝั่งจำเลยให้การสอดคล้องกันว่า จำเลยมิได้สั่งการ คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีความโน้มเอียงทางการเมือง (Politicize)และทางการทุนหรือการรุกคืบเพื่อยึดอำนาจรัฐ (State Capture)

2. ประเด็นจึงนำมาสู่เรื่องทุนผูกขาดแทรกแซงองค์กรภาครัฐ และเกิดปรากฏการณ์ฟ้องปิดปากประชาชนขึ้น (SLAPP law) ด้วยเหตุที่การทำงานของประธาน กสทช. และคณะบางส่วนในคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ถูกครหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่โปร่งใสในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาการควบรวมกิจการของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ด้านโทรคมนาคม การอนุมัติงบประมาณให้กลุ่มทุนใช้เงินภาครัฐแสวงหาผลประโยชน์
การขัดมติบอร์ดยกเลิกหนังสือตอบกฤษฎีกา ตีความเรื่องคุณสมบัติ การแต่งตั้งรักษาการเลขาธิการ โดยไม่ใช้มติบอร์ดทั้งคณะ การพยายามรวบอำนาจของประธานและต่อสัญญาเจ้าหน้าที่โดยมิชอบ
การฟ้องคดีกรรมการ กสทช. ในลักษณะนี้จึงเข้าข่ายการฟ้องปิดปาก (SLAPP Law) ที่ไม่ได้หวังผลแพ้ชนะทางคดี แต่หวังผลข้างเคียงจากการดำเนินคดีเพื่อต้องการให้มีการสั่งให้ กสทช. บางคน ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำมาสู่การครอบงำเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม กสทช. ที่จะกรุยทางไปสู่การพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่ยังประโยชน์แก่กลุมตน
3. ประเด็นประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติ เมื่อคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา วินิจฉัยเป็นที่สิ้นสุดถึงผลการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ในวันที่ 28 พ.ค. 2567 ขณะที่รายงานการประชุมวิสามัญคณะกรรมาธิการวุฒิสภาในวันที่ 5 ก.ค. 2567 ที่ประชุมก็มีมติรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว ส่งผลให้ผลการวินิจฉัยข้อเท็จจริง กระบวนการ และรายงานสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมสามารถพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่ต้องรอการดำเนินการของวุฒิสภาหรือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. 2567 เป็นต้นมา ประธาน กสทช. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที และต้องมีการตรวจสอบว่าการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่ประธาน กสทช.ดำเนินการไปหลังวันที่ 5 ก.ค. เป็นโมฆะด้วยหรือไม่ เพราะในข้อเท็จจริงปรากฎว่าประธาน กสทช. ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด
"คำถามคือ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการอย่างไรกับประเด็นการขาดคุณสมบัติของประธาน กสทช. ดังกล่าว หรือปล่อยให้มีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อไป ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 20 หรือไม่ กับประเด็นการขาดคุณสมบัติดังกล่าว"

4. ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี ในมาตรา 20 พ.ร.บ.กสทช. ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานส่งกองนิติการ สำนักงานองคมนตรี แต่การที่รองนายกฯ ได้ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านที่หยิบยกเรื่องดังกล่าวสอบถามในที่ประชุมสภาฯ โดยระบุว่า นายกฯ ทราบเรื่องแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จ เท่ากับว่าปล่อยให้ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยไม่มีกฎหมายใดรองรับ นายกฯ จึงมีความผิดสำเร็จแล้ว การปล่อยให้ประธาน กสทช. ปฏิบัติหน้าที่อยู่โดยไม่ทำอะไร จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิด ปกปิดและอาจก้าวล่วงพระราชอำนาจ
"ครป. เคยยื่นหนังสือติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2567 ถึงเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ยื่นรายงานการตรวจสอบของวุฒิสภาถึงสำนักงานองคมนตรี เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 และยื่นนายกรัฐมนตรีซ้ำ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567 ขอให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการตามมาตรา 20 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ แต่จนถึงปัจจุบัน นายกรัฐมนตรียังไม่ดำเนินการใด ๆ โดยปล่อยให้ประธาน กสทช. ยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมากว่า 8 เดือน เรื่องนี้ถ้ามีการร้อง ป.ป.ช. นายกรัฐมนตรีอาจหลุดจากตำแหน่งได้เลย"

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เหตุที่ทุนผูกขาดและการเมืองจึงมีความพยายามถ่วงเวลาเรื่องนี้ เพราะหากประธาน กสทช. ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก เป็นเสมือนไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กสทช. มาก่อน จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ประธาน กสทช. ดำเนินการไว้ในช่วงที่ผ่านมาจะกลายเป็นโมฆะทั้งหมดใช่หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการอนุมัติการควบรวมกิจการสื่อสารครั้งประวัติศาสตร์ของ 2 ค่ายยักษ์ เมื่อเดือน มี.ค. 2566 ก็ต้องโมฆะลงไปด้วย เพราะขณะนั้นเสียงที่ออกมาก้ำกึ่งกัน 2:2 โดย กสทช. 2 คน คัดค้านการควบรวม อีก 2 คน เห็นด้วยแต่เลี่ยงไปใช้คำว่ารับทราบรายงานการควบรวมแทน ทำให้ประธาน กสทช. ต้องออกเสียงดับเบิ้ลโหวตไป 2 ครั้ง จึงถือว่าชนะไป
"แต่หากประธาน กสทช. ต้องพ้นจากตำแหน่งไป เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก ย่อมกระทบไปถึงผลโหวตควบรวมกิจการ ในครั้งนั้นด้วย นี่ต่างหากคือเหตุผลที่ทำให้กลุ่มทุนผูกขาด ทุนการเมือง พยายามถ่วงเวลาให้ประธานยังคงทำหน้าที่ต่อไปเพื่อจะได้รวมหัวกันช่วงชิงทรัพยากรของชาติไปอยู่ในมือของกลุ่มตน"

น.ส.รสนา ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า อยากแนะนำฝ่ายค้านว่าท่านสามารถจะหยิบยกเรื่องคุณสมบัติของประธาน กสทช. ที่มีหลักฐานชัดเจนว่า ขาดคุณสมบัติไปแล้วตั้งแต่แรก แต่ทุนผูกขาดที่ร่วมกับนักการเมืองยังคงพยายามถ่วงเวลา ไม่ยอมดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อผลประโยชน์ร่วมในการจิ้มก้องเอาทรัพยากรของรัฐไปให้กลุ่มตนได้ต่อไป เรื่องนี้ฝ่ายค้านสามารถดำเนินการได้ แต่ไม่รู้ว้าจะมีความสามารถทำได้แค่ไหน?